ย้อนตำนาน 'รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ' กับ 'รูปแบบการเลือกตั้ง' ที่เปลี่ยนไป

30 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์การเมือง ที่นำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ 2540 2550 และ 2560  โดยมีรูปแบบการเลือกตั้งที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เราจึงขอย้อนรอยเรื่องราวการเลือกตั้งที่สะท้อนจากรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งนอกจากจะแตกต่างกันแล้ว ยังส่งผลต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอีกด้วย

#รัฐธรรมนูญ2540…จุดเริ่มต้นบัตร 2 ใบ "เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ"
ปี 2538 ยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ขึ้น และนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มี ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.  99 คน  ประกอบด้วย สสร. 76 คนที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน กับตัวแทนนักวิชาการและผู้เชี่ยวขาญในสาขาต่างๆ ที่มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาให้สภาพิจารณา อีก 23 คน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อรัฐสภา จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชน และเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากที่สุด 

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 พลิกโฉมการเมืองไทยไปจากเดิม ด้วยระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดย ส.ส.  500 คน มาจากแบบเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว 400 คน และมาจากแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ใชับัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ใบแรก 'เลือกคน' คือ ส.ส.เขต แบบเขตเดียวเบอร์เดียว และ ใบที่สองเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ 'ปาร์ตี้ลิสต์' เป็นครั้งแรกเพื่อเพิ่มบทบาทของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรค รวมถึง 'นายกรัฐมนตรี' ก็ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ขณะที่ ส.ว. 200 คน ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรองกฎหมาย รวมถึงมีอำนาจในการ 'ถอดถอน' ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด 

รัฐธรรมนูญ ปี 40 ยังเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรอิสระ อย่าง  กกต.  ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นองค์กรตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ กลไกระบบเลือกตั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังส่งผลให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และมีน้อยพรรค ทำให้การบริหารบ้านเมืองมีความต่อเนื่องมากขึ้น ปิดข่องรัฐบาลผสมที่มีหลายพรรคการเมือง 

แต่ระบบนี้ใช้ในการเลือกตั้งได้เพียงแค่ 2 ครั้ง คือในปี 2544 และ 2548 ก็เกิดปัญหาใหม่ เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส ในการบริหารประเทศ และเกิดปัญหาเกี่ยวกับกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล ที่ทำได้ยาก จนถูกขนานนามว่าเป็น 'เผด็จการรัฐสภา' กระทั่ง 19 กันยายน 2549 เกิดการรัฐประหาร นำมาสู่การกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ฉบับปี 2550

#รัฐธรรมนูญ2550 ปรับระบบ 'ปาร์ตี้ลิสต์' จากหนึ่งเขตประเทศ เป็น 8 กลุ่มจังหวัด
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการลงประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผ่านการเห็นชอบ ร้อยละ 57.81 ทั้งนี้มีการปรับระบบเลือกตั้ง กำหนดให้ ส.ส. มีจำนวน 480 คน มาจากแบบเลือกตั้งแบ่งเขตเรียงเบอร์ 400 คน และมาจากแบบบัญชีรายชื่อ จากเขตเลือกตั้งเดียวทั้งประเทศ มาเป็นกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวม 80 คน

ส่วน ส.ว. มีจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งใน 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน และที่เหลือมาจากการสรรหา ส่วนการเลือกตั้ง ในช่วงของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ได้ 'สมัคร สุนทรเวช' เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ในยุค 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' สภามีมติแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้บัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั่วประเทศ 125 คน ก่อนมีการเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ต่อมา ประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมสุดซอย รวมถึงปัญหาทุจริตจำนำข้าว นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ แนวโน้มเดินไปสู่ทางตันและความรุนแรง จึงนำมาซึ่งการยึดอำนาจอีกครั้งโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และนำมาซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2560

#รัฐธรรมนูญ 60 จัดสรรปันส่วนผสม - คะแนนไม่ทิ้งน้ำ

รัฐธรรมนูญ 2560 มีการปรับระบบเลือกตั้งใหม่ เหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้เป็นแบบ 'ระบบจัดสรรปันส่วนผสม' และปรับระบบไม่ให้คะแนนเสียงส่วนน้อย 'ถูกทิ้งน้ำ' โดย ส.ส. 500 คนมาจากระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด 350 เขต เขตละคน และอีก 150 คนมาจาก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ โดยคิดคะแนนจาก "สัดส่วน ส.ส.ที่พึงมี" 

ส่วนนายกรัฐมนตรี มีการเปิดทางให้เสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ได้  ขณะที่ ส.ว. มีจำนวน 250 คนมาจากการแต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี และมีสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผลจากการการปรับระบบเลือกตั้ง ทำให้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้ง ในปี 2562 มีจำนวนหลากหลายพรรค และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเล็ก ที่ได้รับอานิสงส์จากการคิดคะแนนจากสัดส่วน ส.ส. พึงมีอยู่จำนวนหนึ่ง

พรรคพรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ ส.ส. มากที่สุด แต่พรรคพลังประชารัฐ สามารถเป็นแกนนำจับขั้วตั้งรัฐบาล จาก 19 พรรค นับเป็นรัฐบาลผสมที่มีจำนวนพรรคมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

และทั้งหมดคือการย้อนมองรูปแบบการเลือกตั้งที่แตกต่างกันไปจากรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนการเตรียมการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ล่าสุด ทาง กกต.มีการประกาศเขคเลือกตั้ง โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 350 เขต เป็น 400 เขต มีการระบุถึงจำนวนราษฎรหรือประชาชนโดยเฉลี่ย 165,226 คน ต่อ ส.ส.หนึ่งคน 

สำหรับพื้นที่ ที่มีเขตเลือกตั้งมากสุดคือ กรุงเทพมหานคร มีประชากร 5,494,932 มี ส.ส.เขตรวม 33 คน ตามด้วย นครราชสีมา ประชากร 2,630,058 มีส.ส.ได้16 คน อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงทักท้วงถึงหลักเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยขอให้ กกต. มีการทบทวนให้เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งคงต้องรอดูความชัดเจนที่มีมากขึ้นหลังจากนี้ 

ส่วนประชาชนก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้งที่จะไม่ขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า...