‘พงษ์ภาณุ’ มอง!! แม้ FED แก้ปัญหาเร็ว แต่ยังไม่จบ เมื่อระเบิดเวลาจากอัตราดอกเบี้ย ยังรอซ้ำดาบสอง

(26 มี.ค.66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ต่อภาคธนาคาร ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 66 ระบุว่า…

แม้เราจะมองเห็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็วของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนที่เกิดขึ้น จาก ‘Bank Run’ ด้วยการเข้ามาค้ำประกันเงินฝาก ให้แบงก์เอาพันธบัตรไปวางค้ำและปล่อยกู้ในมูลค่าเต็มของราคาพันธบัตรนั้นๆ แต่จริงๆ แล้วปัญหามันยังไม่จบ ผมคิดว่า มันยังมีความเสี่ยงด้าน ‘Credit risk’ เป็นส่วนใหญ่ซ่อนอยู่ เช่น ความเสี่ยงของผู้กู้ที่อาจจะไม่สามารถชำระคืนได้ 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Interest Rate Risk’ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ไม่หมดเอย หรืออีกส่วนหนึ่งก็นำไปลงทุนในหลักทรัพย์เอย โดยเฉพาะอย่างหลังกับหลักทรัพย์ ที่เวลาเจอดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไร ราคาทรัพย์มันมักจะตกลงตาม โดยเฉพาะกับกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีรายได้คงที่ แบบ ‘Fixed Income Securities’ (ตราสารหนี้) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรเอกชน ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ตามกำหนดเวลา และชำระคืนเงินต้นเมื่อครบอายุของหลักทรัพย์

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ สมมติว่าเราไปซื้อพันธบัตรรัฐฯ ไว้ 1 หมื่นบาท แล้วภายในระยะเวลา 5-10 ปี เขาก็จะคืนมาให้ 11,000 บาท โดยเงื่อนไขในพันธบัตรจะเขียนว่า รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ย เป็นจำนวน 5 บาท ทุกวันที่นั้น วันที่นี้ และเมื่อครบกำหนด ก็จะชำระคืนเงินต้น ซึ่งจำนวนเงิน 5 บาทนี้ แม้ดอกเบี้ยจะขึ้นเร็ว-ขึ้นแรงแค่ไหน รีเทิร์นมันก็จะถูกฟิกซ์ไว้อยู่ดี

พอเป็นแบบนี้ ก็มีคำถามว่า แล้วเราจะเก็บหลักทรัพย์เหล่านี้ไว้อีกทำไม สู้ขายทิ้งแล้วนำเงินไปฝากหรือลงทุนกับสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อเอาดอกเบี้ยที่สูง ไม่ดีกว่าหรือ?

มันก็อาจจะใช่ แต่สินทรัพย์เหล่านี้ เช่น พันธบัตรฯ ซึ่งเป็นการซื้อแบบระยะยาว 10-20 ปี หรือถึง 30 ปีก็ไม่ใช่ว่าขายออกไปแล้วจะได้กำไรทันที มันอาจจะอยู่ในจังหวะขาลง ซึ่งขายไปก็เท่ากับขาดทุนได้ แต่ถ้าเกิดเราไม่ขายก็ไม่เป็นอะไร เราสามารถถือไปจนครบกำหนดได้ เหมือนที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า ‘ติดดอย’ ที่ว่า ซื้อมาแพง แต่ตอนขายไม่ได้ราคา ก็ต้องทนเก็บไว้

...พูดมาถึงตรงนี้ ก็คงพอจะเชื่อมปัญหาของการขึ้นดอกเบี้ยมาสู่กรณีของธนาคาร SVB ที่สหรัฐอเมริกาได้ง่ายขึ้น เพราะเขาก็มีหลักทรัพย์อยู่เยอะ และเอาจริงๆ หากเขาไม่ขายก็ได้ ไม่ขาดทุนในระยะยาวเลย เพียงแต่เขามีความจำเป็นต้องขาย เนื่องจากผู้ฝากเงินแห่มาถอนเงินฝากกัน เลยทำให้เขาต้องรีบขายหลักทรัพย์ต่างๆ ไป ทั้งๆ ที่ขาดทุน เพื่อลดปัญหาสภาพคล่องข งแบงก์ในช่วงวิกฤติ โดยหลักทรัพย์บางตัวอาจขายขาดทุนสูงถึง 50% ด้วยซ้ำไป เพราะดอกเบี้ยมันขึ้นแรง เช่น มีพันธบัตร 100 แต่ขายได้ 50 ก็ขาดทุน 50 ทันที

นี่จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย’ ซึ่งซ่อนอยู่มากกว่าที่เราเห็นจากภาพเบื้องหน้า และผมเชื่อว่าแบงก์ไทย ก็มีความเสี่ยงตรงนี้ซ่อนอยู่ในงบดุลของตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะหลายแบงก์ถือหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีรายได้คงที่แบบ Fixed Income Securities เป็นจำนวนมาก

ฉะนั้น หากให้มองไปข้างหน้า แม้ว่าเลือดของระบบการเงินสหรัฐฯ จะหยุดไหลแล้วจากวิกฤตครั้งนี้ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ห้ามเลือดอยู่ แต่ผมคิดว่า ทั้ง FED ก็ดี ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี จะต้องมีกฎเกณท์ใหม่ขึ้นมา เพื่อบังคับ หรือกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ตั้งกองทุนสำรอง ต่อความเสี่ยงสินทรัพย์ที่จะได้รับจากอัตราดอกเบี้ยต่อไปในอนาคตครับ