ส่องนโยบายพรรคลุงตู่ กับ ‘สวัสดิการผู้สูงอายุ’ ฐานเสียงสำคัญที่ตัดสินเลือกตั้ง 66

ประเทศไทยกำลังจะมี ส.ว.เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภา แต่เรากำลังพูดถึง ‘ผู้สูงวัย’ ซึ่งถ้าดูจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุในไทย เมื่อสิ้นปี 2565 มีประมาณ 12.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน หมายความว่าวันนี้ ประเทศไทยเรามีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 หรือ 20% ของคนทั้งประเทศ และจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าวัดตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ ถือว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเชิงระบบสำหรับรองรับสังคมที่จะมี ‘ผู้สูงอายุ’ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น และไม่แปลกเลย ที่นโยบายหาเสียงในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะมีนโยบายเอาใจผู้สูงวัยเป็นหนึ่งในจุดขายของแทบทุกพรรคการเมือง 

หากมองย้อนไปถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงวัยของรัฐบาล ‘พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา’ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการจัดสวัสดิการ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ที่ปัจจุบันจ่ายแบบขั้นบันได โดยในช่วงอายุ 60-69 ปี รับ 600 บาทต่อเดือน  และเพิ่มเป็นเดือนละ 700 บาท เมื่ออายุ 70-79 ปี  และ 800 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 80-89 ปี  ขณะที่กลุ่มอายุ 90 ปีขึ้นไปจะได้รับเดือนละ 1,000 บาท 

ขณะเดียวกัน ในมิติของระบบบริการสุขภาพ ก็มีมาตรการดูแลครบวงจรตั้งแต่การคัดกรอง ภาวะโภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกาย และสุขภาพช่องปาก รวมถึงระบบการชะลอความเสื่อม โดยจัดให้มีแพทย์ในระบบปฐมภูมิ ดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่ที่บ้าน และการดูแลการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยมีการจัดทำระบบดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว มีการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ครอบคลุมผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงกว่า 500,000 คน

นอกจากนั้นแล้ว หลายกระทรวงยังดำเนินโครงการร่วมกัน ในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุทั้งในด้านความรู้ ทักษะการประกอบอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิต และสร้างรายได้เพิ่มเติมในวัยเกษียณ
.

กลับมาที่การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง เราลองมาดูนโยบายแต่ละพรรคการเมือง ที่ต่างชูประเด็นหาเสียงด้วยการ เพิ่มสิทธิ สวัสดิการมากมาย หวังดึงคะแนนที่มีมากกว่า 12 ล้านเสียงจากกลุ่มผู้สูงวัย 

เริ่มจาก ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ของ ‘ลุงตู่’  ที่ประกาศ ‘ทำต่อ’ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกช่วงอายุ และยังมีนโยบายสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุชุมชน และลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ

ขณะที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ดูแลกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุ ให้ใช้บริการโรงพยาบาลใกล้บ้าน ลดเวลารอพบแพทย์ และปรับปรุงการบริการให้ทันสมัย ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว 

ขยับมาที่ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ผลักดันนโยบายการออมเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ พร้อมขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อเติมเงินออมเลี้ยงดูตัวเอง รวมถึงจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน หนุนสุขภาวะและส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ

ส่วน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ของ ‘ลุงป้อม’ จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ โดยอายุ 60 ปีขึ้นไปรับเบี้ย 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 5,000 บาทต่อเดือน และขยายอายุเกษียณเป็น 63 ปี พร้อมสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อผู้สูงอายุ สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ผู้สูงอายุ และทำอาคารรองรับผู้สูงอายุ

ขณะที่ ‘พรรคก้าวไกล’ นำเสนอนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570  สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง สมทบเงินเข้ากองทุนดูแลผู้สูงอายุ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงโดยมีการจ้างผู้ดูแลเฉลี่ย 1 คน ต่อผู้ป่วย 2 คน

ด้าน ‘พรรคภูมิใจไทย’ เสนอนโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปี ขึ้นไปรับสิทธิอัตโนมัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีเสียชีวิตได้เงิน 1 แสนบาท เป็นมรดกให้ลูกหลาน และขณะมีชีวิตสามารถกู้เงินพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อยอดการลงทุนไม่ต้องมีคนค้ำ 

ปิดท้ายด้วย ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ชูนโยบายเพิ่มเบี้ยคนชรา 3,000 บาทต่อเดือน โดยเฟสแรกช่วยเหลือเฉพาะคนมีรายได้ไม่เพียงพอ และนำเสนอบำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาท มีเป้าหมาย 5 ล้านคน ให้คนเข้าสู่ระบบการออมภาคสมัครใจและภาคบังคับ เพื่อสร้างระบบบำนาญประชาชนในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม ก็มีการตั้งข้อห่วงใยจากบรรดานักวิชาการ ถึงนโยบายด้านการ ‘สงเคราะห์’ ผ่านการจ่ายเบี้ยยังชีพที่แต่ละพรรคมีตัวเลขการจ่ายเพิ่มมากขึ้นนั้น จะนำงบประมาณใช้จ่ายจากส่วนไหน และจะกลายเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังในระยะยาวหรือไม่ จึงมีข้อเสนอนโยบายที่มีระบบการคลังเป็นแบบร่วมจ่าย เพื่อความยั่งยืน และควรคำนึงถึงนโยบายที่ช่วยหนุนเสริมศักยภาพทักษะให้ผู้สูงวัยสามารถลดการพึ่งพิงครอบครัวได้ ซึ่งสุดท้ายก็คงอยู่ที่มือคนเลือก ว่าจะหยิบเอานโยบายของใคร และต้องตามดูกันต่อว่าพรรคที่ถูกเลือกเข้าไปทำงานแล้ว จะทำได้ตามนโยบายที่ขายฝันไว้หรือไม่