'ประชาธิปัตย์' พรรคการเมืองที่ไม่เคยห่างหายไปจาก 'การเมืองไทย'

ใกล้เลือกตั้งเข้าไปทุกขณะ หากสำรวจข้อมูลพรรคการเมืองจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่อัปเดตล่าสุด ณ วันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 88 พรรค   

ใน 88 พรรค มีอยู่เพียงแค่พรรคเดียว ที่อายุยืนยาวที่สุด เป็นพรรคเดียวที่จัดตั้งในยุคแรกและยังคงดำเนินการจนถึงวันนี้ ไม่เคยห่างหายไปจากการเมืองไทย  เดาไม่ยาก ว่าพรรคการเมืองที่ว่านั้นคือ พรรคประชาธิปัตย์

ย้อนกลับไป ในช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีแนวคิดจัดตั้งพรรคการเมืองอยู่เป็นระยะ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เป็นรูปเป็นร่างได้ ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี 2488  บรรยากาศประชาธิปไตยในไทยเปิดกว้างมากขึ้น พรรคการเมืองไทยยุคแรกจึงก่อตัวขึ้นในยุคนั้น

ปี 2489  พรรคประชาธิปัตย์ถูกก่อตั้งขึ้นโดย 'พันตรีควง อภัยวงศ์' คณะราษฎรสายพลเรือน พร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เลขาธิการพรรคคนแรกนำพรรคก้าวหน้าของตนมารวมกับพรรคประชาธิปไตยของ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ แล้วให้ชื่อว่า 'พรรคประชาธิปัตย์'

จนถึงวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว  8 คน ในจำนวนนี้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 คน คือ พันตรีควง อภัยวงศ์ , ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช , นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนอีก 4 คน ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ คือ พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ , นายพิชัย รัตตกุล , นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

ยุคทองของพรรคประขาธิปัตย์ ซึ่งถือว่ารุ่งเรืองที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ถึงขั้นมีวลีที่ว่า "ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครยังชนะ" และ "คนใต้กรีดเลือดมาเป็นสีฟ้า" นั้น ก่อตัวและเกิดขึ้นในยุคของผู้นำพรรคที่ชื่อ 'ชวน หลีกภัย' 

จุดเริ่มต้นการสั่งสมความนิยมในภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดขึ้นในปี 2523 ที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจาก พลเอกเปรม ซึ่งพื้นเพเป็นคนสงขลา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีความซื่อสัตย์ สุจริต ทำให้ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนสูง

พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก จึงเริ่มสร้างความนิยมในภาคใต้อย่างแนบแน่นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากพลเอกเปรม กระทั่ง ปี 2531 กระแสฟีเวอร์ นายชวน หลีกภัย ซึ่งได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจากนายพิชัย รัตตกุล เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ 

ต่อมามีการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง และนายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งครั้งนั้นมีการรณรงค์หาเสียงชูประเด็น 'นายกฯ คนใต้' ตามรอยพลเอกเปรม นับตั้งแต่นั้นมานายชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้สร้างความนิยมให้เกิดขึ้นแก่พรรคประชาธิปัตย์ในหมู่คนภาคใต้จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านกาลเวลา และคลื่นลมทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน ในยุคของหัวหน้าพรรคที่ขื่อ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่ ในการรักษาพื้นที่ทางการเมืองไว้ให้ได้ หลังที่ผ่านมา "เลือดใหม่ยังไม่ไหลเข้า แต่เลือดเก่าทยอยไหลออก" อดีตขุนพลหลายคนของพรรค โบกมือลาออกไป  รวมถึง 'บ้านใหญ่' ในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน ที่เคยครองเก้าอี้ส.ส.ให้กับพรรคก็มีข่าวขอแยกทางออกไปเป็นระยะ 

ส่วน 'สนามกทม.' ที่เคยเป็นอีกหนึ่งขุมกำลังของพรรคประชาธิปัตย์ ทว่าในการเลือกตั้ง ปี 2562  ซึ่งมี 30 เก้าอี้ ส.ส. ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไร้ที่นั่ง ไม่มีส.ส.สอบผ่านแม้แต่คนเดียว ขณะที่สนามภาคใต้ พื้นที่หลักของพรรค ก็กำลังถูกท้าทายจากคู่แข่งทางการเมือง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน 

เลือกตั้ง 2566 หนนี้ พรรคประชาธิปัตย์ระดมสรรพกำลังใหม่ เปิดตัวผู้สมัคร 33 เขต ใน กทม. ครบเป็นพรรคแรก พร้อมชูอุดมการณ์ซึ่งเป็นรากแก้วของพรรค คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาธิปไตยสุจริต และประชาธิปไตยท้องอิ่ม พร้อมด้วยการขับเคลื่อนนโยบายผ่านยุทธศาสตร์  'สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ'

ครั้งนี้จึงเป็นจังหวะก้าวสำคัญ ในการเรียกคืนศรัทธา และกู้คืนศักดิ์ศรีของพรรคเก่าแก่หนึ่งเดียวของไทยที่ไม่เคยห่างหายไปจากการเมืองเลยแม้สักครั้ง