'จตุพร' ถก 'สุริยะใส' ร่วมชี้!! 3 สัญญาณอันตรายเลือกตั้ง วิเคราะห์ 'ทักษิณ' ยิ่งรุก!! ยิ่งขันเกลียวภาพปี 62 ให้แน่นขึ้น

(16 เม.ย.66) จากรายการ ‘ถลกข่าว ถลกคน’ รายการเกาะติดเจาะลึกการเลือกตั้ง 2566 โดยสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES ร่วมกับ TV Direct ช่อง 76 (จานดาวเทียม PSI) ใน EP แรก ได้เชิญ 2 นักวิเคราะห์วิจารณ์ ผู้มองสถานการณ์การเมืองไทยแบบเกาะติด มาร่วมฉายฉากทัศน์การเลือกตั้ง 66 ได้อย่างน่าสนใจ 

ท่านแรกเป็นนักต่อสู้นักเคลื่อนไหว เคยเป็น ส.ส 2 สมัย พรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2550 และพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2554 เป็นอดีตประธาน นปช. ทุกวันนี้ยังออกรายการทีวี คือ 'คุณจตุพร พรหมพันธ์' ส่วนอีกท่านหนึ่งเคยเป็นผู้ประสานงานคนดังของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้เข้าสู่โหมดวิชาการอย่างเต็มรูปแบบ เป็นคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 'รศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา' ดำเนินรายการโดย นายสำราญ รอดเพชร สื่อมวลชนอาวุโส

>> 3 สัญญาณอันตรายเลือกตั้ง 66
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจใน 'ถลกข่าว ถลกคน' EP แรกนี้ รศ.ดร.สุริยะใส ได้เปิดประเด็นด้วยการขีดเส้นใต้ให้เห็นถึงความของการเลือกตั้งหนนี้ กับครั้งก่อนหน้า โดย รศ.ดร.สุริยะใส เผยว่า...

"ผมขอขีดเส้นใต้ไปที่สัญญาณอันตราย 3 เรื่อง...
1) ใช้เงินเท่าไร ทุจริตเท่านั้น : การเลือกตั้ง 66 จะเป็นการเลือกตั้งที่ใช้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และก็จะเป็นการเลือกตั้งที่มีการทุจริตมากอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย...เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมเพิ่งจะคุยกับหัวคะแนน...สมัยก่อนเวลาจ่ายเงินซื้อเสียงเนี่ย ล็อกเป้าหวังผล จ่ายแสนต้องได้ 3,000 / 4,000 คะแนน เรียกว่าล็อกเป้าได้ แต่เดี๋ยวนี้จ่าย 500,000 ได้ 2,000 ก็เอาแล้ว  เพราะมันล็อกเป้าไม่ได้!! เพราะทุกพรรคจ่ายกัน แล้วจ่ายเยอะด้วย ฉะนั้นชาวบ้านก็รับทุกทาง ก็เป็นโอกาสของชาวบ้านว่าไป แต่ว่าเรานึกถึงตอนเขาถอนทุนสิ เขาต้องถอนทุนหนักกว่าเดิมแน่

"2) หาเสียงในวังวนเดิม : มีหลายเรื่องที่ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเดิมพันประเทศไทย แต่ปรากฏว่าวาระของประเทศกลับไม่ถูกพูดถึงหลายเรื่องเลย...เอาง่ายๆ ตอนนี้เราอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ อันนี้พูดแบบวิชาการหน่อย แต่ว่าการเลือกตั้งรอบนี้ยังมาเถียงกันเรื่อง 600 / 400 / 700 / 300 / 3 พัน / 2 พัน เราถึงมักถูกบีบให้เลือกจีนหรือเลือกอเมริกา...คำถามคือ แล้วต่อไปไทยอยู่ตรงไหนของระเบียบโลกใหม่ เรื่องนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนตอบเลย และน่าห่วงมาก คือ พอไปถามพรรคพวกที่อยู่ในแวดวงทุกพรรค ก็บอกว่าเลือกประเด็นแบบนั้นมาเสนอ มันหาเสียงไม่ได้ ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง นี่คือเรื่องที่น่าห่วง 

"3) กลืนกินเงินอนาคต : ประชานิยมรอบนี้น่ากลัวมาก กินไปถึงเงินคงคลัง กินไปถึงเงินทุนสำรอง คำถามคือแล้วความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ซึ่งเข้าไปผูกมัดตัวเองกับเรื่องที่มาของเงินล่ะ จะเอายังไง แน่นอนว่านาทีนี้ใครลงเลือกตั้งก็อยากชนะ แต่มันสมควรหรือไม่? แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งทำอะไรอยู่ ทำไมต้องรอคนไปร้อง มันเรียกแจงได้แต่ละพรรคได้แล้ว"

รศ.ดร.สุริยะใส กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ถ้าหากพรรคการเมืองทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ เท่ากับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่จะกินไปถึงเงินคงคลังที่ว่า 1.โกง 2.วาระของประเทศน้อยไป ไม่ถูกพูดถึง 3.เรื่องประชานิยม"

