ชวนทำความรู้จัก 'ระบบบัญชีรายชื่อ' ให้ลึกและรอบมากขึ้น ก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง

การเลือกตั้งใหญ่ 2566 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีความแตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ครั้งนั้นใช้บัตรใบเดียวเลือกทั้ง ส.ส.เขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ อีก 150 คน ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม และคำนวณจากสูตรจำนวน ส.ส. พึงมี

แต่หนนี้จะกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่ง 1 ใบสำหรับเลือก 'คน' ที่รัก อีก 1 ใบสำหรับ 'พรรค' ที่ชอบ โดย ส.ส. 500 คน จะมาจาก ส.ส.เขต 400 และบัญชีรายชื่อ อีก 100 คน 

การเลือก 'ผู้แทนราษฎร' ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือระบบที่ให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือก 'พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง' โดยแต่ละพรรคจะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครไว้ไม่เกินเพดานจำนวนที่กำหนด และเมื่อผ่านการลงคะแนนแล้ว ผู้สมัครที่อยู่ในบัญชีของพรรคนั้นก็จะได้รับเลือกตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้รับ 

สำหรับประเทศไทยนั้น มีจุดเปลี่ยนสำคัญหลังการปฏิรูปการเมืองจนได้มาซึ่ง 'รัฐธรรมนูญปี 2540' ที่มีการนำเสนอระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่พลิกโฉมการเมืองไทย คือระบบ 'ปาร์ตี้ลิสต์' เป็นครั้งแรก เจตนารมณ์เพื่อ 'เพิ่มบทบาทของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรค' ทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญมากขึ้น และทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือก ส.ส. ในเขตพื้นที่ และพรรคการเมืองที่ชื่นชอบแตกต่างกันได้ 

'ปาร์ตี้ลิสต์' ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2544 โดยมีการแยกที่มาของ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อออกจากกันชัดเจนด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้บัญชีปาร์ตี้ลิสต์เดียวเป็นแบบเขตเดียวทั้งประเทศ

ต่อมา 'รัฐธรรมนูญ 2550' มีการปรับมาใช้ระบบ 'สัดส่วน' แบ่งพื้นที่การเลือกตั้งทั้งประเทศเป็น 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละพรรคการเมืองจะต้องส่งรายชื่อผู้สมัคร 8 บัญชี ลงสมัครใน 8 กลุ่มจังหวัด บัญชีละไม่เกิน 10 คน เรียงตามลำดับหมายเลข   

อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวนี้ใช้ได้เพียง 1 ครั้ง  เมื่อต่อมา ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนมือมาเป็น 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' สภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้บัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั่วประเทศ จำนวน 125 คน

กระทั่งถึง 'รัฐธรรมนูญ 2560' มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง โดยมีการนำ 'ระบบจัดสรรปันส่วนผสม' มาใช้  มีการเพิ่มจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อขึ้นเป็น 150 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกทั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ 

จนมาถึงการเลือกตั้ง 2566 นี้ จะมีการปรับกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้การคิดคำนวณแบบคู่ขนาน หรือ Mixed Member Majoritarian System ซึ่งมีจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เหมือนการเลือกตั้ง ปี 2544 

แต่มีความแตกต่างในรายละเอียด เนื่องจากการเลือกตั้ง ปี 2544 มีการกำหนด 'เพดานขั้นต่ำของคะแนน' ให้พรรคการเมืองต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 5 % ของคะแนนเสียงรวมทั้งหมด จึงจะนำมาคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อเป็นการจำกัดจำนวนพรรคการเมือง ไม่ให้มี ส.ส.จากพรรคเล็กพรรคน้อยมากเกินไป 

แต่ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ไม่มีการกำหนดเพดานคะแนนขั้นต่ำไว้ หมายความว่า 'ทุกคะแนน' จะถูกนำมาคิดคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ขณะเดียวกัน ถ้าดูหลักการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ กรณีที่จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับรวมกันไม่ครบ 100 คน กฎหมายเลือกตั้งระบุไว้ชัดว่า ให้ “พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม” และ “พรรคการเมืองที่มีเศษหลังการคำนวณจำนวนเต็มแล้ว” พรรคใดมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบ 100 คน

นั่นหมายความว่า กรณี 'ส.ส.ปัดเศษ' ที่มาจากบัญชีรายชื่อของ 'พรรคเล็กพรรคน้อย' ก็จะยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แม้จะมีจำนวนไม่มากเท่าในการเลือกตั้ง ปี 2562 ก็ตาม