'วราวุธ ศิลปอาชา' รมต.ผู้ Speak English ชนิดไฟแล่บ! กับผลงานโบแดง 'ลดถุงพลาสติก' เปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคม

เป็น รมต.อีกคนที่มีผลงาน 'ตึง' ไม่แพ้ใครๆ สำหรับ 'วราวุธ ศิลปอาชา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถมที่ผ่านมา ถ้ายังจำกันได้ รมต.ท็อป-วราวุธ ยังโชว์ทักษะด้านภาษาอังกฤษแบบตึงเป๊ะ ตอบคำถามสื่อต่างประเทศ เมื่อคราวเกิดปัญหาน้ำท่วมเดือนกันยายนปีก่อน งานนั้นเล่นเอากลายเป็นไวรัลให้ถูกพูดถึงกันไปทั้งเมือง

แต่หากว่าจะหยิบยกเอาผลงานที่เรียกว่าเป็น 'ชิ้นโบแดง' ของ รมต.แห่งเมืองสุพรรณคนนี้ คงต้องยกให้กับแคมเปญ 'การลดถุงพลาสติก' ซึ่งกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึง และส่งผลต่อพฤติกรรมผู้คนในประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไป เพียงไม่กี่เดือน หลังการเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ 'วราวุธ ศิลปอาชา' เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 62  เจ้าตัวประกาศหนึ่งเป้าหมายสำคัญต่อสาธารณะ คือการเดินหน้าโรดแมป การจัดการ 'ขยะพลาสติก'  ตั้งเป้าลดและเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติกภายในปี 2565

แต่ที่ฮือฮาคือการประกาศดีเดย์ 'งดแจกถุงพลาสติก' ในเครือห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อ กว่า 43 ราย  เริ่มทันที วันที่ 1 มกราคม 2563 การประกาศหักดิบ งดแจกถุงพลาสติกในห้าง และร้านสะดวกซื้อครั้งนั้น มาพร้อมกับเสียงหนุนและต้าน โดยเฉพาะจากผู้คนที่คุ้นชินกับความสะดวกสบายแบบเดิม แต่ก็เป็นการนับหนึ่งให้ 'สังคมไทย' เริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคครั้งใหญ่ นับแต่นั้นมา 

แม้จะมีเสียงบ่น จากมาตรการหักดิบ แต่กระแสตอบรับก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาพของคนหิ้วถุงผ้าเข้าไปใส่ของในห้างร้าน การใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก หรือการพกแก้วแบบที่ใช้ซ้ำได้ เริ่มเป็นภาพชินตา

แต่น่าเสียดาย ที่ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน โลก และไทยต้องเผชิญการรุกรานของศัตรูที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อย่าง 'โควิด-19' ความต่อเนื่องของการลด เลิกใช้พลาสติก ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง มีอันต้องสะดุดลง

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ตลอดปี 2562 คนไทยสร้าง 'ขยะพลาสติก' เฉลี่ย 96 กรัม/คน/วัน ขณะที่ช่วง 'โควิด-19' ปี 2563 ปริมาณขยะพลาสติก กลับเพิ่มขึ้นกว่า 40% และเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในช่วงกลางปี 2564

เป็นเรื่องน่าเสียดายแต่เข้าใจได้ เพราะในห้วงเวลาดังกล่าว การใช้ภาชนะพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เพื่อลดการสัมผัส และรักษาระยะห่าง ในช่วงที่มีสถานการณ์ระบาด และการกักตัวนั่นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยง และคลี่คลายในการติดเชื้อโควิด-19 ให้กลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัด ว่าหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด- 19 แล้ว สถานการณ์ขยะพลาสติกในบ้านเรา กลับมาลดลงกว่าเดิมหรือไม่ แต่ล่าสุด ยังเห็นความต่อเนื่อง เมื่อคณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 ในช่วงปี พ.ศ. 2566-2570 เน้นย้ำการจัดการพลาสติกที่ยั่งยืนด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม , ลดการบริโภคที่สร้างขยะพลาสติก , จัดการขยะพลาสติกที่ผ่านการบริโภคมาแล้ว และสุดท้ายคือ ป้องกันการเกิดขยะพลาสติกในทะเล พร้อมตั้งเป้าขยะเข้าสู่ระบบฝังกลบ-รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ 100 % และลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลให้ได้ 50% ภายในปี 2570 

ต้องติดตามต่อว่า หลังเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในไม่ช้านี้ โรดแมปที่วางไว้ จะถูกสานต่อหรือไม่ 

แต่ที่แน่ ๆ การตัดสินใจเดินหน้าแบบ 'หักดิบ ไม่กลัวถูกว่า' ด้วยการพรากถุงพลาสติกไปจากมือนักช้อปทั้งหลาย ของรัฐมนตรี วราวุธ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยไปตลอดกาลเรียบร้อยแล้ว