'อนุทิน ชาญวีรกูล' รมต.สาธารณะสุข 'หมอหนู' ผู้ฝ่าทุกดราม่า โควิด!

พูดถึง '8 ปีรัฐบาลลุงตู่' ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ 'เหล่ารัฐมนตรี' ซึ่งหลาย ๆ คนสร้างผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ พูดให้เข้ายุคเข้าสมัย ต้องเรียกว่า มีหลายคนที่เป็น 'รมต.ตัวตึง' ตึงทั้งผลงาน ตึงทั้งชื่อเสียง แถมยังตึงทั้งเรื่องข่าวคราว 

ว่าแล้วจึงหยิบเอาเรื่องราว 'เหล่า รมต.ตัวตึง' 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาลลุงตู่ มีรัฐมนตรีคนไหนผลงานตึง ๆ ปัง ๆ กันบ้าง เริ่มต้นที่ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ 'หมอหนู' ขวัญใจมหาชน นี่เอง 

ย้อนเวลากลับไปราวสามปีก่อน 13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในไทย เป็นนักท่องเที่ยวหญิงจีน อายุ 61 ปี และนับจากนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่ง 'มหากาพย์โควิด-19' 

แน่นอนว่า ด่านหน้าที่ต้องเสี่ยง ทำงานหนักในการรับมือและยับยั้งสถานการณ์ระบาด คือ เหล่าบรรดาบุคลากรใน 'กระทรวงหมอ' ภายใต้การนำของ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องมีวิธีสื่อสาร ฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามในสถานการณ์ระบาด โควิด-19 ด้วยวาจา ท่าที และแนวทางที่ "ถึงลูกถึงคน" แต่ทั้งหมดนำพาซึ่ง 'ผลงาน' ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ แม้ว่าจะต้องฝ่าด่านอภิมหากระแสดรามา หลายช่วงหลายตอนทีเดียว

#ดราม่า1 จวกนักท่องเที่ยว ปัดรับหน้ากากอนามัย! 
ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤติการระบาด ด้วยระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ทำให้เชื้อเดินทางไปได้ไกล ทั้งยังไม่มียา และวัคซีน ดังนั้นมาตรการวัคซีนทางสังคม รักษาระยะห่าง  ล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อคือวิธีที่พอทำได้  

นี่เอง จึงเป็นที่มาของภาพของ 'หมอหนู' ออกเดินรณรงค์แจกหน้ากากอนามัยบนสถานีรถไฟฟ้าถูกเผยแพร่ตามหน้าสื่อ 

แต่กลับกลายเป็นประเด็นดรามา หลังคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าตัว ที่ออกปากตำหนิคนที่ไม่ไส่ - ไม่รับหน้ากากอนามัย ว่าเป็นคนทำร้ายบ้านเมือง รวมถึงต่อว่าถึงนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่ปัดมือ ไม่ยอมรับหน้ากากอนามัย ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สมควรไล่ออกนอกประเทศไป

ไม่ทันข้ามวัน ก็เกิดกระแสดรามา วิจารณ์ถึงท่าทีกราดเกรี้ยวของรัฐมนตรีสาธารณสุข นักวิชาการบางคนโพสต์ข้อความติติงว่า จะไปตำหนิคนไม่ใส่หน้ากากอนามัยเป็นคนทำร้ายบ้านเมืองไม่ได้ และคนที่ไม่ป่วย ก็ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย

แม้ดรามานี้ จะจบลงที่ รมต.อนุทิน โพสต์ความผ่านเฟซบุกส่วนตัว ขออภัยที่มีอาการ 'หลุด' ใส่ชาวต่างชาติแถบยุโรปบางคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ และแสดงอาการรังเกียจคนไทยที่สวมหน้ากากอนามัย แต่ก็ยังตอกย้ำแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขไทย กำลังเดินหน้าทำต่อเนื่อง 

"เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ เพราะเราตื่นตัวก่อน และทำงานจริงจังตั้งแต่เริ่มต้น" เป็นประโยคยืนยันจากเจ้ากระทรวง 

ไม่นานจากนั้น ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ชาติตะวันตก ก็ต้องประกาศใช้มาตรการ 'วัคซีนทางสังคม' โดยเฉพาะมาตรการบังคับ 'สวมหน้ากากอนามัย' เพื่อป้องกันการระบาด ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั่นเอง

#ดรามา2 โต้ข้อกล่าวหา วัคซีนล่าช้า - แทงม้าตัวเดียว 
วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงเร็ว และรุนแรง ทำให้กระบวนการพัฒนาวัคซีน ที่ตามลูปปกติต้องใช้เวลาวิจัย พัฒนา และทดลองใช้ อย่างน้อย 4-6 ปี แต่สถานการณ์ระบาดโควิด- 19 ทำให้กระบวนการต้องถูกเร่งรัด ข้ามบางขั้นตอน หรือนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้ทันกรอบเวลาไม่เกินปีครึ่ง แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีน ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะตามมาด้วย 

27 พ.ย. 2563 รัฐบาลไทยลงนามสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับแอสตราเซเนกา โดยมี บริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ตั้งเป้าให้คนไทยมีวัคซีนใช้ ในต้นปี 2564 

