'นักวิจัย' เผย ผลสำรวจพบ 'องคชาต' ของผู้ชายทั่วโลก เพิ่มขึ้นถึง 24% ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

(21 ก.พ. 66) ทีมนักวิจัยทางการแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ (urology) จากสหรัฐฯ และอิตาลี ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร The World Journal of Men’s Health โดยระบุว่า ขนาดของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเต็มที่นั้น ดูเหมือนว่าจะขยายยาวเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้

ขนาดของอวัยวะเพศชายดังข้างต้น เป็นค่าเฉลี่ยที่ได้จากการสำรวจประชากรบุรุษทั่วโลก 55,761 คน ในการสำรวจหลายครั้งที่จัดทำขึ้นระหว่างปี 1942-2021

ทีมผู้วิจัยบอกว่า ค่าเฉลี่ยดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือในระดับสูง เพราะการตรวจวัดขนาด 'น้องชาย' ในการสำรวจทุกครั้ง ทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เครื่องมือได้มาตรฐาน โดยไม่นำเอาข้อมูลจากการวัดขนาดด้วยตนเองของกลุ่มตัวอย่างมาพิจารณาร่วมด้วย

ผลการสำรวจพบว่า ความยาวของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเต็มที่ ในหลายภูมิภาคของโลกและในทุกกลุ่มอายุ เพิ่มขึ้นถึง 24% ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญอย่างสูง โดยความยาวของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 12.3 เซนติเมตร (4.8 นิ้ว) ไปเป็น 15.2 เซนติเมตร (6 นิ้ว) ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยไม่พบความเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยความยาวอวัยวะเพศชาย หากตรวจวัดขณะที่กำลังผ่อนคลายหรืออ่อนตัวในเวลาปกติ

ศ.นพ. ไมเคิล ไอเซนเบิร์ก ผู้นำทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ บอกว่า สาเหตุที่ริเริ่มทำการสำรวจ เพราะสงสัยว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์ของเพศชาย เช่น จำนวนสเปิร์มที่มีแนวโน้มลดลง มีความเกี่ยวข้องกับขนาดของอวัยวะเพศที่อาจเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่

“เราพบว่า ขนาดของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเต็มที่ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี ทำให้น่าเป็นห่วงว่า นี่คือผลของการได้รับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ยาฆ่าแมลง สิ่งปนเปื้อนในอาหาร ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือของใช้เพื่อสุขอนามัยต่าง ๆ”

“สารเคมีเหล่านี้ อาจไปรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ และส่งผลให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนได้ เหมือนกับกรณีที่เด็กทุกวันนี้ เจริญเติบโตกันอย่างรวดเร็ว จนเป็นหนุ่มเป็นสาวไวยิ่งกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของอวัยวะเพศ” ศ. นพ. ไอเซนเบิร์กกล่าว

ทีมผู้วิจัยมีแผนจะทำการสำรวจอีกครั้ง โดยให้ครอบคลุมประชากรบุรุษทั่วโลกในวงกว้างกว่าเดิม เพื่อยืนยันว่าแนวโน้มที่ค้นพบในครั้งนี้ถูกต้อง ซึ่งการตรวจสอบซ้ำจะนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมได้อย่างแน่ชัดว่า สารเคมีชนิดใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศชายกันแน่


ที่มา : https://www.bbc.com/thai/articles/c13g71pnd70o