Monday, 6 May 2024
ไครเมีย

‘ยูเครน’ หาญกล้า เตรียมบุกยึด ‘ไครเมีย’ จากรัสเซีย ด้านหมีขาวไม่หวั่น แอบซุ่มสร้างปราการแน่นหนา

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งปัจจุบันถูกผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย พบว่ามีการขุดร่อง และก่อสร้างป้อมปราการในบริเวณยุทธศาสตร์ของเมือง เชื่อว่าเร่งสร้างเพื่อป้องกันเมืองจากการโจมตีทางทหารของกองทัพยูเครน



โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ป้อมปราการที่สร้างไว้ จะทำให้ฝ่ายยูเครนตีเมืองไครเมียยากขึ้นกว่าเดิมมาก และหากต้องมีการสู้รบกันจริงๆ ก็จะนองเลือดอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับสมรภูมิเมืองบัคมุต

รัสเซียได้ผนวกดินแดนในคาบสมุทรไครเมียจากผลประชามติเมื่อปี 2014 ก่อนที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบในยูเครนในปี 2022 ซึ่งจนถึงปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย 

แต่เมื่อช่วงปลายปี 2022 ทั้งโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน และ วาลารี ซาลาซนี ผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ได้ออกมาประกาศผ่านสื่อว่า ไครเมียเปรียบเสมือนเขี้ยวเล็บหลักของกองทัพรัสเซียทางตอนใต้ เป็นที่ส่งอาวุธ และ เสบียงต่อไปยังกองทัพรัสเซียที่กระจายพื้นที่อยู่ในยูเครน ดังนั้น ยูเครนจำเป็นต้องบุกยึดคาบสมุทรไครเมียคืนมาให้ได้ และมั่นใจว่าจะสามารถเริ่มแผนปฏิบัติการทวงคืนไครเมียได้ในปี 2023 

และเมื่อสำนักข่าว Aljazeera ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเหนือคาบสมุทรยูเครน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ของปีนี้ ก็พบว่ามีการปรับผังเมืองในไครเมีย วางแนว กั้นเขต สร้างป้อมปราการรอบชายแดนยูเครน คาดว่าใช้เพื่อตั้งรับการบุกของกองทัพยูเครนอย่างเต็มที่

และล่าสุด จากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 1 เมษายน ก็พบว่ามีการเพิ่มแนวกั้นทางทะเลตลอดชายฝั่งด้านทะเลดำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือของกองทัพรัสเซีย และท่าเรือเซวาสโตโพ ที่มีความสำคัญทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ และ เศรษฐกิจ 



อีกทั้ง ยังพบว่ามีการรับสมัครแรงงานในการก่อสร้างป้อมปราการต่างในไครเมียอย่างเร่งด่วนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ก็เลยทำให้แนวก่อสร้างที่เห็นในภาพถ่ายยังไม่มีจุดใดเลยที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ 100% 

เซ็ด เฟนทราช นักวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์และความมั่นคง ได้แสดงความเห็นว่า กองทัพรัสเซียพยายามหาข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศ และ ชุมชนที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างแนวป้องกันตลอดถนนสายหลักที่มุ่งหน้าสู่ศูนย์กลางของไครเมีย และเมื่อใดก็ตามที่รัสเซียขอเป็นฝ่ายตั้งรับ จะเหนียวแน่นมาก ยากที่จะหักยึดได้โดยง่าย ดั่งเช่นที่กองทัพยูเครนเคยลิ้มรสมาแล้วในพื้นที่ บัคมุท โดเนสก์ และ ลูฮันส์ค 

หากแนวกั้น และป้อมปราการในจุดสำคัญสามารถสร้างได้อย่างแล้วเสร็จ การบุกของกองทัพยูเครนยิ่งจะทำได้ยากขึ้น และจะต้องเป็นการสู้รบที่เดือดพล่าน ที่มีการสูญเสียมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทางการไครเมียสั่งปิดสะพานฉุกเฉินไม่มีกำหนด หลังเหตุระเบิดสะพาน ทำผู้เสียชีวิต 2 ราย

ยังอยู่ในสถานการณ์สงคราม ที่มีการโจมตี ตอบโต้กันเป็นรายวัน สำหรับฝ่ายรัสเซีย และ ยูเครน ที่ไม่มีใครยอมใคร

ล่าสุดวันนี้มีรายงานเหตุระเบิดที่สะพานไครเมียของรัสเซีย ที่เชื่อมต่อระหว่างคาบสมุทรไครเมีย กับ แคว้นครัสโนดาร์ทางฝั่งรัสเซีย จนทางการไครเมียต้องสั่งปิดสะพานฉุกเฉิน

นายเซอร์เก้ อาคสโยนอฟ ผู้ว่าการไครเมียที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลมอสโควได้ออกมายืนยันผ่าน Telegram ว่าเกิดเหตุระเบิดบริเวณสะพานจริง ที่ตำแหน่งเสาต้นที่ 145 จึงต้องสั่งปิดการจราจรบนสะพานชั่วคราว โดยไม่มีการระบุรายละเอียดชัดเจนถึงสภาพความเสียหายใดๆ

แต่ต่อมาสื่อรัสเซียรายงานเพิ่มเติมว่า เหตุระเบิดที่สะพานไครเมียอาจทำให้ตารางเดินรถไฟต้องเปลี่ยนแปลงฉุกเฉิน อีกทั้งยังรายงานว่า การระเบิดรุนแรงจนได้ยินไกลไปทั่วบริเวณ

ซึ่งล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตบนสะพานไครเมียแล้วถึง 2 ราย โดย นาย ยาเชสลาฟ แกรดคอฟ ผู้ว่าการเมืองเบลโกรอด ทางตอนใต้ของรัสเซีย รายงานว่าเป็นครอบครัวชาวเมืองเบลโกรอด ที่เป็นพ่อ-แม่ เดินทางพร้อมกับลูกสาว แต่พ่อและแม่เสียชีวิต ส่วนลูกสาวได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ด้านกองทัพยูเครนในเมืองโอเดสซา ก็ออกมาโพสต์ภาพความเสียหายของสะพานไครเมียในวันนี้ลงในช่องทาง Telegram แต่ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นฝีมือของกองทัพยูเครนที่เป็นผู้โจมตีสะพานแห่งนี้

สะพานข้ามช่องแคบเคียร์ช หรือ ที่มักนิยมเรียกว่าสะพานไครเมีย เป็นหนึ่งในผลงานก่อสร้างที่ปูติน ภูมิใจ หลังจากที่รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียได้ในปี 2014 ก็เดินหน้าโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อม 2 แผ่นดินระหว่างรัสเซีย และ ไครเมียที่มีความยาวกว่า 18 กิโลเมตร

และปัจจุบัน เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรป เปิดสัญจรทั้งทางรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป รถบรรทุกขนส่ง และ ทางรถไฟ นับเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักเส้นหนึ่งของรัสเซีย และยังส่งเสริมเศรษฐกิจของคาบสมุทรไครเมีย ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวรัสเซีย ที่เดินทางมาตากอากาศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

แต่ด้วยสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้สะพานไครเมียเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการโจมตีของฝ่ายต่อต้านรัสเซียเรื่อยมา เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2022 ที่มีข่าวการโจมตีสะพานด้วยระเบิด โดยทางฝ่ายรัสเซียได้ออกมากล่าวหาว่า รัฐบาลยูเครนอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมที่สะพานแห่งนี้ 

ส่วนการโจมตีครั้งล่าสุดในวันนี้ ช่อง Grey Zone Channel ของรัสเซีย รายงานว่า มีการโจมตีถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่ช่วงตี 3 และได้สร้างความเสียหายแก่ตัวตอม่อสะพาน จนทางการไครเมียต้องประกาศปิดสะพาน ทำให้สภาพจราจรระหว่าง 2 ฝั่ง ติดขัดอย่างมาก

จอร์จ บาร์รอส นักวิชาการจากสถาบันสงครามในกรุงวอชิงตัน ดีซี ให้ความเห็นว่า สะพานไครเมียมีความสำคัญกับรัสเซียมากกว่าแค่เส้นทางคมนาคม หรือขนส่งสินค้า เพราะ เป็นเส้นทางบกทางเดียว ที่รัสเซียใช้ลำเลียงพลหลักหมื่นนาย และเสบียงจากถนนเลียบชายฝั่งทะเลอะซอฟ ข้ามมาไครเมีย เพื่อต่อขึ้นไปยังยูเครน ดังนั้นฝ่ายรัสเซียมีปัญหาแน่นอน ถ้าเกิดสะพานไครเมียแห่งนี้เสียหายจนต้องปิด ไม่ว่าจะเพียงแค่ชั่วคราว หรือถาวรก็ตาม

แม้ในเวลานี้ ความเสียหายบนสะพานไครเมียยังคงคลุมเครือ แต่ทางการไครเมียออกมาแถลงว่า ข้าวของที่จำเป็นบนคาบสมุทรไครเมียยังมีเพียงพอ แต่เตือนให้ชาวไครเมียหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามสะพานในช่วงนี้จนกว่าจะเคลียร์ปัญหาบนสะพานได้ ซึ่งจะช้าหรือเร็ว ยังไม่มีกำหนดชัดเจน

แม้แต่ยักษ์ 10 ตาอย่าง ทศกัณฐ์ ยังมีกล่องดวงใจ ที่ให้ใครแตะต้องไม่ได้ ก็ไม่แปลกใจว่า ผู้นำ 2 ทศวรรษอย่าง วลาดิมีร์ ปูติน จะมีของหวงที่เป็นจุดอ่อนอย่างสะพานไครเมีย หนึ่งในงานภูมิใจของเขา เหมือนกัน เพียงแต่กล่องดวงใจนี้ ขยี้แล้วยักษ์จะตาย หรือ จะร้ายกว่าเดิม เพิ่มเติมคือมหากาพย์ ก็ต้องมาว่ากันต่อไป 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top