แต่ด้วยสถานการณ์ความต้องการวัคซีนที่พุ่งสูง การบริหารจัดการวัคซีนโควิด- 19 ทั่วโลกไม่นิ่ง ทำให้แผนการจัดหาวัคซีนของไทย ต้องปรับเปลี่ยน และยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์  

ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ล็อกเป้าถล่มนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าประเมินสถานการณ์และตัดสินใจผิดพลาด ทำให้การนำเข้าวัคซีนล่าช้า และการเลือกผูกสัญญากับแอสตราเซเนกา แทนการเลือกบริหารความเสี่ยง โดยจัดหาวัคซีนผ่านช่องทางอื่น ๆ นั้น มีนัย ไม่ต่างจากการ 'เลือกแทงม้าตัวเดียว' 

"วันนี้ต้องขออนุญาตใส่แมสก์ 2 ชั้น เพราะอีกสักพักจะมีหนูตายคลุ้งสภา" วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล โหมโรงก่อนเข้าสู่เนื้อหาอภิปรายเผ็ดร้อน

และเมื่อถึงคราวที่ 'หมอหนู' ลุกขึ้นแจงปมต่าง ๆ ในช่วงท้าย ยังวกกลับมา ระบุว่า "กลิ่นหนูตายเน่าพอ ๆ กับกลิ่นปากเหม็นไม่ต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าผมยังทำประโยชน์ให้บ้านเมืองและประเทศได้มากกว่า เอาไว้ท่านมีโอกาสเข้ามาก่อน ค่อยมาพิสูจน์กัน"

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้น จบลงที่ 10 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก รอดทุกคน! แต่ผลลัพธ์ และน้ำหนักของคำตอบจาก 'รมต.อนุทิน' ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้น ถูกประทับตราด้วยคะแนนไว้วางใจสูงที่สุดคือ 275 ไม่ไว้วางใจ 201 และงดออกเสียง 6

#คลี่คลายดรามา จัดหาวัคซีนตามเป้า 
หลังผ่านวิกฤติ ความสูญเสีย และภาวะความยากลำบากจากการระบาดของโควิด- 19 ที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี  สถานการณ์เริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยสำคัญคือ การได้รับ 'วัคซีน' ครบโดสจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ 

ประเทศไทย ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบ 100 ล้านโดส ในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ 'รัฐมนตรีอนุทิน' เคยลั่นคำ ตั้งเป้าไว้ 

15 ก.ค. 2565 เขาให้สัมภาษณ์สื่อว่า "มีคนเคยพูดว่า ถ้าฉีดวัคซีนถึง 100 ล้านโดสภายในปี 2564 ร้อยบาท เอาแค่ (ขี้หมา) กองเดียว แต่วันที่ 21 ธ.ค. 2564 ฉีดครบ 100 ล้านโดสแล้ว"

คนที่ 'อนุทิน' เอ่ยถึง ไม่ใช่ใครอื่น คืออดีตนายกรัฐมนตรี 'ทักษิณ ชินวัตร' ที่เคยพูดไว้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ในช่วงที่การบริหารจัดการวัคซีน ยังเป็นไปอย่างทุลักทุเลว่า "โอ้โห วันนี้ท่านมั่นใจว่าร้อยล้านโดสมาแน่นอนสิ้นปีนี้ ร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียว สิ้นปีนี้ไม่มีร้อยล้านโดสฉีดให้ประชาชน"

ซึ่งต่อมาหลังรัฐบาลจัดหาวัคซีนได้ตามเป้า 'ทักษิณ' ได้กล่าวถึงประเด็นนี้อีกครั้ง ขณะไลฟ์สดผ่านคลับเฮาส์ ยอมรับแพ้พนันเรื่องการจัดหาวัคซีน แต่ยังบอกนายอนุทินให้เตรียมขี้หมาไว้เยอะหน่อย จะเอาไปอุดรูรั่วบนหลังคารัฐสภาที่บริษัทของนายอนุทินสร้าง ปิดท้ายวิวาทะเรื่องนี้ ในวันที่ 20 ก.ค. 2565 หมอหนู ให้สัมภาษณ์ว่า "เอาไปทิ้ง ไม่ได้เอาไปฝาก หยอกกันนิดหน่อย ไม่มีปัญหา" เป็นอันจบกัน

เรื่องวิวาทะกัน ถือเป็นสีสันแวดวงการเมือง แต่ทั้งหมดทั้งมวล คือ 'ผลงาน' ที่ รมต.อนุทิน ทำได้สมราคา เหนืออื่นใด คือการนำประชาชน 'ก้าวพ้น' จากวิกฤติโรคระบาด ซึ่งหากเหลียวมองไปรอบโลก มีประชากรจำนวนมากที่ต้องล้มหายตายจากเพราะ 'โควิด-19' และแม้ประเทศไทยจะมีการสูญเสียผู้คนจากโรคระบาดนี้เช่นกัน แต่นี่คือความพยายามประคับประคองให้เกิดการ 'สูญ' และ 'เสีย' ให้น้อยที่สุด

อาจไม่ถูกใจใครไปทั้งหมด แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสำหรับประชาชนหมู่มาก ถือเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชม และต้องปรบมือให้ รมต.ผู้ฝ่าทุกกระแสดรามา 'อนุทิน ชาญวีรกูล'