ไขปม!! แก่นแท้แห่ง ‘กรุงศรีฯ’ พินาศหนแรก เมื่อสาย ‘อ่อนโอน’ VS ‘คลั่งสงคราม’ วัดพลังกัน

เนื้อหาในรอบนี้น่าจะมีใครหลายคนอยากตามติด เพราะผมจะพาทุกท่านไปติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ที่เกิดจากการ ‘แสวงหาอำนาจ’ จนลืมนึกถึงคนในชาติ แต่ก่อนที่ผมจะเล่า ผมขอออกตัวก่อนว่านี่คือเรื่องเล่าจาก ‘บริบท’ ของอดีตที่จะนำมาสอนใจทุกท่าน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่การนำเอาอดีตมาตอกย้ำหรือสร้างดรามาให้ใครนะครับ 

สำหรับบทความแรกนี้ ผมจะสรุปถึงการเสียกรุงครั้งที่ 1 ของเรากันก่อน

หากพูดการเสียกรุงครั้งที่ 1 หลายคนคงทราบจากหนังสือประวัติศาสตร์ภาคบังคับแล้วว่ามี ‘ไส้ศึก’ ที่ชื่อ ‘พระยาจักรี’ ขุนนางกรุงศรีอยุธยาที่รู้เห็นเป็นใจกับกับพม่า ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าก่อนที่จะเสียกรุงในปี พ.ศ.2112  ปัจจัยนอกจาก ‘พระยาจักรี’ มีเรื่องอะไรอีกบ้าง? แล้วพระยาจักรีคือคนขายชาติจริง ๆ หรือ? 

จริง ๆ แล้วการเสียกรุงนั้นเกิดขึ้นจากการสะสมความขัดแย้งของตระกูลราชวงศ์เป็นปฐมเหตุ นับแต่เมื่อคราวที่ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’ แห่งราชวงศ์ ‘สุพรรณภูมิ’ สวรรคต ‘พระยอดฟ้าราชโอรส’ ได้ขึ้นครองราชย์ โดยมี ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ เป็นผู้สําเร็จราชการ จนเมื่อผ่านไป 1 ปี 2 เดือน พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ จากนั้นก็ได้สถาปนา ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ขึ้นครองบัลลังก์ ซึ่งตามรากของตระกูลที่พอสมมติได้ ‘ขุนวรวงศาธิราช’ และ ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ นั้นมาจาก ‘ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา’ ที่อยากมีอำนาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาอันนี้เป็นคำรบหนึ่งแห่งความวุ่นวาย

แต่เพียงแค่ 42 วัน ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ก็ตกบัลลังก์โดยการจัดหนักของทีมงาน ‘ขุนพิเรนทรเทพ’ ซึ่งสืบเชื้อสายพระร่วงเจ้า มาแต่ราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือตามชอบธรรม เมื่อกู้บัลลังก์คืนแล้วจะขึ้นครองเองก็ได้แต่ด้วยความไม่พร้อมบางประการ จึงได้มอบบัลลังก์ให้แก่ ‘พระเทียรราชา’ จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ พระอนุชาต่างมารดากับ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’

เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ทรงตอบแทนคุณความดีของคณะผู้ก่อการทั้งหลายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ 'ขุนพิเรนทรเทพ' ที่ได้อวยยศเป็นถึง 'พระมหาธรรมราชา' และยังยก 'พระสวัสดิราช' ซึ่งกาลต่อมาคือ 'พระวิสุทธิกษัตรี' ที่ผู้ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน' ให้เป็นพระมเหสีแก่ 'พระมหาธรรมราชา' ก่อนขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก คุมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นการตอบแทนที่ใหญ่โตเป็นอย่างยิ่ง และเป็น 'ดาบสองคม' ที่เป็นเหตุทำให้ถึงกับเสียกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

ซึ่งถ้ามองประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้อย่างถ่องแท้จะเห็นว่าความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเหนือ เหมือนจะดีแต่เอาเข้าจริง ๆ มันยังคงมีลักษณะของความไม่แน่นอนแฝงอยู่มาก เช่น ตำแหน่งของราชบุตรเขยที่ 'พระมหาธรรมราชา' เปรียบเหมือนรัชทายาท เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น เป็นเจ้าฟ้าสองแคว ปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด ใหญ่กว่า 'พระราเมศวร' รัชทายาทที่มีอำนาจรองจาก 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไร เพราะสิทธิ์ขาดอยู่ที่องค์เหนือหัว อำนาจบารมีก็ไม่ได้ก่อร่างสร้างขึ้น แตกต่างจาก 'พระมหาธรรมราชา' อย่างสิ้นเชิง สรุปคือ 'พระราชบุตรเขย' มีอำนาจมากกว่า 'พระราชโอรส' ของกษัตริย์อยุธยา ดังนั้นเมื่อมีมือที่สามเข้ามาแทรก หรือมีคนมาเสี้ยม ไม่แปลกที่ย่อมทำให้แตกร้าว ออกอาการกันได้ และการศึกพม่าจากหงสาวดีก็เปรียบเสมือนเป็นลิ่มที่ตอกรอยแตกแยกให้ปรากฏชัดเร็วขึ้น 

จากการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ก่อนที่เราจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 นั้น พม่าได้ยกทัพเข้ามาทําศึกกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้ง ดังนี้ 

ครั้งแรกเป็นสงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' ยกทัพมาทางด่านในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้พระมหาธรรมราชายังร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาแต่เป็นการร่วมมือแบบห่าง ๆ ไม่ได้ลงมาตีกระหนาบ กองทัพเมืองเหนือได้เข้าปะทะกองทัพพม่าก็เมื่อพม่าได้ล่าถอยเข้าสู่เขตแดนเมืองเหนือแล้ว ซึ่งพม่าก็ได้เห็นถึงความเปราะบางของความผูกพันนี้ โดยเฉพาะแม่ทัพที่ชื่อ 'บุเรงนอง' ซึ่งคือตัวละครหลักในการเสียกรุงจากฝั่งพม่า

ครั้งที่สองเป็นสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 'พระเจ้าบุเรงนอง' ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่สอดจังหวัดตาก มีหน่วยลําเลียงเสบียงอาหารจากล้านนา และยึดเมืองเหนือได้ทั้งหมด เหลือเพียงเมืองพิษณุโลกของ 'พระมหาธรรมราชา' ที่ต่อสู้ป้องกันเมือง แต่กระนั้นก็ไม่มีกำลังเสริมใด ๆ โดยเฉพาะกรุงศรีฯ ที่ส่งสารไปแล้วก็ไม่ตอบสนองการทัพขึ้นไปช่วยแต่อย่างใด สุดท้ายก็ต้องยอม ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองคาดการณ์สิ่งนี้ไว้แล้ว 

จากนั้นกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็ยกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา โดยมี 'พระมหาธรรมราชา' คุมกําลังเมืองเหนือร่วมทัพมาด้วย การยกทัพมาประชิดเมืองครั้งนี้ 'พระเจ้าบุเรงนอง' อ้างเหตุมาขอแบ่งช้างเผือกเพื่อประดับบารมี แต่พระมหาจักรพรรดิไม่ยอมถวาย ก็พยายามเข้าราวี ต่อกร แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของทัพพม่าได้ ซึ่งสงครามครั้งนี้มีบันทึกไว้ว่านอกจากจะเสีย 'ช้างเผือก' แล้ว ยังต้องมอบ 'พระราเมศวร' พระราชโอรสองค์โตในฐานะ 'องค์ประกัน' และต้องมอบขุนนางที่อำนวยการสงครามอีกผู้หนึ่ง นั่นก็คือ 'พระยาจักรี' ให้ไปเป็นข้ารับใช้พระเจ้าบุเรงนอง ที่หงสาวดีด้วย 

หลังจากเสร็จสงครามช้างเผือกแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ก็ทรงลาผนวช โดยมี 'สมเด็จพระมหินทราธิราช' ขึ้นครองบัลลังก์อยุธยา แต่แค่เพียงอยุธยาและเมืองที่ขึ้นกับอยุธยาในด้านอื่น ๆ เท่านี้นะครับ ไม่รวมหัวเมืองเหนือและเมืองที่ขึ้นตรงกับหงสาวดี โดยเฉพาะเมืองเหนือนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “เมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิแก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องทำตามทุกประการ” สรุปกรุงศรีอยุธยาอยู่ภายใต้อํานาจของพม่าแล้ว โดยมีพระมหาธรรมราชาที่เมืองเหนือกํากับดูแลเป็นหูเป็นตาแทน แต่ยังให้เกียรติแก่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้นับเป็นเมืองขึ้น (สวามิภักดิ์ในฐานะเมืองน้อง ห้ามกระด้างกระเดื่อง) และยังให้อำนาจปกครองตนเองอยู่ ก่อนจะเข้าสู่สงครามครั้งที่ 3 

