ถามว่า เมื่อต้นปี 2566 มีอะไรใหม่เกิดขึ้นในเมืองไทย หนึ่งในนั้นคือ การเปิด “อุโมงค์มหาราช” สิ่งปลูกสร้างที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

ย้อนเล่าความเป็นมาของ ถนนมหาราช-หน้าพระลาน-วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) สถานที่ทั้งสามแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ มีอายุมากกว่าร้อยปี โดยนับแต่อดีต เคยได้รับการทำนุงบำรุงเรื่อยมา กระทั่งวันเวลาผันผ่าน สถานที่ดังกล่าว ได้กลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ต่างให้ความสนใจ และเดินทางมาเยี่ยมชมปีละหลายล้านคน

 

กระทั่งเมื่อปี 2562 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนา กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโบราณสถานเก่าแก่เหล่านี้ จึงหารือในที่ประชุมเกี่ยวกับการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว และเกิดความปลอดภัยในการสัญจร โดยมอบให้กรุงเทพฯ พิจารณาให้มีความเหมาะสม

จากนั้นโครงการอุโมงค์ทางเดินลอดดังกล่าว จึงได้รับการสานต่อ และเดินหน้าก่อสร้าง มาแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2565 และเปิดใช้เมื่อเดือนมกราคม 2566 โดยแบ่งเป็น อุโมงค์ทางเดินลอดหน้าพระลาน จุดที่ 1 ระยะทาง 96 เมตร มีพื้นที่รวม 6,280 ตารางเมตร และอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน จุดที่ 2 ระยะทาง 37 เมตร พื้นที่รวม 350 ตารางเมตร โดยพื้นที่ภายในอุโมงค์สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวได้ประมาณครั้งละ 2,500 คน ภายในตกแต่งสวยงาม พร้อมมีบริการห้องน้ำชาย 21 ห้อง ห้องน้ำหญิง 55 ห้อง โถงพักคอยและทางเดิน รวมทั้งมีอาคารกองอำนวยการ

 

คาดการณ์กันว่า อุโมงค์มหาราช (หรืออุโมงค์ทางลอดหน้าพระลาน) สามารถรองรับนักท่องเที่ยวราว 35,000 ต่อวัน มากไปกว่านั้น คือเรื่องความปลอดภัย ที่ประชาชนจะไม่ต้องข้ามถนนให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุอีกต่อไป แถมยังเป็นจุดเชื่อมต่อสถานที่สำคัญๆ อีกมากมาย อาทิ สนามหลวง พระบรมมหาราชวัง ศาลหลักเมือง กระทรวงกลาโหม เป็นต้น

 

วันนี้ใครมีโอกาสผ่านไปบริเวณดังกล่าว ต้องทดลองใช้บริการ “อุโมงค์มหาราช” เพราะนี่คือสิ่งปลูกสร้างที่ทำเพื่อประชาชน รวมทั้งยังเป็นการก่อสร้างที่เคารพต่อโบราณสถานเก่าแก่โดยรอบ เรียกว่าได้ใช้ประโยชน์ และช่วยเสริมทรัพย์สมบัติของชาติร่วมกันอย่างแท้จริง