'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' นายกฯ หญิงคนเดียวของประเทศ กับวิบากกรรม 'จำนำข้าว'

ย้อนเวลาไป 12 ปีก่อน การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนมากกว่า 15 ล้านเสียง ได้ส.ส. 265 จาก 500 คน เกินครึ่งของที่นั่งในสภา แต่ที่สำคัญกว่าการชนะเลือกตั้ง คือการผลักดัน 'นายกรัฐมนตรีหญิง' คนแรกของไทยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง เธอคือ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' โดยเป็นการพิสูจน์และเปิดประตูความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่น่าเสียดายที่บทส่งท้าย ของประวัติศาสตร์หน้าสำคัญนี้ กลับกลายเป็นความผิดพลาด เกิดวิบากกรรมทางการเมืองที่ทำให้เจ้าตัวยังไม่กลับประเทศไทยจนถึงวันนี้ 

กล่าวถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เธอเป็นบุตรสาวของนายเลิศ ชินวัตร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ โดยในบรรดาลูกๆ ทั้ง 10 คนของนายเลิศ หลายคนเดินตามรอยของบิดาในการก้าวเข้าสู่สนามการเมือง ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯ ทักษิณ นางเยาวลักษณ์ นางเยาวเรศ นางเยาวภา และนายพายัพ ชินวัตร ส่วนลูกสาวคนสุดท้อง 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' เดิมไม่สนใจการเมืองแต่มุ่งหน้าเติบโตในสายธุรกิจ 

จนเมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ในราวปลายปี 2551 เข้าสู่ยุคของพรรคเพื่อไทย 'ยิ่งลักษณ์' เป็นทางเลือกแรกของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่จะให้เป็นหัวหน้าพรรคแต่ยังถูกปฏิเสธ ด้วยไม่อยากเข้าสู่การเมืองและสนใจทำธุรกิจเท่านั้น ต่อมาปี 2554 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง หลังได้รับการร้องขอให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน 'ดร.ทักษิณ' พี่ชาย โดยนำทัพพรรคเพื่อไทยสู้ศึกเลือกตั้ง ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และใช้เวลาเพียง 49 วัน พาเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง กรุยทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ในวัยเพียง 44 ปี 

นอกจากกระแสความนิยมในตัว 'ดร.ทักษิณ' ที่นำพา 'ยิ่งลักษณ์' ก้าวขึ้นสู่อำนาจแล้ว หากลองดูนโยบายของพรรคเพื่อไทยในช่วงปีนั้นก็ถือว่า หลายนโยบายที่ใช้หาเสียงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจที่เรียกคะแนนนิยมจากการเลือกตั้งด้วย ทั้งนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท , จบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท , โครงการรถยนต์คันแรก , ลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก , แจกแท็บเลตให้เด็กนักเรียนให้เข้าถึงคอมพิวเตอร์และการเรียนออนไลน์ รวมถึงนโยบายที่ให้ทั้งคุณและโทษกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั่นคือ 'โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด' 

สำหรับการบริหารบ้านเมืองของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย ในช่วงเวลา 2 ปีเศษ ถือว่าไม่ง่าย เพราะมีอุปสรรคปัญหาเข้ามาให้ต้องเผชิญ ทั้งเหตุการณ์มหาอุทกภัย ในปี 54 และผลจากการผลักดันกฎหมาย 'นิรโทษกรรมสุดซอย' ที่นำมาสู่การก่อตัวของมวลชน กปปส. บานปลายไปสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทำให้ 'ยิ่งลักษณ์' ต้องประกาศยุบสภาในที่สุด แต่การตัดสินใจไม่ลาออก ยังคงตำแหน่งนายกฯ รักษาการไว้ กลับเป็นการเร่งให้อุณหภูมิการเมืองพุ่งสูงและในที่สุดเมื่อทุกฝักฝ่ายที่อยู่บนสนามความขัดแย้งทางการเมืองหาทางออกร่วมกันไม่ได้ จึงจบลงด้วยการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

หลังการเข้ามาของรัฐบาล คสช. มีการเดินหน้าตรวจสอบการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดโดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าว นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นวิบากกรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ลงมติถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฐานละเลยต่อหน้าที่ พร้อมตัดสิทธิการเมือง 5 ปี 

ส่วนการดำเนินคดี มีการไต่สวนและชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพวกรวม 28 คน กรณีทุจริตระบายข้าว 'จีทูจี' และต่อมา มีการชี้มูล - อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

และในวันที่ 27 กันยายน  2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาลับหลัง สั่งจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา และจนถึงวันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังไม่เดินทางกลับประเทศไทย 

2 ปี กับอีก 275 วัน คือระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้เส้นทางการเมืองจะจบลงแบบไม่สวยงามและเต็มไปด้วยข้อกังขา แต่การเข้ามาสู่ถนนการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย ก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้กับ 'บทบาทของผู้หญิง' ในการทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย