‘สหพรรค’ รบ.วิบากกรรมของ ‘หม่อมคึกฤทธิ์’ ดั่งถูก ‘สหบาทา’ จากผลประโยชน์อันมิลงรอย

ณ ปัจจุบันนี้ เราจะเห็น ส.ส. ในพรรคต่าง ๆ ย้ายพรรคกันอย่างสนุกสนาน เพื่ออนาคตหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็หวังจะได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฟากฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะได้อยู่ในพรรคอันดับหนึ่งที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคใหญ่อันดับรอง ๆ ที่มีโอกาสต่อรองสูง 

แต่หากย้อนกลับไปในอดีต มีพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.เพียง 18คน ที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ ส.ส. ทั้งสภามีที่นั่งรวม 296 คน 

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้แล้วก็คิดตามว่า...มันต้องมีพลังในการประสานประโยชน์เบอร์ไหนถึงทำได้ ว่าแล้วก็ลองไปติดตามกันดูครับ 

ในการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการปกครองของระบอบเผด็จการทหาร พร้อมเปลี่ยนจากการเลือกตั้งจากเขตจังหวัด มาเป็นหลายอำเภอรวมกันเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และมีจำนวน ส.ส. ได้เขตละ 3 คน 

การเลือกตั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ประชาธิปไตยมีความเบ่งบานอย่างมาก จึงทำให้มีพรรคเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์ และผลจากการเลือกตั้งก็ได้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ ถึง 22 พรรค โดยชัยชนะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค โดยได้ ส.ส. ไป 72 คน ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 คน, พรรคชาติไทย 28 คน, พรรคเกษตรสังคม 19 คน, พรรคกิจสังคม 18 คน ทั้งนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบอีก 13 พรรค และมีพรรคที่ได้เพียง 1 คน อีก 5 พรรค ซึ่งหากจะตั้งรัฐบาลได้จะต้องมี ส.ส. 135 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 269 คน 

ในฐานะพรรคอันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ได้สิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เองคือ คำสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงว่าพรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ ‘อดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย’ ซึ่งเคยเป็นพรรคของ จอมพล ถนอม กิตติขจร โดยเด็ดขาดเพราะเป็นพรรคเชื้อสายทรราช (คุ้น ๆ อีกแล้ว) ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคมซึ่งมี ส.ส. 45 คน รวมไปถึงพรรคสังคมชาตินิยมอีก 16 คน นอกจากนี้ ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยซึ่งนำโดย พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร ได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ถ้ามองกันรวม ๆ แล้ว ที่การตกลงกันไม่ได้นั้น น่าจะเกิดจากความไม่ตั้งใจจริงที่จะเจรจากันมากกว่า รวมถึงความไม่สนใจที่จะไปเจรจาจับมือกับกลุ่มพรรคต่ำสิบ 

ทำให้สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปรวมกับพรรคเกษตรสังคมที่มี 19 คน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม รวมมีคะแนนเสียงสนับสนุน 103 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งของสภาที่ต้องมี 135 คน เลยต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ล้มเหลว เพราะเมื่อ เมื่อถึงวันแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจในการจัดตั้งรัฐบาลต่อสภา ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ไม่ได้รับการไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาล จึงต้องสละสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลไป แม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ก็ล้มเหลวในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล แท้งตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นช่องที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.เพียง 18 คน ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ‘สหพรรค’ ขึ้น

หลังความล้มเหลวของ ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ ก็ถึงคิวของ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นการเจรจาไปที่พรรคการเมืองที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย (ซึ่งหม่อมพี่ไม่เอา) รวมกลุ่มกันในชื่อ ‘กลุ่มรวมชาติ’ เป็นแกนนำของ ‘พรรคธรรมสังคม’ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 มี ส.ส. 45 คน ได้เจรจากับพรรคกิจสังคม โดยหวังใช้ชื่อเสียงและบารมีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาช่วยเรื่องภาพลักษณ์ในอดีตของกลุ่มตน

แม้พรรคกิจสังคมจะมี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่งในสภา แต่ด้วยกลวิธีการเจรจาต่อรอง สร้างแรงจูงใจจากความสามารถของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ทำให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ !!! โดยมีพรรคหลัก ๆ อย่าง พรรคกิจสังคม พรรคไท พรรคพลังประชาชนและพรรคอื่น ๆ ที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า ‘รัฐบาลสหพรรค’ หรือฉายาที่มีคนตั้งให้ว่า ‘รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่’ เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นจาก 12 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี (ก่อนจะดึงพรรคอื่นมารวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 16 พรรค) 

ที่สุดแล้วการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518 ผลการลงมติออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง ส.ส. 135 คน และ พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ได้ 59 คน งดออกเสียง 88 คน และคณะรัฐบาลได้รับการไว้วางใจไปด้วยคะแนน 140 ต่อ 124 เสียง ไม่มาก ไม่น้อย 

รัฐบาลสหพรรคนี้ มีนโยบายที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างแรกคงเป็นนโยบายการพัฒนาชนบทใน ‘โครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยเหลือประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง’ หรือเรียกว่า ‘โครงการเงินผัน’ สู่ตำบลทั่วประเทศ ให้ประชาชนได้มีงานทำและการจัดสวัสดิการสังคม การให้รักษาพยาบาลฟรี การศึกษาฟรี การขึ้นรถเมล์ฟรี ฯลฯ อีกหนึ่งนโยบายที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของลัทธิคอมมิวนิสต์ คือการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เช่นประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในแถบอินโดจีน คือประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งแหกกรอบพอสมควรเลยทีเดียว 

แต่ด้วยความมากหน้าหลายพรรคของ ‘รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่’ จึงทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ทำให้มีเสถียรภาพค่อนข้างต่ำ โดยปัจจัยความขัดแย้งนั้นมีตั้งแต่การขัดกันภายในของ พรรคธรรมสังคม และพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล กับพรรคต่ำสิบก็ที่มีปัญหาในเรื่องของเก้าอี้รัฐมนตรี เช่น พรรคสันติชนที่ต่อต้านหัวหน้าพรรคตัวเองในเรื่องของการโยกย้ายตำแหน่งรัฐมนตรีจนทำให้ ส.ส. 7 จาก 8 คน ประกาศไม่สนับสนุนรัฐบาล ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ต้องปรับคณะรัฐมนตรีแล้วไปดึงพรรคเกษตรสังคมซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านมาร่วมรัฐบาล โดยหวังจะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้น แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้าม 

นอกเหนือจากความขัดแย้งกันเองของพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ก็ยังมีปัจจัยภายนอกอย่าง สารพัดการประท้วง สารพัดการเรียกร้องผลประโยชน์ เช่น การประท้วงสัมปทานขุดแร่ที่จังหวัดพังงา ซึ่งมีกลุ่มประชาชนและนิสิตนักศึกษาออกมาประท้วงให้ยกเลิกเพราะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อีกเรื่องก็คือการต่อต้านสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการตั้งฐานทัพในประเทศไทย ที่กลุ่มผู้ต่อต้านอ้างว่าทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานในทำลายความสงบสุขของประเทศเพื่อนบ้าน หรืออย่างเรื่องการเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวไร่ชาวนาและผู้ใช้แรงงาน ในด้านค่าแรง หนี้สิน การละเมิดกฎหมาย ฯลฯ ยังไม่รวมถึงการขัดแย้งในด้านอุดมการณ์และผลประโยชน์ซึ่งชักนำไปสู่การลอบสังหารผู้นำกลุ่มและการยัดเยียดข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้สนใจในเรื่องราวเหล่านี้เลยแม้แต่นิดเดียว !!!! 

จากปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของรัฐบาลสหพรรคในช่วงไม่เกิน 1 ปี ทำให้มีข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางกลุ่มจะไปร่วมกับฝ่ายค้านในการลงมติไม่ไว้วางใจ คือรัฐบาลโดยการนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อยากจะเดินต่อแต่ก็ต้องถูกกระตุกให้หันหลังและเดินกลับไปแก้ปัญหาทุกที สุดท้าย นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 โดยมีอายุ 1 ปี 1 เดือน กับอีก 4 วัน

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยกล่าวถึง บทบาทการทำหน้าที่ ‘นายกรัฐมนตรี’ จากมุมมองของท่านไว้ว่า…

...“ขอเรียนว่า ได้อดทนมาเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน กับ 4 วัน อดทนให้คนเหยียบย่ำดูถูก ทำทุกอย่างโดยตนเองไม่ใช่คนเช่นนั้นเลย พูดไปจริงๆ ก็เกิดมาเป็นลูกเจ้าลูกนาย การศึกษาก็สูง พ่อแม่ก็เลี้ยงมาดี ไม่เคยให้ใครมากระทืบเช้ากระทืบเย็น วันละ 3 เวลาหลังอาหารอย่างเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”...

หรืออย่างที่ท่านได้เคยแสดงความเห็นไว้ในหนังสือ ‘เกิดมาเป็นนายกฯ’ โดย อ.นรนิติ เศรษฐบุตร ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กล่าวไว้ว่า…

...“ถ้าไม่อยากแก่เร็ว ตายเร็ว ก็อย่าไปเป็นนายกรัฐมนตรีเมืองไทยเข้าก็แล้วกัน”...

เรื่องราวของการจัดตั้ง ‘รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่’ ที่เรียกว่า ‘สหพรรค’ สุดท้ายกลับกลายเป็น ‘สหบาทา’ ถล่มท่านอย่างไม่ยั้ง ภายหลังที่ท่านแพ้การเลือกตั้ง เขตดุสิต ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่หวนกลับมาร่วมรัฐบาลใด ๆ อีก แต่ท่านก็ยังคงเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง เป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นทางการเมือง อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ จนได้รับฉายาว่า ‘เสาหลักประชาธิปไตย’ 

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุ 84 ปี 172 วัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอชื่อต่อยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขา การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554 นับเป็นคนไทยลำดับที่ 20 ที่ได้รับการยกย่องนี้


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager