TIME TO CHANGE เมื่อประเทศเปลี่ยนไป

หากใครเคยผ่านไปบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร คงคุ้นเคยกันดีว่า ยังมีอีกหนึ่งสะพานที่ตั้งอยู่คู่ขนานกัน นั่นคือ สะพานพระปกเกล้า หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า สะพานพระปก 

บริเวณสะพานพระปกเกล้า ยังมีสะพานที่ถูกสร้างมาด้วยกันตั้งแต่ปี 2527 เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน แต่ต่อมาเมื่อโครงการถูกระงับ สะพานจึงไม่ถูกสร้างต่อ ไม่มีทางขึ้นและทางลง และถูกปล่อยร้างไม่ได้ใช้งานมากว่า 30 ปี จนถูกเรียกขานว่าเป็น 'สะพานด้วน'

ต่อมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า หรือที่เรียกว่า สะพานด้วน ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ กระทั่งกลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร

และถูกเรียกขานกันภายใต้ชื่อว่า 'พระปกเกล้าสกายปาร์ค' หรือสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ซึ่งเหมือนเป็นการ 'ชุบชีวิต' สะพานร้างที่ไร้ประโยชน์ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แถมยังกลายเป็นแลนด์มาร์คของคนกรุงเทพอีกแห่งหนึ่ง ให้ได้มาใช้ประโยชน์ ทั้งการสัญจร การออกกำลังกาย หรือแม้แต่ได้พักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางวิวสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยา

พระปกเกล้าสกายปาร์ค มีระยะทางยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันตกความสูง 2-3 เมตร แต่เหนืออื่นใด คือการปรับปรุงพื้นที่รกร้าง ให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคน โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาทำการเปิดสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมยกย่องให้เป็นโครงการตัวอย่าง ที่หลายภาคฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ นำอัตลักษณ์ของชุมชนมาเพิ่มมูลค่า และทำให้เกิดประโยชน์ใช้สอยร่วมกัน

ปัจจุบัน พระปกเกล้าสกายปาร์ค เปิดใช้มากว่า 3 ปี และเป็นพื้นที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดี ๆ ที่ประเทศไทย 'เปลี่ยนได้' หากว่าทุกคนร่วมมือกัน และเห็นซึ่ง 'ประโยชน์ของชาติ' เป็นที่ตั้งร่วมกัน