Tuesday, 14 May 2024
หม่อมคึกฤทธิ์

‘สหพรรค’ รบ.วิบากกรรมของ ‘หม่อมคึกฤทธิ์’ ดั่งถูก ‘สหบาทา’ จากผลประโยชน์อันมิลงรอย

ณ ปัจจุบันนี้ เราจะเห็น ส.ส. ในพรรคต่าง ๆ ย้ายพรรคกันอย่างสนุกสนาน เพื่ออนาคตหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็หวังจะได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฟากฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะได้อยู่ในพรรคอันดับหนึ่งที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคใหญ่อันดับรอง ๆ ที่มีโอกาสต่อรองสูง 

แต่หากย้อนกลับไปในอดีต มีพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.เพียง 18คน ที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ ส.ส. ทั้งสภามีที่นั่งรวม 296 คน 

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้แล้วก็คิดตามว่า...มันต้องมีพลังในการประสานประโยชน์เบอร์ไหนถึงทำได้ ว่าแล้วก็ลองไปติดตามกันดูครับ 

ในการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการปกครองของระบอบเผด็จการทหาร พร้อมเปลี่ยนจากการเลือกตั้งจากเขตจังหวัด มาเป็นหลายอำเภอรวมกันเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และมีจำนวน ส.ส. ได้เขตละ 3 คน 

การเลือกตั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ประชาธิปไตยมีความเบ่งบานอย่างมาก จึงทำให้มีพรรคเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์ และผลจากการเลือกตั้งก็ได้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ ถึง 22 พรรค โดยชัยชนะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค โดยได้ ส.ส. ไป 72 คน ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 คน, พรรคชาติไทย 28 คน, พรรคเกษตรสังคม 19 คน, พรรคกิจสังคม 18 คน ทั้งนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบอีก 13 พรรค และมีพรรคที่ได้เพียง 1 คน อีก 5 พรรค ซึ่งหากจะตั้งรัฐบาลได้จะต้องมี ส.ส. 135 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 269 คน 

ในฐานะพรรคอันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ได้สิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เองคือ คำสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงว่าพรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ ‘อดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย’ ซึ่งเคยเป็นพรรคของ จอมพล ถนอม กิตติขจร โดยเด็ดขาดเพราะเป็นพรรคเชื้อสายทรราช (คุ้น ๆ อีกแล้ว) ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคมซึ่งมี ส.ส. 45 คน รวมไปถึงพรรคสังคมชาตินิยมอีก 16 คน นอกจากนี้ ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยซึ่งนำโดย พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร ได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ถ้ามองกันรวม ๆ แล้ว ที่การตกลงกันไม่ได้นั้น น่าจะเกิดจากความไม่ตั้งใจจริงที่จะเจรจากันมากกว่า รวมถึงความไม่สนใจที่จะไปเจรจาจับมือกับกลุ่มพรรคต่ำสิบ 

ทำให้สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปรวมกับพรรคเกษตรสังคมที่มี 19 คน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม รวมมีคะแนนเสียงสนับสนุน 103 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งของสภาที่ต้องมี 135 คน เลยต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ล้มเหลว เพราะเมื่อ เมื่อถึงวันแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจในการจัดตั้งรัฐบาลต่อสภา ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ไม่ได้รับการไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาล จึงต้องสละสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลไป แม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ก็ล้มเหลวในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล แท้งตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นช่องที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.เพียง 18 คน ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ‘สหพรรค’ ขึ้น

หลังความล้มเหลวของ ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ ก็ถึงคิวของ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นการเจรจาไปที่พรรคการเมืองที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย (ซึ่งหม่อมพี่ไม่เอา) รวมกลุ่มกันในชื่อ ‘กลุ่มรวมชาติ’ เป็นแกนนำของ ‘พรรคธรรมสังคม’ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 มี ส.ส. 45 คน ได้เจรจากับพรรคกิจสังคม โดยหวังใช้ชื่อเสียงและบารมีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาช่วยเรื่องภาพลักษณ์ในอดีตของกลุ่มตน

แม้พรรคกิจสังคมจะมี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่งในสภา แต่ด้วยกลวิธีการเจรจาต่อรอง สร้างแรงจูงใจจากความสามารถของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ทำให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ !!! โดยมีพรรคหลัก ๆ อย่าง พรรคกิจสังคม พรรคไท พรรคพลังประชาชนและพรรคอื่น ๆ ที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า ‘รัฐบาลสหพรรค’ หรือฉายาที่มีคนตั้งให้ว่า ‘รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่’ เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นจาก 12 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี (ก่อนจะดึงพรรคอื่นมารวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 16 พรรค) 

ที่สุดแล้วการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518 ผลการลงมติออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง ส.ส. 135 คน และ พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ได้ 59 คน งดออกเสียง 88 คน และคณะรัฐบาลได้รับการไว้วางใจไปด้วยคะแนน 140 ต่อ 124 เสียง ไม่มาก ไม่น้อย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top