Monday, 6 May 2024
กรุงศรีอยุธยา

ไขปม!! แก่นแท้แห่ง ‘กรุงศรีฯ’ พินาศหนแรก เมื่อสาย ‘อ่อนโอน’ VS ‘คลั่งสงคราม’ วัดพลังกัน

เนื้อหาในรอบนี้น่าจะมีใครหลายคนอยากตามติด เพราะผมจะพาทุกท่านไปติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ที่เกิดจากการ ‘แสวงหาอำนาจ’ จนลืมนึกถึงคนในชาติ แต่ก่อนที่ผมจะเล่า ผมขอออกตัวก่อนว่านี่คือเรื่องเล่าจาก ‘บริบท’ ของอดีตที่จะนำมาสอนใจทุกท่าน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่การนำเอาอดีตมาตอกย้ำหรือสร้างดรามาให้ใครนะครับ 

สำหรับบทความแรกนี้ ผมจะสรุปถึงการเสียกรุงครั้งที่ 1 ของเรากันก่อน

หากพูดการเสียกรุงครั้งที่ 1 หลายคนคงทราบจากหนังสือประวัติศาสตร์ภาคบังคับแล้วว่ามี ‘ไส้ศึก’ ที่ชื่อ ‘พระยาจักรี’ ขุนนางกรุงศรีอยุธยาที่รู้เห็นเป็นใจกับกับพม่า ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าก่อนที่จะเสียกรุงในปี พ.ศ.2112  ปัจจัยนอกจาก ‘พระยาจักรี’ มีเรื่องอะไรอีกบ้าง? แล้วพระยาจักรีคือคนขายชาติจริง ๆ หรือ? 

จริง ๆ แล้วการเสียกรุงนั้นเกิดขึ้นจากการสะสมความขัดแย้งของตระกูลราชวงศ์เป็นปฐมเหตุ นับแต่เมื่อคราวที่ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’ แห่งราชวงศ์ ‘สุพรรณภูมิ’ สวรรคต ‘พระยอดฟ้าราชโอรส’ ได้ขึ้นครองราชย์ โดยมี ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ เป็นผู้สําเร็จราชการ จนเมื่อผ่านไป 1 ปี 2 เดือน พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ จากนั้นก็ได้สถาปนา ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ขึ้นครองบัลลังก์ ซึ่งตามรากของตระกูลที่พอสมมติได้ ‘ขุนวรวงศาธิราช’ และ ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ นั้นมาจาก ‘ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา’ ที่อยากมีอำนาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาอันนี้เป็นคำรบหนึ่งแห่งความวุ่นวาย

แต่เพียงแค่ 42 วัน ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ก็ตกบัลลังก์โดยการจัดหนักของทีมงาน ‘ขุนพิเรนทรเทพ’ ซึ่งสืบเชื้อสายพระร่วงเจ้า มาแต่ราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือตามชอบธรรม เมื่อกู้บัลลังก์คืนแล้วจะขึ้นครองเองก็ได้แต่ด้วยความไม่พร้อมบางประการ จึงได้มอบบัลลังก์ให้แก่ ‘พระเทียรราชา’ จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ พระอนุชาต่างมารดากับ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’

เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ทรงตอบแทนคุณความดีของคณะผู้ก่อการทั้งหลายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ 'ขุนพิเรนทรเทพ' ที่ได้อวยยศเป็นถึง 'พระมหาธรรมราชา' และยังยก 'พระสวัสดิราช' ซึ่งกาลต่อมาคือ 'พระวิสุทธิกษัตรี' ที่ผู้ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน' ให้เป็นพระมเหสีแก่ 'พระมหาธรรมราชา' ก่อนขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก คุมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นการตอบแทนที่ใหญ่โตเป็นอย่างยิ่ง และเป็น 'ดาบสองคม' ที่เป็นเหตุทำให้ถึงกับเสียกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

