"ชาวนากับงูเห่า" นิทานอีสป ที่ให้ข้อคิดสอนใจว่าอย่าไปไว้ใจสัตว์ร้ายที่เลี้ยงไม่เชื่อง

ซึ่งเปรียบเป็นคนแล้ว ก็คือผู้ที่มีลักษณะคิดไม่ซื่อ ทรยศ หักหลัง ได้แม้คนที่เคยช่วยเหลือฟูมฟักมา

และ "งูเห่า" นี่เองที่เป็น "คำแรง" ใช้เปรียบเปรยนักการเมืองในสภา ที่มีพฤติกรรม ข้ามค่าย ย้ายขั้ว หรือโหวตสวนมติพรรค จนถึงวันนี้ และแน่นอนว่า บรรยากาศการเมืองไทยในช่วงเวลานี้ ที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการเลือกตั้ง กิจกรรมการย้ายค่าย สลับขั้วเหล่านี้ ยิ่งทวีความร้อนแรง ว่าแล้ว The State Times เลยขอนำตำนาน “งูเห่าการเมือง” ที่เคยเกิดขึ้น มาย้อนความทรงจำคอการเมืองกันสักหน่อย...

จุดเริ่มต้นของ "งูเห่า" ในสภา เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 26 ปีที่แล้ว เป็นคำพูดเปรียบเปรยที่เกิดจากความรู้สึกบอบช้ำแสนสาหัส ของชาวนาที่ชื่อ "สมัคร สุนทรเวช"

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ส่งผลกระทบหนักในไทยและหลายประเทศในเอเชีย ทำให้รัฐบาลของ "พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ" ขณะนั้น ตัดสินใจประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" ผลที่ตามมาคือผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ภาคการเงินการธนาคาร และภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากต้องปิดกิจการ หรือล้มละลายไป รัฐบาลถูกกดดันอย่างหนักทั้งในและนอกสภา จนสุดท้าย "บิ๊กจิ๋ว" ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออก นำมาสู่การช่วงชิงจังหวะของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีพรรคความหวังใหม่ ประชากรไทย ชาติพัฒนา และมวลชน กุมเสียงอยู่ 197 เสียง ตกลงกันว่าจะดึง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ขณะที่ฝ่ายค้าน ที่มีพรรคประขาธิปัตย์เป็นแกนนำได้เสียงจากพรรคกิจสังคม และเสรีไทยย้ายขั้วมาเติม จนมี 196 เสียง น้อยกว่าฝั่งรัฐบาลเพียงแค่เสียงเดียว โดยชู นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาท้าชิง

แต่แล้วก็เกิด "บิ๊กดีล" ขึ้น เมื่อพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการประชาธิปัตย์สมัยนั้น เปิดการเจรจา ดึงเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.กลุ่มปากน้ำของพรรคประชากรไทย รวม12 เสียง ไปโหวตสนับสนุน ให้นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ด้วยเสียง 208 ต่อ 185 เสียง

สำหรับ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ นำโดย นายวัฒนา อัศวเหม เคยมีความขัดแย้งกับพรรคชาติไทย จนไม่มีสังกัดพรรคอยู่ ซึ่งต่อมานายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น รับเข้ามาสังกัดพรรค แต่ท้ายที่สุดกลับไปยกมือสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ทำให้นายสมัครรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ และเปรียบตัวเองเป็นเหมือนชาวนา ช่วยเหลืองูเห่าแต่สุดท้ายกลับมากัดตนเอง และคำว่า "งูเห่า" จึงกลายเป็นคำเรียก ส.ส.กลุ่มปากน้ำ และยังใช้แทน ส.ส. ที่มีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะอีกเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นคล้อยหลังมาอีก 10 ปี

"มันจบแล้วครับนาย" ประโยคที่ "เนวิน ชิดชอบ" ส่งถึง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายเก่า เป็นประโยคทิ้งท้าย ย้อนภาพจำถึงอีกหนึ่งจุดพลิกผันทางการเมืองในปี 2551 เป็นที่มาของเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานต่อมาว่า "งูเห่าภาค 2"

หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของพรรคพลังประชาชน "เนวิน ชิดชอบ" เป็นหนึ่งในสมาชิกบ้าน 111 ที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง แต่เขายังคงมีอิทธิพลต่อ ส.ส. สายอีสาน "กลุ่มเพื่อนเนวิน" จำนวนมากกว่า 20 คนในพรรคพลังประชาชน

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปลายปี 2551 หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบ 3 พรรคการเมือง คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่แทนที่จะย้ายไปสังกัดบ้านใหม่ คือ พรรคเพื่อไทย "เนวิน" กลับพา ส.ส. เพื่อนเนวินทั้งหมด 23 คน รวมกับ ส.ส.กลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทินอีก 8 คน "ย้ายขั้ว" ไป เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่รวบรวมเสียงสนับสนุนได้ 235 เสียง ผลักดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเอาชนะพรรคเพื่อไทย ที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงสนับสนุนเพียง 198 เสียง

"อย่าให้ความสูญเสีย และความเจ็บปวดของพวกผมสูญเปล่า เป็นความตั้งใจของผม ที่ยอมเสียเพื่อน เสียพรรค เสียนาย มาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์"

คือประโยคที่ "เนวิน" เอ่ยขึ้น ในวันที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นนำดอกไม้ไปมอบให้ เป็นการตอกย้ำถึงการตัดสินใจ แตกหักกับ นายเก่า อย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" และถูกเรียกขานเป็น "ตำนานงูเห่าภาค 2" มาจนถึงวันนี้

จากยุคอนาล็อกเข้าสู่ยุคดิจิทัล จนถึงวันนี้ ปรากฏการณ์ "งูเห่า" โหวตสวนมติพรรค เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายตรงข้ามในสภายังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง นัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ปรากฏการณ์งูเห่าก็ยังเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีรัฐบาลผสม "หลายพรรค" หรือเสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านทิ้งกันไม่ขาดที่เรียกว่า "ปริ่มน้ำ" ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความคิดที่เป็นเหรียญสองด้าน ว่า ส.ส.ในสภา สามารถมีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจ โดยไม่ต้องยึดโยงกับมติพรรคได้หรือไม่