พิษยุบพรรค

นับจากวันนี้ ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 หลายพรรคการเมืองเริ่มทยอยเปิดตัวผู้สมัคร  ชูนโยบายหาเสียง และเริ่มลงพื้นที่ปราศัยกันมากขึ้น แต่หนึ่งสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองต้องระแวดระวัง คือการดำเนินการใดๆ ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย จนอาจนำไปสู่โทษสูงสุด คือการถูก "ยุบพรรค" ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ ที่ชวนให้ย้อนกลับไปดูเพื่อทวนความจำและนำเป็นบทเรีบนให้กับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

จุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิรูปการเมืองร่วมสมัย คือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีการออกแบบให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง พร้อมกับเกิดองค์กรอิสระต่างๆ  รวมถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และ ศาลรัฐธรรมนูญ  และเมื่อมีบทบัญญัติที่ให้เสรีภาพบุคคลในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองได้แล้ว อีกด้านก็มีกลไกที่นำไปสู่การ "ยุบพรรค" ได้ หากพรรคการเมืองมีการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้  ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกรณียุบพรรค ที่กลายเป็นบันทึกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์การเมือง

เริ่มจากกรณี "จ้างพรรคเล็ก" นำมาสู่การยุบ "พรรคไทยรักไทย" จนเกิดเป็นตำนานบ้านเลขที่ 111

ย้อนไปเมื่อต้นปี 2549  ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ก่อนกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เมษายน แต่อีก 3 พรรคการเมือง ที่เป็นคู่แข่งในสภา คือประชาธิปัตย์  ชาติไทย และมหาชน ประกาศ "บอยคอต" เหลือเพียงพรรคไทยรักไทยที่เดินหน้าส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง บนเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดว่า ในเขตที่มีผู้สมัครพรรคเดียว ไร้คู่แข่ง จะต้องได้คะแนนเสียง มากกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นจึงจะได้เก้าอี้ ส.ส. ซึ่งต่อมาเกิดการร้องเรียนว่า พรรคไทยรักไทยทำผิดกฎหมายจากการ "จ้างพรรคเล็ก" ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนี "เกณฑ์ร้อยละ 20"  

เมื่อกกต.ตรวจสอบหลักฐาน ชี้มูลความผิด จึงนำไปสู่การยื่นร้องให้ยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. ทำให้ต่อมาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งขึ้น มีมติ ในวันที่ 30 พ.ค. 2550 ให้ "ยุบพรรค" ไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผลที่ตามมาคือกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี  เป็นที่มาของ "บ้านเลขที่ 111"

วิบากกรรมยังมีต่อเนื่อง เมื่อบรรดาขุนพลไทยรักไทยเดิมที่ยังเหลือรอด พากันย้ายบ้านมาที่ "พรรคพลังประชาชน" ลงสู้ศึกเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550  แต่กลับเกิดกรณี "ยงยุทธ ติยะไพรัช" ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ถูก กกต.ให้ใบแดง เนื่องจากพบการกระทำที่น่าเชื่อได้ว่า "ทุจริตเลือกตั้ง" เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเช่นกัน กรณีดังกล่าวนำมาสู่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 สั่งให้ทั้งยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารทั้ง 3 พรรค รวม 109 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในจำนวนนั้น มีนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปด้วย

กาลล่วงมาจนถึงยุคของการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ผลจากการกำหนดการเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ป้องกันการผูกขาดในสภา ทำให้พรรคใหญ่อย่าง "เพื่อไทย" ต้องปรับกลยุทธ์ แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองเครือข่ายเพื่อเรียกจำนวน ส.ส. ในสภา หนึ่งในนั้นคือ "พรรคไทยรักษาชาติ"

นอกจากถูกจับตาเพราะกรรมการบริหารพรรคเป็นอดีตรัฐมนตรี และ ส.ส. คนรุ่นใหม่ในเครือข่ายพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมึประเด็นที่ถูกจับตาที่สุดคือการ ยื่นพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เป็นเหตุให้ กกต. มีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

และในวันที่ 7 มีนาคม 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติพร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ส่วนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดก็หมดสิทธิลงสนามรับเลือกตั้ง เพราะติดข้อกำหนดเรื่องสังกัดพรรคภายใน 90 งัน

และล่าสุด คือ กรณียุบพรรค "อนาคตใหม่"  หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 พรรคอนาคตใหม่ที่มี "ธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ" เป็นหัวหน้าพรรค ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาจำนวนมากถึง 81 คน เป็นพรรคลำดับ 3

แต่กลับมีจุดพลิกผัน เมื่อต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการเผยแพร่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ "ธนาธร" กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. มีข้อมูลการ "ปล่อยกู้" ให้กับพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนเลือกตั้ง  เรื่องนี้กลายเป็นประเด็น

คำถาม และข้อถกเถียง ว่าการปล่อยกู้เงินให้พรรคกรณีนี้ เป็น "หนี้สิน" ที่พรรคต้องชำระคืน หรือ เข้าข่าย "รายได้" ของพรรค  ซึ่งต่อมามีผู้ยื่นเรื่องถึง กกต.ให้ตรวจสอบว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  โดยหลังการพิจารณาหลักฐานและเอกสารแล้ว  กกต.มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งยุบอนาคตใหม่

จนมาถึงวันที่ 21 ก.พ. 2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย โดยเห็นว่าการให้กู้เงินจำนวน 191.2 ล้านบาท ‘ไม่เป็นไปตามปกติวิสัยทางการค้า’ เนื่องจากมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ปกติ และแม้ว่า ‘เงินกู้’ จะไม่ใช่ ‘รายได้’ แต่ถือเป็น ‘รายรับทางการเมือง’ และเห็นว่าการกู้เงินของพรรคมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี  จึงมีคำสั่ง "ยุบพรรคอนาคตใหม่" ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จำนวน 16 คน ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง  10 ปี

และทั้งหมดนี้ คือเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง ให้เห็นกรณี "ยุบพรรค" ที่นอกจากเป็นโทษประหารชีวิตทางการเมืองของพรรคที่ถูกยุบแล้ว ยังเป็นจุดเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองในช่วงเวลาหลังจากนั้นด้วย