ซึ่งถ้ามองประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้อย่างถ่องแท้จะเห็นว่าความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเหนือ เหมือนจะดีแต่เอาเข้าจริง ๆ มันยังคงมีลักษณะของความไม่แน่นอนแฝงอยู่มาก เช่น ตำแหน่งของราชบุตรเขยที่ 'พระมหาธรรมราชา' เปรียบเหมือนรัชทายาท เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น เป็นเจ้าฟ้าสองแคว ปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด ใหญ่กว่า 'พระราเมศวร' รัชทายาทที่มีอำนาจรองจาก 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไร เพราะสิทธิ์ขาดอยู่ที่องค์เหนือหัว อำนาจบารมีก็ไม่ได้ก่อร่างสร้างขึ้น แตกต่างจาก 'พระมหาธรรมราชา' อย่างสิ้นเชิง สรุปคือ 'พระราชบุตรเขย' มีอำนาจมากกว่า 'พระราชโอรส' ของกษัตริย์อยุธยา ดังนั้นเมื่อมีมือที่สามเข้ามาแทรก หรือมีคนมาเสี้ยม ไม่แปลกที่ย่อมทำให้แตกร้าว ออกอาการกันได้ และการศึกพม่าจากหงสาวดีก็เปรียบเสมือนเป็นลิ่มที่ตอกรอยแตกแยกให้ปรากฏชัดเร็วขึ้น 

จากการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ก่อนที่เราจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 นั้น พม่าได้ยกทัพเข้ามาทําศึกกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้ง ดังนี้ 

ครั้งแรกเป็นสงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' ยกทัพมาทางด่านในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้พระมหาธรรมราชายังร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาแต่เป็นการร่วมมือแบบห่าง ๆ ไม่ได้ลงมาตีกระหนาบ กองทัพเมืองเหนือได้เข้าปะทะกองทัพพม่าก็เมื่อพม่าได้ล่าถอยเข้าสู่เขตแดนเมืองเหนือแล้ว ซึ่งพม่าก็ได้เห็นถึงความเปราะบางของความผูกพันนี้ โดยเฉพาะแม่ทัพที่ชื่อ 'บุเรงนอง' ซึ่งคือตัวละครหลักในการเสียกรุงจากฝั่งพม่า

ครั้งที่สองเป็นสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 'พระเจ้าบุเรงนอง' ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่สอดจังหวัดตาก มีหน่วยลําเลียงเสบียงอาหารจากล้านนา และยึดเมืองเหนือได้ทั้งหมด เหลือเพียงเมืองพิษณุโลกของ 'พระมหาธรรมราชา' ที่ต่อสู้ป้องกันเมือง แต่กระนั้นก็ไม่มีกำลังเสริมใด ๆ โดยเฉพาะกรุงศรีฯ ที่ส่งสารไปแล้วก็ไม่ตอบสนองการทัพขึ้นไปช่วยแต่อย่างใด สุดท้ายก็ต้องยอม ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองคาดการณ์สิ่งนี้ไว้แล้ว 

จากนั้นกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็ยกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา โดยมี 'พระมหาธรรมราชา' คุมกําลังเมืองเหนือร่วมทัพมาด้วย การยกทัพมาประชิดเมืองครั้งนี้ 'พระเจ้าบุเรงนอง' อ้างเหตุมาขอแบ่งช้างเผือกเพื่อประดับบารมี แต่พระมหาจักรพรรดิไม่ยอมถวาย ก็พยายามเข้าราวี ต่อกร แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของทัพพม่าได้ ซึ่งสงครามครั้งนี้มีบันทึกไว้ว่านอกจากจะเสีย 'ช้างเผือก' แล้ว ยังต้องมอบ 'พระราเมศวร' พระราชโอรสองค์โตในฐานะ 'องค์ประกัน' และต้องมอบขุนนางที่อำนวยการสงครามอีกผู้หนึ่ง นั่นก็คือ 'พระยาจักรี' ให้ไปเป็นข้ารับใช้พระเจ้าบุเรงนอง ที่หงสาวดีด้วย 

หลังจากเสร็จสงครามช้างเผือกแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ก็ทรงลาผนวช โดยมี 'สมเด็จพระมหินทราธิราช' ขึ้นครองบัลลังก์อยุธยา แต่แค่เพียงอยุธยาและเมืองที่ขึ้นกับอยุธยาในด้านอื่น ๆ เท่านี้นะครับ ไม่รวมหัวเมืองเหนือและเมืองที่ขึ้นตรงกับหงสาวดี โดยเฉพาะเมืองเหนือนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “เมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิแก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องทำตามทุกประการ” สรุปกรุงศรีอยุธยาอยู่ภายใต้อํานาจของพม่าแล้ว โดยมีพระมหาธรรมราชาที่เมืองเหนือกํากับดูแลเป็นหูเป็นตาแทน แต่ยังให้เกียรติแก่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้นับเป็นเมืองขึ้น (สวามิภักดิ์ในฐานะเมืองน้อง ห้ามกระด้างกระเดื่อง) และยังให้อำนาจปกครองตนเองอยู่ ก่อนจะเข้าสู่สงครามครั้งที่ 3 