ครั้งที่สาม คือสงครามกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2112 สงครามครั้งนี้ห่างจากสงครามช้างเผือกประมาณ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรพม่าหงสาวดีภายใต้การนําของบุเรงนอง มีความเป็นปึกแผ่น และทรงพลานุภาพที่สุด แต่กระนั้นฝั่งกรุงศรีฯ ยังคงมีความคิดแข็งข้อกับพม่า โดยหันไปคบกับพระไชยเชษฐาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้างด้วยหวังจะให้มาเช็กบิลกับ 'พระมหาธรรมราชา'

แต่การณ์ที่หวัง กรุงศรีอยุธยาก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จสักเรื่อง และความกระด้างกระเดื่องนี้ต้องถูกจัดระเบียบให้อยู่กับร่องกับรอย พม่าจึงได้ยกทัพมาปราบและแน่นอนต้อง 'พระมหาธรรมราชา' ร่วมนํากองทัพเมืองเหนือร่วมเป็นพันธมิตรลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยอดีตขุนนางกรุงศรีฯ ที่ชื่อ 'พระยาจักรี' ผู้รู้ตื้นลึกหนาบางของกรุงศรีฯ และยินยอมเป็นไส้ศึกหลอกให้กรุงศรีฯ ตายใจ ก่อนจะอำนวยความสะดวกเปิดทางให้พม่าจนกรุงศรีอยุธยาต้องแตกพ่าย 

สรุปตอนนี้ปัจจัยด้าน 'คน' ที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาแตกคนแรกคือ 'พระมหาธรรมราชา' เพราะการขัดกันแห่งสายตระกูลระหว่างเจ้านายฝ่ายเหนือกับเจ้านายแห่งสุพรรณภูมิ อีกหนึ่งคนคือขุนนางระดับสูงที่เคยต่อต้านพม่าอย่าง 'พระยาจักรี' เพราะการถูกหยิบไปถวายพระเจ้าบุเรงนอง อย่างง่ายดาย แต่ผมแนะนำก่อนนะว่าอย่าเอาฉากในภาพยนตร์มาใส่ในบริบทระหว่างสงครามนะครับ เพราะมันคนละเรื่องเดียวกันเลย!!

มาถึงจุดสุดท้ายแห่งการเสียกรุงครั้งที่ 1 ที่ไม่ค่อยมีใครเล่าถึงมากนัก คือการที่เจ้านายราชวงศ์สุพรรณภูมิ ของกรุงศรีอยุธยาเป็นไส้ศึกซะเอง!! ผมกำลังจะเล่าถึง 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน' หรือ 'พระวิสุทธิกษัตรี' พระมเหสีของพระมหาธรรมราชานั่นเอง พระองค์เป็นพระพี่นางของ 'สมเด็จพระมหินทราธิราช' ซึ่งพระองค์มีความยําเกรงของต่อพระพี่นางของพระองค์เป็นอย่างมาก โดยยกพระนางขึ้นไว้ในตําแหน่งสูงสุดมากกว่าสตรีใด ๆ ในราชสํานัก ซึ่งทางพม่าก็ไม่พลาดที่จะใช้หมากเด็ดในการตัดกำลังผ่านข่าวที่ฝากเข้าไปเพื่อให้ถึงพระกรรณของ 'พระวิสุทธิกษัตรี' ซึ่งต้องเกิดปฏิกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นประโยชน์ต่อพม่าแน่นอน

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า กําลังสําคัญในการป้องกันพระนครศรีอยุธยาคือ ขุนนางที่ชื่อว่า พระยาราม พระเจ้าบุเรงนองจึงปรึกษากับพระมหาธรรมราชาจะทําอุบายให้เอาตัวพระยารามออกมาเพื่อทำให้กรุงศรีฯ อ่อนกำลังลงโดย พงศาวดารกล่าวว่า...

