‘Franja Partisan’ โรงพยาบาลลับ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ ‘อนุสรณ์สถาน’ มรดกโลกของสโลวีเนีย

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงไม่ค่อยคุ้นกับประเทศ ‘สโลเวเนีย’ สักเท่าไหร่ หากแต่พูดถึงประเทศยูโกสลาเวียก็คงพอคุ้นอยู่บ้าง จริง ๆ แล้ว สโลเวเนียเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย ซึ่งล่มสลายไปในปี ค.ศ. 1992 

แต่เดิมสโลเวเนียเป็นรัฐเอกราช ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 ประชาชนชาวสโลวีนตัดสินใจก่อตั้งรัฐแห่งชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บ ต่อมาเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 รัฐแห่งชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บรวมตัวกับราชอาณาจักรเซอร์เบียกลายเป็นราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวียใน ค.ศ. 1929) 
 

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สโลวีเนียถูกยึดครอง โดยเยอรมนี อิตาลี และฮังการี และมีพื้นที่เล็ก ๆ อยู่ในการปกครองของรัฐเอกราชโครเอเชียซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดของนาซีเยอรมนี 

หลังจากนั้นสโลวีเนียก็เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียซึ่งเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ประเทศเดียวในกลุ่มตะวันออก ซึ่งไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกติกาสัญญาวอร์ซอ และล่มสลายหลังจากสงครามยูโกสลาเวีย ในปี ค.ศ. 1990

กลุ่มผู้นำของ Slovene Partisans จากซ้าย : Boris Kraigher, Jaka Avšič, Franc Rozman, Viktor Avbelj และ Dušan Kveder.

หลังจากรู้จักประเทศสโลวีเนียไปแล้ว คราวนี้มารู้จักสถานที่ที่มหัศจรรย์ในประเทศนี้กันบ้างนะครับ นั่นคือ ‘โรงพยาบาล’ Franja Partisan (Partizanska bolnica Franja ในภาษาสโลวีเนีย) เป็นโรงพยาบาลลับของกองกำลังพลพรรคชาวสโลเวเนีย (Slovene Partisans) ซึ่งทำการสู้รบเพื่อต่อต้านกองทัพนาซีเยอรมันและกองกำลังฟาสซิสต์อิตาลีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

โรงพยาบาลลับแห่งนี้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Dolenji Novaki ใกล้ ๆ กับเมือง Cerkno ทางตะวันตกของสโลวีเนีย ดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1943 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

โรงพยาบาล Franja Partisan ให้การรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากมาย มีทั้งทหารจากฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายอักษะ แม้ว่ากองกำลัง Wehrmacht (กองทัพเยอรมัน) ได้พยายามค้นหาโรงพยาบาลแห่งนี้หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยถูกค้นพบเลย และปัจจุบันโรงพยาบาล Franja Partisan กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ได้รับการคุ้มครองให้เป็นอนุสรณ์สถานทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญระดับชาติ

แผนผังและหมายเลขของอาคารโรงพยาบาลก่อนการถูกทำลาย

โดยโรงพยาบาลแห่งนี้ประกอบไปด้วย 
1. กระท่อมสำหรับผู้บาดเจ็บ หลุมหลบภัย
2. หน่วยแยก
3. กระท่อมปฏิบัติการ
4. ค่ายทหารแพทย์
5. หน่วยเอ็กซเรย์
6. ร้านขายเปลหาม
7. ห้องครัว
8. กระท่อมสำหรับผู้บาดเจ็บ ห้องรับประทานอาหาร
9. กระท่อมสำหรับผู้บาดเจ็บ ร้านค้า และเวิร์กช็อปของช่างไม้
10. ห้องพักพนักงาน
11. ห้องน้ำ และ ห้องซักรีด
12. สถานพยาบาล
13. ถังเก็บน้ำ
14. โรงไฟฟ้า
15. อาคารสำหรับฝังแขนขา
16. บังเกอร์เหนือ Pasica Gorge