ครั้งที่สาม คือสงครามกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2112 สงครามครั้งนี้ห่างจากสงครามช้างเผือกประมาณ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรพม่าหงสาวดีภายใต้การนําของบุเรงนอง มีความเป็นปึกแผ่น และทรงพลานุภาพที่สุด แต่กระนั้นฝั่งกรุงศรีฯ ยังคงมีความคิดแข็งข้อกับพม่า โดยหันไปคบกับพระไชยเชษฐาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้างด้วยหวังจะให้มาเช็กบิลกับ 'พระมหาธรรมราชา'

ไขปม!! เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 1 ความขัดแย้งของคนในชาติ สู่การเป็นเมืองขึ้นของพม่า | THE STATES TIMES STORY EP.109

วันนี้ THE STATES TIMES Story จะพาคุณไปรับฟัง 
เรื่องราวแห่งการเสียกรุงครั้งที่ 1 ของ ‘กรุงศรีอยุธยา’ เกิดจากสาเหตุความแตกแยก แตกความสามัคคีของชาวกรุงศรีฯ เพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่ และสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร? ติดตามได้จากรายการในวันนี้...

ไปติดตามกันได้ใน THE STATES TIMES Story ใน EP. นี้ได้เลย 

รับชม THE STATES TIMES STORY ตอนอื่นๆ ได้ที่ :  https://youtube.com/playlist?list=PL60bae1syuyLbSZPZIUmXvd6NiToeX5qW 

🎥 ช่องทางรับชม
Facebook: THE STATES TIMES PODCAST
YouTube: THE STATES TIMES PODCAST
TikTok: THE STATES TIMES PODCAST

รู้จัก กรมหมื่นเทพพิพิธ 'แมวเก้าชีวิต' แห่งกรุงศรีอยุธยา อยู่แห่งหนใด นำพาสิ่งไหนก็ไม่ชนะ มีแต่พังพินาศ

กรมหมื่นเทพพิพิธ 'ลูกพระสนม' ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเจ้านายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งหนีราชภัย ออกผนวช ถูกจับ ถูกเนรเทศ เป็นเจ้าผู้ปกครอง เป็นเชลย พระองค์ สู้กับชีวิต สู้กับอุปสรรค จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

กรมหมื่นเทพพิพิธ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิวัติสำเร็จ ก็ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ให้ทรงกรม คือ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็น 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ร่วมกับ เจ้าพี่ เจ้าน้อง อีกหลายพระองค์ โดยเป้าประสงค์ให้สามารถคานอำนาจกับเหล่าบรรดาขุนนางทั้งหลาย แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงคาดไว้...ทำไมล่ะ ? 

ลูกพระสนมพระองค์อื่น ๆ ที่ได้ 'ทรงกรม' และมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีกลุ่ม ที่เรียกกันว่า 'เจ้าสามกรม' คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ซึ่งเจ้าทั้ง ๓ นี้เป็นขั้วตรงข้ามอีก ๓ เจ้าฟ้า 

กลุ่ม ๓ เจ้าฟ้านำโดย 'เจ้าฟ้ากุ้ง' กรมขุนเสนาพิทักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต ซึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ในขั้วนี้ ซึ่งแปลก แต่ก็นับว่าอยู่ถูกขั้ว 

'เจ้าสามกรม' เริ่มต้นความขัดแย้งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยการเดินเกมหนักจัดการ 'เจ้าฟ้ากุ้ง' ด้วยการกราบบังคมทูลฟ้องว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง เสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง" จนเป็นเหตุให้องค์รัชทายาทถูกลงลงพระราชอาญาถึงกับสวรรคต จนว่างวังหน้าอยู่ถึง ๒ ปี 

ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ใช้เวลา ๒ ปีที่ว่างนี้ 'ล็อบบี้' เสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ พร้อมกราบบังคมทูลให้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ขึ้นเป็นวังหน้า โดย 'ข้าม' เจ้าฟ้าเอกทัศไป ด้วยความมั่นใจว่าถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน 'กรมขุนพรพินิต' ต้องได้เป็น 'พ่ออยู่หัว' แน่ๆ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีพระราชดำริเห็นชอบ แม้ว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจะทรงเป็น 'น้อง' ก็ตาม 

เพราะมีบันทึกระบุไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(เจ้าฟ้าเอกทัศ)นั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ....” ตรัสมอบราชสมบัติให้ 'กรมขุนพรพินิต' กรมหมื่นเทพพิพิธจึงกล้าเปิดหน้าเล่น

แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต ความอลหม่านก็เกิดขึ้น

คือทั้ง ๒ ฝ่าย เริ่มต้นจาก 'กลุ่มสามเจ้าฟ้า' กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ก็เชิญเอาพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ และพระแสงง้าวข้างพระที่ ส่งให้ชาวที่เชิญตามเสด็จฯ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย 

ข้างฝ่าย 'เจ้าสามกรม' แสดงการไม่ยอมรับแผ่นดินใหม่ พากันเสด็จฯ เข้าไปในวังบ้าง แล้วเชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฐานที่มั่นของ 'เจ้าสามกรม'

ครั้นเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ต่อพอ่อยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็ปรากฏว่า “เจ้าสามกรม” ไม่เสด็จฯ มา “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” จึงได้คิดแผน อาราธนาพระราชาคณะ ๕ รูป ก็ไปเจรจากับ “เจ้าสามกรม” เพื่อให้ยินยอมที่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์

แต่เมื่อเจ้าสามกรมยินยอมมาเฝ้าเป็นที่ปรึกษาราชการ 'เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี' ในฐานะที่ปรึกษาจึงทำการจับกุมทั้ง 3 พระองค์แล้วนำไปสำเร็จโทษ 

จบตรงนี้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ก็ได้ครองราชย์เป็น 'พระเจ้าอุทุมพร' ซึ่งถ้ามองเกม กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็น่าจะได้อวยยศแน่ๆ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น 

ความซวยครั้งที่ ๑ ของ กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็มาเยือน เพราะผ่านไป ๒ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ก็ 'น้อง' ไม่ต้องการบัลลังก์ จึงขอคืนให้พี่ แล้ว 'พระเจ้าอุทุมพร' ก็เสด็จออกผนวช จนรู้จักกันในพระนามว่า 'ขุนหลวงหาวัด' 

ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็น 'พระเจ้าเอกทัศน์' หรือ 'สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์' ถึงตรงนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธก็กลัวพระราชภัย ก็เลยต้องออกผนวชเช่นกัน

แต่ออกบวชไม่นานก็คิดอ่านจะนำเอาพระราชบัลลังก์คืนแก่พระเจ้าอุทุมพร เพราะบรรดาขุนนางน้อยใหญ่มาฟ้องว่า 'พระเจ้าเอกทัศน์' นั้นน่าจะทำให้กรุงศรีฯ ต้องวิบัติ เนื่องจาก ขุนนางพี่น้อง ๒ กร่าง ผู้ใกล้ชิดพ่ออยู่หัว คือ พระยาราชมนตรีบริรักษ์และหมื่นศรีสรรักษ์ มาป่วนงานราชการ จนเละเทะไปหมด 

กรมหมื่นเทพพิพิธก็เลยนำความกราบบังคมทูลพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร เพื่อขอเชิญพระองค์ชิงบัลลังก์พระเจ้าเอกทัศน์ แต่ พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร อาจจะเกรงว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ จะล้มกระดานหรือทำการยึดครองบัลลังก์กรุงศรีฯ ซะเอง ก็เลยนำไปฟ้องเรื่องนี้กับ 'พระเจ้าเอกทัศน์' 

ความซวยครั้งที่ ๒ ก็บังเกิดจากหวังดีกลับกลายเป็น 'กบฏ' ถูกจับประหารทั้งแก๊ง แต่โชคดีที่ กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเว้นโทษตาย รับแต่โทษเนรเทศไปลังกา ซึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศท่านได้สร้างวัดและฝังรากหยั่งลึกไว้บ้างแล้ว