“..พระมหาธรรมราชาเห็นด้วย ก็แต่งนายก้อนทอง ข้าหลวงเดิมให้ถือหนังสือลอบเข้าไปถึงขุนสนม ข้าหลวงซึ่งสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก (คือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ไปเอาลงมาแต่เมืองพิษณุโลกกับด้วยพระวิสุทธิกษัตรีนั้น ขุนสนมก็ส่งหนังสือนั้นเข้าไปถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน”

ซึ่งข้อความในหนังสือนั้นมีอยู่ว่า พระยารามเป็นขุนนางที่ช่วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต่อต้านพม่า มาตอนนี้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้ว พระยารามควรจะหยุดได้แล้วเพื่อไม่ให้เสียไมตรีกับพม่า และควรส่งพระยารามผู้ไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนองเสีย สงครามจะสงบ จบลงได้ ซึ่ง 'พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน' จึงนําเรื่องไปเล่าให้ 'สมเด็จพระมหินทราธิราช' ฟัง เมื่อพระองค์ปรึกษาข้าราชการแล้ว ก็ตกลงส่งพระยารามไปถวาย ถึงตรงนี้ทำให้การสู้รบต่อต้านพม่าของกรุงศรีอยุธยาก็อ่อนยวบลง และพระเจ้าบุเรงนองก็ยังคงดำเนินการตีกรุงศรีอยุธยาต่อ (ไม่จบอ่ะ จะทำไมล่ะ) 

มาถึงตรงนี้ ถ้านําข้อมูลทั้งหมดมาประมวลเข้าด้วยกันก็จะได้เห็นภาพโดยรวมว่า สงครามครั้งนี้ ขุนนางและบุคคลระดับสูงภายในราชสํานักกรุงศรีอยุธยาจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะต่อสู้กับพม่า อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการต่อสู้และรักที่จะเป็นไมตรีกันต่อกันมากกว่า ซึ่งฝ่ายที่ต้องการต่อสู้ได้แก่ เหล่าขุนนางและเชื้อพระวงศ์ ที่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระองค์ทรงลาผนวชออกมาเพื่อรบแต่สุดท้ายก็สวรรคตคาสนามรบ) กับอีกฝ่ายที่ยังคิดจะเป็นไมตรีกับพม่า คือพระวิสุทธิกษัตรีและขุนนางอื่น ๆ ที่ฝักใฝ่กับ 'พระมหาธรรมราชา' 

สงครามกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 นี้ หากมองผ่าน ๆ ก็เป็นสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยาไม่ผิดแน่ ๆ  แต่ถ้ามองลึกเข้าไปภายใน นี่เป็นสงครามระหว่างเจ้านายกรุงศรีอยุธยากับเจ้านายราชวงศ์เดิมที่ปกครองเมืองเหนือ ที่ต้องการความชอบธรรมในการปกครองด้วยความชอบธรรมที่ตนมี 

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว 'พระมหาธรรมราชา' จึงได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาตามสิทธิที่พระองค์ควรจะได้ ภายใต้อํานาจของกรุงหงสาวดี 15 ปี ซึ่งก็ได้เกิดการจัดระเบียบของราชตระกูล โดยปลดคนรุ่นเก่าออกไป บ้างก็ไปอยู่ที่หงสาวดีแล้วเรื่องความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์ก็ค่อย ๆ ลดลง มาจนถึงคนรุ่นลูก คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเสนาข้าราชบริพาร จึงเป็นคนอีกรุ่นที่มีสำนึกต่างออกไป ไม่มีความคิดเรื่องการแก่งแย่งชิงอํานาจกันระหว่างราชวงศ์ทางเมืองเหนือกับกรุงศรีอยุธยาอีก ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นปึกแผ่นมาได้ชั่วเวลาใหญ่ ก่อนที่มีการประกาศอิสรภาพเลิกเป็นเมืองขึ้นกับพม่าหงสาวดี โดย 'สมเด็จพระนเรศวรมหาราช' 

เรื่องตอนนี้ยาวนิดนึงนะครับ แต่ผมพยายามย่นย่อให้อ่านง่ายและสนุกขึ้น แต่ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ทราบกันมาแล้ว เพียงแต่ผมหยิบมาเล่าเพื่อให้เห็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่ความขัดแย้งของผู้ปกครองไม่สร้างอะไรที่ดีให้แก่บ้านเมือง นอกจากความฉิบหายจากความบอบช้ำของสงครามเท่านั้นเอง ...


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager