'กินหรู-อยู่แพง-รวยทางลัด' ค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ เลือก หากไม่สมหวัง!! จะวกกลับมาโทษ "เศรษฐกิจไทยไม่ดี"

(26 ก.พ.66) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุข้อความว่า...

วันก่อนไปธุระกับครอบครัวที่เซ็นทรัลพระราม 9 ในวันธรรมดา เสร็จธุระประมาณ 11.30 น. ปรึกษากันว่าจะทานอาหารกลางวันที่ร้านไหนดี ในที่สุดเลือกร้านซูชิแบบสายพานร้านหนึ่ง แม้จะหวาดเสียวว่า จะมีคนเลียนแบบคลิปญี่ปุ่นที่แชร์กันสนั่นใน social media ก็ตาม

ร้านนี้มีโต๊ะไม่น้อยกว่า 30 โต๊ะ ขณะเราเข้าไปโต๊ะยังว่างโล่ง แต่เมื่อถึงเวลา 12 นาฬิกาเศษ ไม่ทราบผู้คนมาจากไหนนั่งกันเต็มทุกโต๊ะ หันซ้ายหันขวา มีแต่คนในวัยตั้งแต่ต่ำกว่า 40 ลงมาทั้งสิ้น ดูแล้วผมน่าจะอายุมากที่สุดในร้าน ราคาอาหารร้านนี้เฉพาะซูชิที่วิ่งบนสายพานมีจาน 4 สี 4 ราคา มีราคาจานละ 40 บาท 60 บาท 80 บาท และ 120 บาท มองไปเห็นแต่ละโต๊ะมีจานเปล่าหลากสีซ้อนกันเป็นชั้นๆสูงๆ เต็มไปหมด มีแต่โต๊ะผมที่รู้สึกจะมีจำนวนจานน้อยที่สุด 

เมื่อทานอาหารเสร็จเดินออกมาเห็นคนยืนเข้าแถวยาวรอโต๊ะว่าง มองไปที่ร้านอื่นก็เห็นมีคนรอโต๊ะกันหลายร้าน โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นแน่นทุกร้าน สัปดาห์ที่แล้วไปที่อาคารธนิยะก็เป็นภาพแบบเดียวกัน ทั้งร้านอาหารในอาคารและนอกอาคาร มีผู้คนแน่นร้านเกือบทุกร้าน ร้านอาหารที่ธนิยะมีราคาสูงกว่าร้านซูชิสายพานอยู่บ้าง อาหารบางจานราคาสูงจนผมไม่กล้าสั่ง แต่เห็นโต๊ะอื่นๆ ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ในวัยทำงานสั่งกันเต็มไปหมด หรือว่าคนรุ่นใหม่เขาสั่งอาหารกันแบบไม่ต้องดูราคาก็ไม่ทราบได้ 

ภาพที่บรรยายไว้ข้างต้นเป็นภาพที่ส่งสัญญานชัดเจนว่าเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นแล้ว แตกต่างจากภาพที่เห็นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาดั่งฟ้ากับเหว แน่นอน คนยากคนจนในประเทศเรายังมีอยู่มาก ช่วงห่างของความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ลดลง แต่คงไม่มีคนอดตายอย่างที่อภิปรายกันในสภา เลิกพูดกันได้แล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังดิ่งเหว หรือคนกำลังจะอดตายกันหมดแล้ว เพราะมันไม่ใช่ 

ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลโดยตรงทั้งหมด แต่ภาวะเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกนำมาใช้ในการโจมตีรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย การทำรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ล้วนถูกนำมาใช้อ้างเป็นต้นเหตุของการที่เศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น 

คำอธิบายปฏิกิริยาและปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ในระยะที่ผ่านมาคือ ผู้ใหญ่ต้องพยายามเข้าใจเขา พวกเขาเพียงต้องการชีวิตที่ดีขึ้น แต่ ณ ขณะนี้พวกเขามองไม่เห็นอนาคตของตัวเองแต่อย่างใดเลย  

"ชีวิตที่ดีขึ้น" ที่จริงแล้วคืออะไร คือชีวิตที่วันๆ ออกไปทานอาหารแบบโอมากาเสะ หรืออาหารแพงๆ ในร้านหรูๆ ขับรถหรู ใช้ของแพง นาฬิกาแพงๆ แล้วถ่ายรูปมาลงอวดกันใน social media อย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำเว็บพนันออนไลน์ หวยออนไลน์ ธุรกิจฟอกเงิน มีบ้านหรู รถหรู ใช้ของหรู ล้วนมีอายุไม่เกิน 30 ปี พวกเขาคงเลือกอาชีพที่ผิดกฎหมาย หรือหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย ก็เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นกระมัง

จะว่าไปในประเทศเรา หากมีความขยันและมุมานะพอ และรู้จักใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ใช้เงินใช้ของที่สอดคล้องกับฐานะทางการเงินของเรา ทุกคนก็มีความสุขได้ ความพอเพียงไม่ได้หมายความว่าให้หยุดการขนขวายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แต่หมายถึงการมีน้อยใช้น้อย มีมากใช้มาก ไม่ใช้เงินเกินฐานะตัวเอง 

ข้ออ้างอีกอย่างที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า สังคมที่ดีกว่าในบริบทของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่สังคมที่ยึดหลักจริยธรรม รักษาระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิของผู้อื่น แต่หมายถึงสังคมที่เท่าเทียมกัน สังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นไปได้ยาก กระทั่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศทุนนิยม ซึ่งดูเหมือนเป็นระบบเศรษฐกิจที่คนรุ่นใหม่นิยมชมชอบ และความเชื่อของคนรุ่นใหม่คือ ความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันทหาร เพราะนั่นคืออุปสรรคสำคัญ พวกเขาเชื่อเช่นนั้นจริงๆ 

ความเชื่อแบบนี้ของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ได้รับการป้อนและปลูกฝังผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในชั้นเรียนและใน social media โดยกลุ่มคนที่มีเป้าหมายที่เป็นที่ทราบกันอยู่ เชื่อว่าผู้ที่ยอมนำอนาคตตัวเองมาเสี่ยง หรือกระทั่งเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อความเท่าเทียมกัน เพื่อสังคมที่ดีกว่า ส่วนใหญ่ทำด้วยความต้องการที่บริสุทธิ์ ด้วยความเชื่อดังกล่าวข้างต้น

คงยากมากที่จะเปลี่ยนความคิดของพวกเขาในระยะเวลาสั้นๆ แต่วันหนึ่งในอนาคตพวกเขาจะมองเห็นและเข้าใจได้เอง ณ ขณะนี้เราคงทำได้เพียงประคับประคอง ประนีประนอม ผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่ให้เกิดการสูญเสีย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับฝ่ายใด 

ขอบอกว่า พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองใด ที่ทำบาปไว้กับบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่มีทางที่จะได้เป็นรัฐบาล และจะมีแต่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ขอย้ำเป็นครั้งที่เท่าใดไม่ได้จำว่า

เวรกรรมมีจริง


ที่มา: https://www.facebook.com/100000016923106/posts/pfbid02tMhjUKfvpW3kcskC4t2yToBEvByFK86qyUPpiUtACNV263QVuBmAyp3Zxe9fLKF8l/?mibextid=Nif5oz