'พระเจ้ากรุงลังกา พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์' ได้ให้การต้อนรับ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' เป็นอย่างดี เมื่อไปอยู่เกาะลังกาได้ไม่นานนั้น เป็นที่ชื่นชอบของขุนนางและราษฎรมาก เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และที่สำคัญทรงเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิด 

ความซวยครั้งที่ ๓ ของพระองค์ก็มาเยือน เพราะในลังกามีกระแสอยากจะล้มล้าง พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ เนื่องจากทรงเป็นชาวทมิฬ ที่นับถือฮินดูมาก่อน พอมานับถือพุทธก็มีวัตรปฏิบัติที่แปลกประหลาด ซึ่งถ้าล้มล้างได้ก็จะนำบัลลังก์ถวายแก่กรมหมื่นเทพพิพิธ !!! 

แต่การล้มล้างยังไม่ทันเกิด  พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ ทรงทราบข่าว จึงทรงกวาดล้างผู้ไม่หวังดีทั้งหมด ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ต้องหนีตามระเบียบเพราะมีสิทธิ์ตายนอกราชอาณาจักรเป็นแน่ 

พระองค์ทรงลงเรือหนีกลับมาเมืองมะริด แต่ต้องถูกกักตัวไว้เพราะต้องโทษเนรเทศ กรมการเมืองก็แจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จ ฯ กลับเข้ามา ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการสั่งให้รับตัวมากักไว้ที่เมืองตะนาวศรี 

ความซวยครั้งที่ ๔ ของพระองค์ก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อสงครามเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น โดย 'พระเจ้ามังระ' ได้มีพระบัญชาให้ 'มังมหานรธา' ยกทัพบุกเข้าเมืองชายแดนกรุงศรีฯ ตั้งแต่ ทวาย มะริด รวมไปถึงตะนาวศรีที่ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ทรงประทับอยู่  พระองค์ก็เลยต้องหนีเตลิดไปถึงเมืองเพชรบุรี ทางการจึงรายงานขึ้นไปที่กรุงศรีอยุธยา จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่เมืองจันทบุรี ขนาดสงครามมาประชิด พระเจ้าเอกทัศก็ยังทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยให้กรมหมื่นเทพพิพิธกลับกรุงศรี ฯ 

แต่ใช่ว่า 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' จะนิ่งเฉย เพราะมองว่าจะช้า จะเร็วกรุงศรีฯ ก็น่าจะแตก เลยทรงรวบรวมกำลังคนโดยทรงอ้างว่าจะไป 'กู้กรุง' ทำให้มีผู้คนไปร่วมด้วยจำนวนมาก ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนคร ออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิง ซึ่งเป็นพระหน่อ ในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็หนีออกไปหาเจ้า” 

โดยมีผู้คนจากทั้ง ปราจีนฯ, นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี มาร่วมกันเพื่อ 'กู้กรุง' หลายพันคน กรมหมื่นเทพพิพิธ จึงทรงยกกองกำลังไปตั้งไว้ ณ ปากน้ำโยทกา เมืองนครนายก ซึ่งพระองค์ดำเนินการก่อน 'พระเจ้าตาก' ถึง ๖ เดือน 

แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ทำกรรมอะไรไว้ ความซวยครั้งที่ ๕ ก็มาถึง เพราะยังไม่ทันจะไป 'กู้กรุง' พม่าก็ยกทัพมาจัดการจนกระเจิง แต่การนี้บางบันทึกก็บอกว่า กองทัพที่ยกมาปราบกองกำลังกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนี้ ไม่ใช่กองทัพพม่า แต่เป็นกองทัพของพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง เพราะกลัวกรมหมื่นเทพพิพิธจะ 'ปฏิวัติ' ยึดอำนาจก็เลยชิงจัดการซะก่อน...ก็ว่ากันไป 

ไม่ว่าจะเป็นกองทัพของใคร พม่าหรือกรุงศรีฯ ผลที่ได้ก็เหมือนกันคือทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้อง 'หนี' โดยครั้งนี้หนีไป 'เมืองนครราชสีมา'