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ด้านคุณจตุพร ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า "อย่างที่คุณสุริยะใสบอกกล่าว การเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้เงินที่มาก เพราะท่ามกลางห้วงเวลาที่ประชาชนมีความยากลำบากเนี่ย เงินก็จะมีผล ไม่ว่าเงินโดยระบบการซื้อเสียง เงินโดยผ่านนโยบาย ซึ่งจะมีการคิดสารพัดพลิกแพลงที่จะแจกกัน ไม่ว่าเงินดิจิทัล 10,000, บัตรคนจน 1,000, บัตรพลังประชารัฐ 700, บำนาญประชาชน 3,000 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทุกอย่างเป็นเรื่องการแจกทั้งสิ้น 

"แต่ในมุมผม บางนโยบาย เช่น การนำแนวคิดด้านดิจิทัลมาขายนั้น อาจเป็นการคิดการขายที่เร็วเกินไป ทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็จริงอย่างที่คุณสุริยะใสบอก ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรที่จะตัดสินว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่ารอการชี้แจงจากผู้ร้อง และก็เป็นการชี้แจงเพียงแค่ว่าจะหาเงินมาจากไหน ขณะเดียวกันวันนี้ทุกคนต่างก็พูดพื้นฐานในเรื่องนโยบายเหมือนๆ กันว่า จะเก็บภาษีเพิ่ม ตัดงบประมาณที่ไม่เป็นจำออกไป แต่ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องวินัยทางการคลังหรือว่ากฎหมาย หรือผลประโยชน์ทับซ้อนอื่นใดๆ เลย"

>> ฉากทัศน์การเมืองเดิม
เมื่อภาพของการหาเสียงไม่ต่าง การเปลี่ยนแปลงในเชิงฉากทัศน์เพื่อปากท้องไม่เปลี่ยน โอกาสที่ฉากทัศน์ทางการเมืองจะวนเวียนเหมือนเดิม จึงไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งประเด็นนี้คุณจตุพร มองว่า "โอกาสสวิงขั้วอำนาจของ 2 ซีกการเมืองเดิมนั้น คงจะเป็นไปได้น้อยมาก หรือก็คือ ซีกรัฐบาลเดิม ที่ถูกจำกัดความเรียกว่า 'อนุรักษ์นิยม' กับอีกซีกหนึ่งที่เรียกว่าพวก 'เสรีนิยม' นั้น จะปรากฏภาพของคะแนนในแต่ละภาคฝั่งที่มันจะถูกหารกันออกมาคล้ายๆ เดิม โดยในซีกรัฐบาลเดิม ไม่ว่าจะรวมไทยสร้างชาติ, พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย ก็คงหมุนวนอยู่ตรงนั้น อีกซีกนึง เพื่อไทย, ก้าวไกล, ไทยสร้างไทย, เสรีรวมไทย, ประชาชาติ ก็จะอยู่ในวนนี้ โอกาสที่จะสวิงข้างยากลำบาก 

"ฉะนั้น เมื่อฉากทัศน์ในแง่ของขั้วการเมืองไม่ต่าง จึงสังเกตได้ว่า ตอนนี้รูปแบบการหาเสียงเลือกตั้งเลยดูจะเน้นไปในทางสร้างความแตกแยกก่อน เพื่อจะแย่งเอาคะแนนไปให้ฝ่ายตนได้มากสุด

"ยกตัวอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ลุงป้อม ก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่เดินไปเดินมาชักจะเป็นปัญหา เพราะมีการปรากฏตัวของนายทักษิณ รวมถึงการขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกลที่เข้มข้น แต่ขณะเดียวกันเมื่อทักษิณผลุบ ซีกฝั่งของพลเอกประยุทธ์อยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาดื้อๆ เพราะการปรากฏตัวของทักษิณโดยเฉพาะยิ่งพูดถึงเรื่องการกลับบ้านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างความแข็งแรงให้พลเอกประยุทธ์มากเท่านั้น 

"หรือแม้แต่วันก่อนกับ พรรคที่ขอก้าวข้ามความขัดแย้ง  รองหัวหน้าพรรคไพบูลย์ นิติตะวัน ออกมาสัมภาษณ์ว่าจะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่เคยประกาศว่าจะจับมือกับพรรคก้าวไกล มีเพียงก้าวไกลประกาศจับมือกับพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทยก็ประกาศไม่จับมือกับพรรคก้าวไกล ทั้งหมดเนี่ยก็คือ การละเลงทางการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่า คะแนนเดิมมันปริ่มน้ำทั้ง 2 ฝ่าย เหมือนตอนยุบไทยรักษาชาติแล้วคะแนนมางอกที่อนาคตใหม่ยังไงยังงั้น เพราะฉะนั้นบริบทคะแนนมันไม่ได้ต่างกัน จึงต้องมีการกระทำเพื่อนำไปสู่การเทคะแนนเสียงไปมา

