จาก 'โรงงานยาสูบเก่า' พื้นที่กว่า 311 ไร่ สู่โครงการ 'สวนเบญจกิติ' สวนสาธาณะแห่งใหม่ ปอดใหญ่ใจกลางเมือง เพื่อประชาชนทุกคน

หากจะบอกว่า 'สวนป่าเบญจกิติ' คือสิ่งปลูกสร้างที่ช่วยเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ให้กับกรุงเทพ คงไม่ผิดไปนัก จากพื้นที่ที่ซึ่งเป็นของโรงงานยาสูบเดิม ปัจจุบันถูกปรับปรุงโฉม ให้กลายเป็น 'สวนสาธารณะ' แบบเต็มรูปแบบ มากไปกว่านั้น ยังถือเป็น 'ป่าในเมือง' หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น 'ปอดใหญ่' ที่ช่วยสร้างสมดุลทางธรรมชาติให้กับพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ย้อนเวลากลับไปราวปี พ.ศ.2535 กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลัง ผู้เป็นเจ้าของที่ดินของโรงงานยาสูบ มีความตั้งใจที่จะคืนพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ให้เป็นสวนสาธารณะให้กับคนเมือง โดยทำการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ราว 130 ไร่ ให้กลายเป็นสวนน้ำเบญจกิติ 

กระทั่งต่อมา ได้มีการทยอยย้ายโรงงานยาสูบออกไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนหมดสิ้น ทำให้พื้นที่เดิมอีกกว่า 300 ไร่ ได้รับการขยายสร้างให้เป็น 'สวนป่าเบญจกิติ' โดยโครงการดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในปี 2559 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 พร้อมเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์บนพื้นที่กว่า 300 ไร่แห่งนี้

ว่ากันว่า เมื่อรวมพื้นที่ทั้ง สวนน้ำ และสวนป่า เข้าด้วยกัน กินพื้นที่กว้างมากกว่า 450 ไร่ ซึ่งทั้งหมดถือเป็น 'ป่าในเมือง' ที่ทำหน้าที่ช่วยกรองมลพิษ และให้ประชาชนได้ใช้ออกกำลังกาย รวมถึงการพักผ่อนหย่อนใจ มากไปกว่านั้น ณ สวนป่าเบญจกิติ ยังอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้กว่า 300 ชนิด และมีจำนวนต้นไม้มากกว่า 8,000 ต้น

จากพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ถูกปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่จนกลายเป็นพื้นที่เพื่อประชาชน สร้างประโยชน์ให้กับทั้งคน และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความยั่งยืนที่จะอยู่คู่ไปกับกรุงเทพมหานคร นับเป็นสมบัติสถานที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งต้องรักษาและพัฒนาให้คงอยู่ตลอดไป