‘ยูเครน’ หาญกล้า เตรียมบุกยึด ‘ไครเมีย’ จากรัสเซีย ด้านหมีขาวไม่หวั่น แอบซุ่มสร้างปราการแน่นหนา

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งปัจจุบันถูกผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย พบว่ามีการขุดร่อง และก่อสร้างป้อมปราการในบริเวณยุทธศาสตร์ของเมือง เชื่อว่าเร่งสร้างเพื่อป้องกันเมืองจากการโจมตีทางทหารของกองทัพยูเครน



โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ป้อมปราการที่สร้างไว้ จะทำให้ฝ่ายยูเครนตีเมืองไครเมียยากขึ้นกว่าเดิมมาก และหากต้องมีการสู้รบกันจริงๆ ก็จะนองเลือดอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับสมรภูมิเมืองบัคมุต

รัสเซียได้ผนวกดินแดนในคาบสมุทรไครเมียจากผลประชามติเมื่อปี 2014 ก่อนที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบในยูเครนในปี 2022 ซึ่งจนถึงปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย 

แต่เมื่อช่วงปลายปี 2022 ทั้งโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน และ วาลารี ซาลาซนี ผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ได้ออกมาประกาศผ่านสื่อว่า ไครเมียเปรียบเสมือนเขี้ยวเล็บหลักของกองทัพรัสเซียทางตอนใต้ เป็นที่ส่งอาวุธ และ เสบียงต่อไปยังกองทัพรัสเซียที่กระจายพื้นที่อยู่ในยูเครน ดังนั้น ยูเครนจำเป็นต้องบุกยึดคาบสมุทรไครเมียคืนมาให้ได้ และมั่นใจว่าจะสามารถเริ่มแผนปฏิบัติการทวงคืนไครเมียได้ในปี 2023 

และเมื่อสำนักข่าว Aljazeera ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเหนือคาบสมุทรยูเครน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ของปีนี้ ก็พบว่ามีการปรับผังเมืองในไครเมีย วางแนว กั้นเขต สร้างป้อมปราการรอบชายแดนยูเครน คาดว่าใช้เพื่อตั้งรับการบุกของกองทัพยูเครนอย่างเต็มที่

และล่าสุด จากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 1 เมษายน ก็พบว่ามีการเพิ่มแนวกั้นทางทะเลตลอดชายฝั่งด้านทะเลดำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือของกองทัพรัสเซีย และท่าเรือเซวาสโตโพ ที่มีความสำคัญทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ และ เศรษฐกิจ 



อีกทั้ง ยังพบว่ามีการรับสมัครแรงงานในการก่อสร้างป้อมปราการต่างในไครเมียอย่างเร่งด่วนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ก็เลยทำให้แนวก่อสร้างที่เห็นในภาพถ่ายยังไม่มีจุดใดเลยที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ 100% 

เซ็ด เฟนทราช นักวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์และความมั่นคง ได้แสดงความเห็นว่า กองทัพรัสเซียพยายามหาข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศ และ ชุมชนที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างแนวป้องกันตลอดถนนสายหลักที่มุ่งหน้าสู่ศูนย์กลางของไครเมีย และเมื่อใดก็ตามที่รัสเซียขอเป็นฝ่ายตั้งรับ จะเหนียวแน่นมาก ยากที่จะหักยึดได้โดยง่าย ดั่งเช่นที่กองทัพยูเครนเคยลิ้มรสมาแล้วในพื้นที่ บัคมุท โดเนสก์ และ ลูฮันส์ค 

หากแนวกั้น และป้อมปราการในจุดสำคัญสามารถสร้างได้อย่างแล้วเสร็จ การบุกของกองทัพยูเครนยิ่งจะทำได้ยากขึ้น และจะต้องเป็นการสู้รบที่เดือดพล่าน ที่มีการสูญเสียมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แต่ทั้งนี้ ฝ่ายกองทัพยูเครน มีความทะเยอทะยานมากขึ้น ที่จะยกระดับการต่อสู้ โดยเฉพาะในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ไครเมีย มีการวางแผนที่จะทำลายคลังยุทโธปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เมืองนี้ในช่วงฤดูร้อนปี 2023 เป็นต้นไป บวกกับคำมั่นสัญญาของชาติพันธมิตรตะวันตก และสหรัฐอเมริกาที่จะให้การสนับสนุนกองทัพยูเครนอย่างเต็มที่ 

แต่ในอีกด้าน อเล็กซานเดอร์ วินด์มัน อดีตพันโทแห่งกองทัพสหรัฐฯ แย้งว่า การเร่งยกระดับการรบของยูเครนในเวลานี้ มีความเสี่ยงมาก แม้ว่าชาติพันธมิตรตะวันตกจะส่งอาวุธสนับสนุนมาให้ แต่ก็เป็นการทยอยส่ง ที่ไม่ได้มาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน และจำนวนอาวุธที่ได้มีเพียงพอให้ทางยูเครนสามารถ ‘ต่อสู้’ และ ‘ป้องกัน’ ตนเองได้เท่านั้น ไม่ได้มากพอที่จะ ‘เอาชนะ’ สงครามได้ในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับฝ่ายรัสเซียที่สูญเสียทรัพยากรไปมากจากสงครามในยูเครน 

ดังนั้นการยกระดับการสู้รบในช่วงนี้จะได้ผลลัพธ์เพียงความสูญเสีย มากกว่าความได้เปรียบ กองทัพยูเครนอาจประเมินศักยภาพจากการที่สามารถยึดคืนพื้นที่เมืองคาร์คีฟ และเคอร์ชอน คืนมาได้ แต่กับที่ไครเมียนั้นจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายพล มาร์ มิลเลย์ ผู้บังคับบัญชาเสนาธิการร่วมของสหรัฐ ก็มองว่าการผลักดันทหารรัสเซียออกจากไครเมียได้ทั้งหมดนั้น เป็นงานยาก ที่ยากเอามากๆ ในความเห็นของเขาคิดว่ากองทัพยูเครน ควรเน้นไปที่การยึดคืนเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลอาซอฟ และมาริอูโปล ที่อยู่ในฝั่งยูเครนจะดีกว่า และยังสามารถตัดเส้นทางลำเลียงจากสะพานเคิร์ชจากฝั่งไครเมียได้ดีกว่าจะยกทัพไปรบกับรัสเซียถึงไครเมีย 

เพราะไครเมียมีความสำคัญกับรัสเซีย เกินกว่าที่จะปล่อยคืนได้ง่าย แต่สามารถใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจากับกองทัพรัสเซีย เพื่อจบศึกที่บานปลาย เพียงแต่ยูเครนอาจต้องยอมสละพื้นที่ส่วนน้อย เพื่อรักษาส่วนใหญ่ หรือรอจนมีโอกาสที่ดีกว่าตอนนี้จะดีกว่า

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Aljazeera