'รบ.เมียนมา' ดัน 'เทศกาลตะจ่าน' ขึ้นเป็นมรดกโลก เรื่องดีๆ ที่ถูกฝ่ายประชาธิปไตยดิสเครดิตแบบไร้สติ

'ตะจ่าน' หรือ 'ติงจ่าน' ถือเป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวเมียนมา โดยตรงกับช่วงวันสงกรานต์ของไทย 

ดังนั้นสำหรับช่วงเวลานี้รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดยาว 10 วัน เพื่อให้ผู้คนได้เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตน ซึ่งบางคนต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 วันเต็มๆ ในการเดินทาง
ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทศกาลนี้ คือ ล่าสุดทางกระทรวงกิจการวัฒนธรรมและศาสนาของเมียนมากำลังจัด

ทำเอกสาร เพื่อยื่นขอจดทะเบียน 'เทศกาลตะจ่าน' เป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมียนมาในระยะยาว  

แต่สุดท้ายก็ไม่วายที่จะถูกสำนักข่าวฝั่งตรงข้ามใส่สีตีข่าวเพื่อดิสเครดิต!!

หากมองกันตามตรงโดยไม่เอาอคติเรื่องเผด็จการหรือประชาธิปไตยมาตั้ง ถามว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาล ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและมองการณ์ไกล ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ทางรัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือในการงดดื่มสุราของมึนเมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเทศกาลนี้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดการบาดเจ็บและสูญเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน

ทว่าในข่าวฝั่งประชาธิปไตยพยายามตีแผ่ว่า ในเทศกาลตะจ่านที่ผ่านมา มีคนเล่นน้ำน้อย เพราะไม่มีใครอยากเล่นน้ำในรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งความจริงนั้นตรงกันข้าม...

ทางเพจ Look Myanmar เคยนำเสนอเรื่องราวในช่วงเทศกาลตะจ่านปีก่อนไว้ว่า การที่คนไม่เล่นน้ำตามบูธที่รัฐบาลจัด เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของตนเองมากกว่า เนื่องจากในช่วงเวลานั้นในเมืองใหญ่อย่าง ย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ ก็ยังมีเรื่องระเบิดให้เห็นอยู่ประปราย 

ดังนั้นคนจึงเลือกเดินทางออกไปยังต่างจังหวัด เช่น ทะเล หรือ น้ำตก เพื่อพักผ่อนในช่วงเวลาดังกล่าว และปีนี้ก็เช่นกัน มีการรายงานว่าที่พักที่ชายหาดชองตาและชายหาดงุยเซาในรัฐอิรวดีได้เต็มหมดแล้ว เช่นเดียวกับที่ชายหาดงาปาลีก็เต็มแล้วเช่นกัน  

ส่วนที่มะริดยังไม่เต็มเพราะการเดินทางด้วยรถลำบากและล่าสุดมีการยิงรถบัสและรถนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งนั่นส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของมะริดและเกาะสองเป็นอย่างมาก เพราะค่าตั๋วเครื่องบินไปมะริดก็ไม่ได้ถูกแม้จะมีการทำโปรโมชั่นแล้วก็ตาม

โดยสรุปแล้ว การนำตะจ่านยื่นเสนอต่อยูเนสโกว่าเป็นมรดกโลกถือเป็นสิ่งที่ดี ที่ในอนาคตไม่ว่ารัฐบาลไหนก็จะได้รับผลดี หากเทศกาลตะจ่านได้บรรจุเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ดังนั้นเราควรเปิดใจชื่นชมไม่ใช่ใช้แต่อคติในการตัดสินใจว่าเผด็จการเป็นคนเลวจนไม่สามารถทำสิ่งดีๆ ให้แก่ประเทศชาติได้


เรื่อง: AYA IRRAWADEE