เมื่อมาถึงเมืองนครราชสี 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ทรงคิดจะชวนเจ้าเมืองนครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพไปรบพม่าอีก แต่พระยานครราชสีมาไม่คิดแบบนั้น ความซวยครั้งที่ ๖ ก็มาเยือนพระองค์ 

เพราะพระยานครราชสีมาคิดจะจับตัว 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ส่งกรุงศรีอยุธยา ตอนแรกพระองค์คิดจะ 'หนี' อีก แต่พระโอรส หม่อมเจ้าประยงค์ ทูลให้ 'สู้' จึงได้ทรงฆ่าเจ้าเมืองนครราชสีมาเหลือแต่หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาที่หนีไปได้ หลังจากนั้นพระองค์จึงได้เข้าไปตั้งกองกำลังอยู่ในเมืองนครราชสีมา

ความซวยครั้งที่ ๗ มาเยือนอย่างรวดเร็ว เพราะ 'หลวงแพ่ง' มา 'เอาคืน' โดยตีเมืองนครราชสีมาคืนได้สำเร็จ แรกทีเดียวหลวงแพ่งจะฆ่ากรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายขอชีวิตไว้ ด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เหลือรอดอยู่ไม่กี่คนในขณะนั้น ก่อนที่ 'พระพิมาย' จะทูลฯ เชิญ กรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเมืองพิมายและยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินต่อไป ซึ่งรู้จักและเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

ส่วน 'พระพิมาย' ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น 'เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แห่งเมืองพิมาย'

หลังจากนั้นไม่นาน 'เจ้าพิมาย' ก็ได้วางแผนจัดการ 'หลวงแพ่ง' ที่ครองเมืองนครราชสีมาที่ไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่ โดยใช้โอกาสที่ 'หลวงแพ่ง' ได้เชิญ 'พระพิมาย' เพื่อนเก่า มางานบุญที่บ้าน 'พระพิมาย' เล่นไม่ซื่อถือโอกาสขณะนั่งดูละครเพลินๆ ฆ่าหลวงแพ่งกลางงานบุญนั่นเอง ก่อนนำกองกำลังเข้ายึดเมืองนครราชสีมา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

จากการณ์นี้ทำให้ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ได้เมืองนครราชสีมาเพิ่มเข้ามาอีก จนมีเขตปกครองจนถึงเวียงจันทน์ ด้านใต้จรดกรุงกัมพูชา มีอํานาจเหนืออาณาเขตเมืองนครราชสีมาทั้งหมด เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'ก๊กเจ้าพิมาย'

แต่เวลานั้นเกิด 'เจ้าแผ่นดิน' ขึ้นหลายกลุ่ม เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาสูญสลายไปแล้ว ทำให้ผู้นำท้องถิ่นตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร นอกจากเจ้าพิมาย ก็มี เจ้าพระพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก)

เจ้าพิมาย 'เป็นเจ้าแผ่นดิน' อยู่ได้ไม่นาน ความซวยครั้งที่ ๘ ก็เข้ามาเยือนเพราะ พระเจ้ากรุงธนบุรีประกาศที่จะรวบรวมหัวเมืองทั้งหลายให้กลับมาเหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงยกทัพมาเยือน 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ'

เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวการศึกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพขึ้นมาตี จึงให้จัดแต่งนายทัพ นายกอง ออกไปรับศึกที่นอกเมืองนครราชสีมาเป็น ๒ ทัพใหญ่ ผลปรากฏว่า กองทัพเจ้าพิมายถูกตีแตกพ่ายไปทั้งหมด จึงถึงคราวต้องทรง 'หนี' อีกครั้ง โดยทรงตั้งใจจะมุ่งหน้าสู่กรุงเวียงจันทน์ แต่ก็ถูกจับได้ระหว่างทาง และนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี

แรกเริ่ม 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' ทรงไม่ปรารถนาจะสำเร็จโทษ แต่ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ไม่ยอมสวามิภักดิ์ 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' จึงตรัสว่า...

"ตัวหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียอีกด้วย เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย"

ความซวยครั้งสุดท้ายนี้จึงเป็นอันปิดบัญชีชีวิตนักการเมือง แมวเก้าชีวิต แห่งกรุงศรีอยุธยาไปแต่เพียงเท่านี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top