หลายท่านคงสงสัยว่าโรงพยาบาลแห่งนี้รอดพ้นสายตาของนาซีเยอรมันไปได้อย่างไร คำตอบก็คือโรงพยาบาล Franja Partisan สร้างขึ้นในภูมิประเทศที่ทุรกันดารในช่องเขา Pasica อันห่างไกลทางตะวันตกของสโลวีเนียครับ 

นอกจากนี้ ทางเข้าของโรงพยาบาลถูกซ่อนอยู่ในป่า และสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ด้วยสะพานเท่านั้น สะพานสามารถยืดและหดได้ หากศัตรูอยู่ในบริเวณใกล้เคียงก็จะมีการหดซ่อนสะพานเพื่อรักษาความลับของทางเข้าสู่โรงพยาบาลลับ 

ส่วนในการเข้าสู่กระบวนการรักษา ผู้ป่วยจะถูกปิดตาระหว่างการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาล ทำให้ไม่รู้เส้นทางเข้าโรงพยาบาลที่แน่ชัด นอกจากนี้ รอบๆ โรงพยาบาลแห่งนี้ยังล้อมรอบไปด้วยทุ่นระเบิดและรังปืนกล และด้วยที่รอบๆ พื้นที่มีต้นไม้จำนวนมากจึงช่วยอำพรางอาคารจากการสอดแนมทางอากาศ

Viktor Volčjak ผู้ก่อตั้งและผู้สร้างโรงพยาบาลคนแรก

ส่วนผู้ก่อตั้งและผู้สร้างโรงพยาบาลลับแห่งนี้คนแรกคือ Viktor Volčjak แต่โรงพยาบาลได้รับการตั้งชื่อตามผู้จัดการและแพทย์หญิง Franja Bojc Bidovec ซึ่งเริ่มทำงานที่นั่นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ในบรรดาแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลนั้นมี นายแพทย์ Antonio Ciccarelli ชาวอิตาลีด้วย 

แพทย์หญิง Franja Bojc Bidovec 

โรงพยาบาล Franja Partisan ยังคงสภาพสมบูรณ์จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยได้มากถึง ๑๒๐ รายต่อครั้ง แต่ในระหว่างสงครามมีการผ่าตัดมากขึ้นเกือบสิบเท่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักรบต่อต้านนาซีเยอรมันที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามปกติได้เพราะจะถูกนาซีเยอรมันจับกุม ในบรรดาผู้ป่วยมีหลายเชื้อชาติ รวมทั้งทหารชาวเยอรมันฝ่ายศัตรูที่ได้รับบาดเจ็บ ๑ นาย ซึ่งหลังจากได้รับการรักษาแล้วก็ยังคงอยู่ร่วมทำงานในโรงพยาบาลในฐานะเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งนี้

โรงพยาบาล Franja Partisan เปิดดำเนินการจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ Cerkno ในปี ค.ศ. 1963 ในปี ค.ศ. 1997 สมาคมทหารอากาศอเมริกันผ่านศึกได้มอบรางวัลให้แก่โรงพยาบาล Franja Partisan สำหรับการช่วยชีวิตและการรักษา Harold Adams นักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกและได้รับบาดเจ็บ

Harold Adams นักบินอเมริกันที่ถูกยิงตก ได้รับบาดเจ็บ และได้รับการรักษาในโรงพยาบาล Franja Partisan

ในปี พ.ศ. 2546 สำนักงานไปรษณีย์สโลวีเนียได้ออกตราไปรษณียากรเพื่อฉลองครบรอบ ๖๐ ปีของโรงพยาบาลฟรานจา และกลายเป็นแสตมป์แห่งปีของสโลวีเนีย โรงพยาบาล Franja Partisan อยู่ในรายชื่อสถานที่ซึ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (Tentative list) จากองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ

วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 2007 โรงพยาบาล Franja Partisan ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วมภายหลังฝนตกหนัก โรงพยาบาล Franja Partisan ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2010 และตั้งแต่นั้นมาก็ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้งจนปัจจุบัน


 


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