'คุกนรกกวนตานาโม' สิทธิมนุษยชนที่โลกเลือกลืม ฉาก 'ทรมาน-ย่ำยี' ผู้ก่อการร้าย ที่ 'กัน' ยัดเยียดให้

อเมริกาชอบอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนจนน้ำลายฟูมปากอยู่บ่อยๆ แถมยังสร้างภาพให้ชาวโลกเข้าใจว่าประเทศนี้พิทักษ์หลักสิทธิมนุษยชนสุดชีวิต เลยมักเต้นแท็ปไปรอบโลก โบกธงสิทธิมนุษยชนอยู่ไปมา พลางชี้นิ้วกล่าวหาชาวโลก ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศโลกที่ 3 ว่า 'ละเมิดสิทธิมนุษยชน'

จากนั้นก็หาเหตุในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและแซงซั่นด้วยมาตรการต่างๆ นานา โดยยืมมือสหประชาชาติหรือ 'อียู' จัดการ แต่คงลืมไปแล้วว่า ไอ้คุกนรก 'กวนตานาโม' ของตนนั้น แสนเลวทรามต่ำช้าขนาดไหน?

ย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ.1903 ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวสต์ ทำสัญญาเช่าพื้นที่อ่าวกวนตานาโมจากรัฐบาลคิวบา ช่วงแรกเอาไว้ใช้เป็นท่าเติมเชื้อเพลิงเฉยๆ ต่อมาขยายสัญญาด้วยการระบุว่า “สัญญาเช่านี้จะสิ้นสุดด้วยการยินยอมจากทั้งสองฝ่ายหรือเมื่อลุงแซมละทิ้งอ่าวนี้ไปเอง” นั่นหมายถึงอเมริกายังคงมีกรรมสิทธิ์เหนือกวนตานาโมไปชั่วฟ้าดินสลายตราบที่ต้องการ  

หลังเกิดเหตุ 9/11 ในนิวยอร์ก ที่นี่กลายเป็นคุกขังนักโทษหลายร้อยคนจาก 35 ประเทศที่อเมริกากล่าวหาว่า 'ก่อการร้าย' 

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไม ถึงเอานักโทษก่อการร้าย ซึ่งส่วนมากเป็นมุสลิมมาไว้ที่นี่ เพราะคุกแห่งนี้ไม่ไกลจากอเมริกา นั่งเรือแค่สองชั่วโมงจากเมืองแจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดาก็ถึงแล้ว     

แต่ที่สำคัญ คือ กวนตานาโม ไม่ใช่แผ่นดินอเมริกา!!

ดังนั้นอเมริกาจะทำทารุณกรรมอย่างไรก็ได้กับนักโทษ แถมอ้างได้ว่าการดำเนินการใดๆ ภายในคุก ไม่สามารถฟ้องร้องในศาล โดยอ้างอิงจากคำพิพากษาของศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1950 ซึ่งระบุว่า...

"ศัตรูต่างด้าวซึ่งไม่มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ ไม่สามารถจะเรียกร้องให้ศาลของเราพิจารณาคดีให้ในช่วงสงครามได้"

หลังเหตุการณ์ 9/11 ผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายชุดแรกจำนวน 20 คนถูกพาข้ามน้ำข้ามทะเลมาขังที่นี่ ทุกคนถูกซ้อม สวมกุญแจมือ และคลุมศีรษะปิดหน้าตาอยู่ในกรงขังแคบๆ เหมือนกรงหมา

การละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักโทษเหล่านั้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและปิดเงียบ เพราะผู้คุมสามารถทำอะไรกับนักโทษได้ตามใจชอบ เจ้าหน้าที่อเมริกาบนฐานทัพกวนตานาโม่ออกแบบนโยบายจัดการกับนักโทษตามอำเภอใจ การสอบปากคำรวมถึงการทรมานอย่างวิปริตคือเรื่องปกติของที่นี่ พวกผู้คุมสามารถทรมานนักโทษด้วยวิธีโหดร้ายอย่างไรก็ได้

การทรมานอย่างหนึ่งที่นักโทษทุกคนต้องเจอ คือการเทน้ำใส่ใบหน้าของผู้ต้องขังที่เรียกว่า Waterboarding หรือ การทำให้สำลักน้ำ 

นอกจากนี้ยังถูกซ้อมและถูกย่ำยีทางศาสนา มีรายงานข่าวแฉออกมาเรื่อยๆ ว่า นักโทษเหล่านี้ถูกทารุณอย่างโหดร้าย หลายคนทนไม่ไหวจนต้องฆ่าตัวตายไป

ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2006 นักโทษในคุกกวนตานาโม 3 รายเสียชีวิตอยู่ในห้องขัง สภาพศพถูกรัดคอ   แม้ว่ากระทรวงกลาโหมจะชี้แจงว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่หน่วยสืบสวนอาชญากรรมกองทัพเรือพบหลักฐานที่บ่งบอกว่านักโทษไม่ได้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เพราะนักโทษทั้งหมดถูกมัดมือไพล่หลัง หากแต่การเสียชีวิตมาจากการสอบสวนที่รุนแรง รวมถึงการซ้อมอย่างหนักจนขาดอากาศจนสิ้นใจในที่สุด

วุฒิสภาอเมริการะบุไว้ว่า คุกนี้มีสภาพเป็น 'ห้องปฏิบัติการทางทหาร' เพื่อทดลองการสอบปากคำนักโทษด้วยวิธีใหม่ แหม...อ่านแล้วยังฟังเข้าใจยากจริงๆ เขียนให้สั้นๆ ง่ายๆ คือ 'ห้องซ้อม' นั่นเอง 

แม้จะปิดลับขนาดไหน แต่เป็นที่รู้กันทั้งโลกว่าที่นี่เป็นคุกโหดที่เน้นการทารุณนักโทษอย่างไร้ขีดจำกัดและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่สุด 

ตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐระบุว่า ที่ผ่านมามีนักโทษ 6 ใน 8 คนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย และอีก 2 คนเสียชีวิตจากเหตุทางธรรมชาติ 

นักโทษชื่อ แอดนาน ลาทิฟ เสียชีวิตที่กวนตานาโม หลังจากถูกคุมขังมานานกว่าสิบปี โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา แม้เคยถูกพิจารณาจากศาลให้ได้รับการปล่อยตัวก็ตาม การถูกขังอย่างไร้อนาคตทำให้สรุปว่า “ความตายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนากว่าการมีชีวิตอยู่” ลาทิฟ อดอาหารและเขียนบทกวีไว้บนผนังเป็นการลาตาย

เมื่ออยู่อย่างทรมานและไร้อิสรภาพ ความตายคงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับนักโทษแห่งคุกกวนตานาโม ดีกว่าถูกทรมานจากเงื้อมมือของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนจอมปลอมอย่างลุงแซม คุกกวนตานาโม่จึงเป็นสัญลักษณ์อันอัปลักษณ์แห่งการไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

ในขณะที่อเมริกาเที่ยวกล่าวหาคนอื่นว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ไม่ได้ดูตัวเองเลยว่าซุกซ่อนอะไรไว้หลังบ้าน


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้