"นี่ไม่นับเรื่องการยุบพรรค ซึ่งดูกำหนดเวลาแล้วเนี่ย น่าจะมีการยุบภายหลังการเลือกตั้งในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล ในกรอบ 180 วัน ก่อนพระราชกฤษฎีกาหลังพระราชกฤษฎีกา"

>> ทักษิณขยับ!! ลุงตู่ผงาด!!
เกี่ยวกับประเด็นนี้ รศ.ดร.สุริยะใส ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า "คงยังไม่มีกรณีซ้ำรอยเช่นพรรคไทยรักษาชาติแบบเมื่อปี 2562 ซึ่งตอนนั้นมีการยุบพรรคก่อน แต่หนนี้อาจจะยุบพรรคทีหลัง ส่วนในเรื่องสูตรของรัฐบาล คงเป็นเรื่องที่ต้องคาดการณ์ล่วงหน้ากันไป แต่มันไม่ใช่ตัวแปรที่จะทำให้การเลือกตั้งสะดุด เพียงแต่ว่าสูตรที่วางกันในขณะนี้มันกลับไปสูตรเดิม นั่นก็คือทันทีที่คุณทักษิณขยับ คะแนนแกจะหยุด แล้วเรตติงบิ๊กตู่ดันขึ้นมา"

"กลายเป็นว่าเป็นคนเดียวที่จะหยุดนายกทักษิณได้ คือ พลเอกประยุทธ์" คุณจตุพรสำทับ 

ขณะที่ รศ.ดร.สุริยะใส กล่าวต่อว่า "จากเดิมคะแนนแกไม่มี แล้วคะแนนลุงป้อมก็ร่วงด้วย อันนี้ดูจากนิด้าโพล แล้วจริงๆ ไม่ต้องโพลอย่างเดียว เราสัมผัสเอง เรายังรู้สึกเลยว่าคะแนนลุงตู่เริ่มกลับมาหมด เพราะแรงขยับของคุณทักษิณมันทำให้กระดานการเมือง ซึ่งควรจะเปลี่ยนไปแล้ว กลับไปฉากทัศน์เดิม คือ 'ไม่เอาลุงตู่ก็เอาทักษิณ' การเลือกตั้งโค้งนี้จึงเหมือนจะกลับมาแค่ 2 สูตรนี้ แล้ววันนี้มันก็ยิ่งชัดขึ้นด้วย

"ฉะนั้นคำถามคือ แล้วพรรคแวดล้อมซึ่งเป็นแถว 2 แถว 3 ของแต่ละปีกซีกการเมือง จะบริหารจัดการตัวเองอย่างไร อันนี้เรื่องใหญ่ ซึ่งส่วนตัวผมยังคิดว่าสุดท้ายเนี่ย การเมืองหลังเลือกตั้งก็จะเป็นการเมืองกระดานเดิม ไม่ได้ไปสู่การปรองดอง ไม่ได้ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ได้ดีขึ้น เป็นกระดานเดิมแบบปี 62 ลองดูได้ว่ามีนโยบายไหนที่ต่างจากเดิม มันไม่เห็น และก็ปัญหาคือลงทุนหนักกว่าเดิม แพ้ไม่ได้ มันขันเกลียวปี 62 ให้แน่นขึ้นเท่านั้นในทัศนะผม และก็ไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวทีให้กับพรรคที่ 3 พรรคกลางๆ ไม่มีเวที คุณสมคิดพยายามทำ คุณหญิงหน่อยพยายามทำ มันก็ไปได้แต่มันก็เพดานระดับหนึ่ง มันไม่ทะลุ"

ท้ายสุดในมุมของ คุณจตุพร และ รศ.ดร.สุริยะใส จึงได้สรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า "หากคุณทักษิณนิ่งกว่านี้แล้วปล่อย ไม่ส่งสัญญาณเด่นชัด เช่น การส่งน้องอิ๊งค์มา แต่เลือกส่งคนอื่นมาเดินเกมแทนกระแสต้านมันจะเบากว่านี้ นี่เป็นโจทย์ ที่แม้กระทั่งคนในพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มีคนที่เขาหวงบ้านหวงเมือง เขาก็ยังไม่สบายใจ 

"นอกจากนี้ คำถามตัวใหญ่ ต่อให้น้องอิ๊งค์เป็นนายกฯ แล้ว เพื่อไทย จะเอาอยู่ไหมกับสถานการณ์บ้านเมือง เพราะคุณทักษิณรุกหนักเหลือเกิน ซึ่งโอเคมองในหมากชะตาชีวิตแก ก็จะมองว่าเป็นวัยที่ต้องเดิมพัน ไม่กลับปีนี้จะกลับปีไหนสมมตินะ บิ๊กป้อมก็ต้องเดิมพันละ บิ๊กตู่ก็ต้องเดิมพันละ ลงจากหลังเสือยังไง"

บทลงเอย จากสถานการณ์ที่จะดูซับซ้อน ในช่วงยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง คุณทักษิณ ดูจะเป็นคนที่นำฉากทัศน์เดิมๆ หวนคืน จนไม่ซับซ้อนอีกแล้ว ทั้ง 2 ท่านทิ้งท้าย