การเลือกตั้งไทย ครั้งที่ ‘สกปรกที่สุด’ ในประวัติศาสตร์

26 ก.พ. 2500 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยมีจัดการเลือกตั้งใหญ่ แต่เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่ชอบมาพากล อาทิ การใช้เวลานับคะแนนนานถึง 7 วัน 7 คืน เกิดกรณีใช้ความรุนแรงทำร้ายคู่แข่งการเมือง ตรวจพบบัตรเลือกตั้งที่ถูกกามาตั้งแต่โรงพิมพ์ การเวียนเทียนคนใช้สิทธิเลือกตั้ง และอีกหลากปรากฏการณ์ด้านลบที่เกิดขึ้น ทำให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 กลายเป็นภาพจำในประวัติศาสตร์การเมืองว่าเป็น "การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด" 

ที่มาของเหตุการณ์ครั้งนั้น ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2498  หลังจากการเดินสายรอบโลก เยือนสหรัฐอเมริกา ตามด้วยหลายประเทศในยุโรป ซึ่งล้วนยึดโยงกับแนวคิดเสรีประชาธิปไตย ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีแนวคิดกลับมาเริ่มรณรงค์ “ประชาธิปไตย” และให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2500 โดยหมายมั่นให้เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

จึงเป็นที่มาของการออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498  และการประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500โดยมีพรรคเสรีมนังคศิลา ที่จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมด้วยพรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งสำคัญ และพรรคการเมืองอื่น รวมทั้งสิ้น จำนวน 23 พรรค

หลังเลือกตั้ง ปรากฏว่าชัยชนะเป็นของพรรคเสรีมนังคศิลา ได้ 86ที่นั่งจากทั้งหมด 160 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งและพบการโกงการเลือกตั้งหลายรูปแบบ

การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยคำถาม นำมาสู่การก่อตัวของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ ขณะที่สื่อมวลชนได้ประณามการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าเป็น "การเลือกตั้งที่สกปรก" แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แถลงผ่านสื่อว่าควรเรียกเป็น “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย”

นอกจากกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้ชุมชุม และสื่อมวลชนแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากฟากพรรคการเมือง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เขียนคำฟ้องต่อศาลในนามนายควง อภัยวงศ์ และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์รวม 9 คน กล่าวหาว่าการเลือกตั้งมีความไม่ชอบธรรมในหลายเรื่อง 

ทั้งช่วงก่อน และระหว่างเลือกตั้ง ที่พบว่ามีการจัดเลี้ยงผู้กว้างขวาง และนายตำรวจผู้ใหญ่ให้การช่วยเหลือพรรคเสรีมนังคศิลา มีการเพิ่มชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างผิดปกติ รวมถึงมีการตรวจพบบัตรเลือกตั้งที่เรียกว่า ‘ไพ่ไฟ’ คือบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์จากโรงพิมพ์โดยมีการกาเลือกผู้สมัครไว้แล้วเป็นจำนวนมาก และมีการใช้ ‘พลร่ม’ คือใช้กลุ่มคนเวียนลงคะแนนให้พรรคเสรีมนังคศิลาหลายรอบ

ขณะที่วันเลือกตั้งก็พบการก่อกวน มีการใช้ความรุนแรงในหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงบางหน่วยเลือกตั้งที่เปิดให้ลงคะแนนช้า หรือยืดเวลาลงคะแนนออกไปหลังเวลาปิดหีบ และการนับคะแนนในหลายเขตที่ไม่โปร่งใส 

นอกจากความตื่นตัว และกระแสการรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้นแล้ว หากมองลงไปถึงบริบทการเมือง ในช่วงปี พ.ศ.2500  เป็นห้วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้กุมอำนาจบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรี พยายามประคองอำนาจทางการเมืองด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชน เพื่อคานกับอีกสองขั้วอำนาจ คือฟากของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองทัพบก ที่มีกำลังทหารอยู่ในมือ  และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ บุตรเขยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ซึ่งยุคนั้น ตำรวจมีทั้งกำลังพลและอาวุธไม่น้อยไปกว่าฝั่งกองทัพเพราะอเมริกาให้การสนับสนุน

ดังนั้น ความพยายามเปิดพื้นที่การเมืองให้กว้าง และปลุกกระแสนิยมประชาธิปไตย อย่างเช่นการเปิดพื้นที่ไฮด์ปาร์ก หรือการเปิดให้มี Press Conference หรือการพบปะชี้แจงกับนักหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงการอนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกครั้ง หลังมีการห้ามมาเป็นเวลาสามปี ทั้งหมดคือสิ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำเพื่อหวังคานอำนาจ "การเมืองสามเส้า" ในช่วงเวลานั้น 

ทว่าหลังการเลือกตั้ง 26 ก.พ. 2500 บรรยากาศการเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และสุดท้ายจบลงที่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน 2500  เป็นการปิดฉากบทบาททางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  และทำให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 ถูกตีตราและจดจำว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย