ร่วมใจอนุรักษ์ เกร็ดน่ารู้ ‘ก่อเจดีย์ทราย’ ประเพณีร่วม ‘ไทย-เมียนมา’ ร่องรอยมรดกจากอยุธยา ที่ผ่านไป 200 ปีก็ยังมิเลือน

ในช่วงสงกรานต์ หรือ ตะจ่าน ของทุกปี ชาวบ้านในหมู่บ้านสุขะ เมืองมัทดายามัน ภูมิภาคมัณฑะเลย์จะมีประเพณี ‘ก่อพระเจดีย์ทราย’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การก่อเจดีย์ทรายนั้น ไม่มีกระทำกันสำหรับวัดในเมียนมา หากแต่การก่อเจดีย์ทรายของที่นี่ คือ มรดกทางวัฒนธรรมจากสมัยอยุธยาที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศไทยนั้น ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายถือว่าเป็นประเพณีหนึ่ง ที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์

นอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีต ให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

แต่สำหรับการก่อเจดีย์ทรายในเมียนมานั้น มีความเชื่อเรื่องพระเจดีย์ทราย ที่ต่างจากไทย โดยทางเมียนมามีความเชื่อว่าเม็ดทราย เสมือนตัวแทน ผู้สำเร็จพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา จำนวน นับไม่อาจประมาณได้เมื่อก่อกองทรายเสร็จ ก็กราบไหว้บูชา เสมือน พระเจดีย์ ในวัด ทั่วไป จนกว่ากองทราย จะยุบและพังในที่สุดโดยกองทรายที่ยุบและพังไปนั้นทางชาวบ้าน ก็นำไปเทไว้ตามธรรมชาติ หรือเทไว้ที่ริมตลิ่งแม่น้ำเพื่อให้ทรายกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

การก่อพระเจดีย์ทรายฝั่งเมียนมาอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3วัน เพราะต้องมีพิธีสวดอัญเชิญ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ มาสถิตย์อยู่ เสมือนเป็นเจดีย์ทั่วไป ซึ่งในบางชุมชนที่ไม่มีกำลังจะสร้างวัด หรือเจดีย์ เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ ก็จะใช้ก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นมา เพื่อเป็นการเคารพบูชาแทน พระพุทธเจ้า ไว้กราบไหว้ ในชุมชนนั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากประเพณีของฝั่งไทยที่เป็นการขนทรายเข้าวัด เพื่อไปก่อสร้างเจดีย์เท่านั้น

และนี่คือมรดกอีกชิ้นหนึ่งที่ยังคงดำรงไว้ให้ลูกหลานแม้เวลาจะผ่านไปนับ 200 กว่าปีแล้วก็ตาม

เรื่อง: AYA IRRAWADEE