จากวิถีการเดินทาง 'รถไฟไทย' แบบดั้งเดิม สู่โครงการ 'รถไฟความเร็วสูง' ที่เป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

พูดคำว่า “โครงการรถไฟความเร็วสูง” ในเมืองไทย นับถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หรือจับต้องไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งหากย้อนกลับไป โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไม่ว่าจะเป็นสายไหนก็ตาม) ถูกคิดริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 หรือกว่า 31 ปีมาแล้ว

แต่เมื่อผ่านกาลเวลา ผ่านหลายต่อหลายรัฐบาลที่เข้ามาบริหาร และผ่านหลายเหตุการณ์ทางการเมือง กระทั่งปี 2557 หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้มีการเดินทางไปที่ประเทศจีน เพื่อหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ก่อนที่จะได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงส่งเสริมความร่วมมือด้านรถไฟไทย–จีน (โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ–หนองคาย)

โดยหลังจากคณะทำงานได้ทำการศึกษาในรายละเอียด จนได้ข้อสรุปว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง จะเริ่มก่อสร้างช่วงกรุงเทพ–นครราชสีมา เป็นระยะเริ่มต้น และเพิ่มความเร็วของรถไฟจาก 160–180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในวงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100%

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ–นครราชสีมาและต่อมาในเดือนกันยายน 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปเยือนจีนเพื่อพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง อีกครั้ง และได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทยและจีนเส้นดังกล่าว และเริ่มต้นก่อสร้างโครงการในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 นับเป็นการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย

โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา มีกำหนดแล้วเสร็จราวปี 2569 ก่อนที่ระยะที่สอง ที่สร้างต่อไปยังหนองคาย จะมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2571 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ณ สถานีท่านาแล้ว ของ สปป.ลาว ต่อไป 

หากจะบอกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ถือเป็นหนึ่งในการวางโครงสร้างการคมนาคมสมัยใหม่ให้กับประเทศไทย คงไม่ผิดไปนัก สะท้อนได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูงอีกหลายต่อหลายเส้นทาง ที่อยู่ในช่วงการดำเนินงาน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลยุคลุงตู่อีกเช่นกัน

ทั้งหมดทั้งมวล คือความพยายาม 'ยกระดับ' การคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะทางราง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ใช่แค่ความสะดวกสบายของประชาชน หากแต่ยังเป็นการ 'เปิดประตูการค้า' สู่ประเทศเพื่อนบ้าน และในระดับนานาชาติต่อไปอีกด้วย มากไปกว่านั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ ยังอยู่ในการดูแลของ 'คนไทย' เป็นหลัก โดยเป็นการศึกษาและใช้องค์ความรู้ที่ผ่านจากมันสมองของคนไทย จุดแข็งข้อนี้การันตีได้ว่า ในอนาคต ประเทศไทยจะมีองค์ความรู้เรื่องระบบการก่อสร้างในระดับเมกะโปรเจกต์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ไม่เสียดุลให้กับต่างประเทศ หรือผู้หนึ่งผู้ใด 

สิ่งที่ได้มา อาจต้องแลกกับ 'ระยะเวลา' ในการรอคอยให้โครงการเสร็จสิ้นบ้างตามสมควร แต่หากมองในระยะทางของความยั่งยืนให้กับประเทศ มั่นใจได้ว่า เป็นความคุ้มค่าสมการรอคอยอย่างแน่นอน