‘ว่าที่ผู้สมัครก้าวไกล’ ควงนักปั้นคำฮิตให้ ‘ชัชชาติ’ ออกสำรวจปัญหา ‘คูคต-ลำสามแก้ว-รังสิต’

‘เชตวัน’ ก้าวไกล ปทุมฯ ควง ‘ประกิต’ ครีเอทีฟผู้คิดคำ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ลุยพื้นที่สำรวจปัญหาคูคต-ลำสามแก้ว-รังสิต 

(9 ม.ค. 66) เชตวัน เตือประโคน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟผู้คิดคำว่า ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ที่ใช้ในการรณรงค์เลือกตั้งให้กับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลุยพื้นที่สำรวจปัญหาในพื้นที่ ต.คูคต อ.ลำลูกกา และ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 

เชตวัน กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจที่จะพาพี่แมว ประกิต มาดูปัญหาในพื้นที่ที่ตัวเองเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.โดยใช้เวลาช่วงบ่ายของวันนี้ ราว 3 ชั่วโมง ไปยังจุดต่าง ๆ ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าครอบคลุมถนนเส้นหลัก พร้อมกันนี้ก็ได้บอกเล่าแนวนโยบายที่อยากจะทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มทางเลือกในการขนส่งสาธารณะ, การแก้ปัญหา ถ.เสมาฟ้าคราม, การขอสนามกอล์ฟของกองทัพมาเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน เป็นต้น และถัดจากนี้ จะเขียนแนวนโยบายเหล่านี้ออกมาและส่งให้คิดเรื่องของแคมเปญการสื่อสารต่อไป 

"สำหรับการทำงานในพื้นที่ ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ของผม ขณะนี้ถือว่าเข้าสู่เฟสที่ 2 สิ่งที่กำลังจะทำในเฟสนี้มี 2-3 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ การเดินแบบปูพรมในพื้นที่ การจัดกิจกรรมระดมทุน และการทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก ซึ่งในเรื่องสุดท้ายนี้ ก็ได้พี่แมว ประกิต มาช่วยกันออกแบบและทำงาน ในฐานะที่เป็นครีเอทีฟ และเป็นผู้ที่คิดคำว่า 'ทำงาน ทำงาน ทำงาน' ให้กับ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็มั่นใจว่า พี่แมว ประกิตจะมาช่วยทำให้ชาวปทุมธานี ได้รู้จักกับเชตวันพร้อมทั้งการสื่อสารแคมเปญดี ๆ และทำให้ชนะเลือกตั้ง" เชตวัน กล่าว

ประกิต กล่าวว่า ในการมาพื้นที่วันนี้ สิ่งที่ประหลาดใจมากคือ คูคต, ลำสามแก้ว, รังสิต เป็นเมืองที่มีหมู่บ้านหนาแน่นมาก แต่ไม่ได้รับการดูแลเรื่องขนส่งสาธารณะ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐมองปทุมธานีด้วยภาพจำแบบดั้งเดิม ทั้ง ๆ ที่ปทุมธานีนั้นรองรับการเติบโตของกรุงเทพฯ ประชากรไปทำงานในกรุงเทพฯ แต่มีบ้านเรือนพำนักที่นี่ ทำให้ความเป็นเมืองหนาแน่น ซึ่งระบบสาธารณูปโภคต้องได้รับการพัฒนาตามไปด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ และอีกปัญหาคือเมื่อสาธารณูปโภคไม่ได้รับการแก้ สิ่งที่อยู่กันมา ๆ ก็แบบตามมีตามเกิด เช่น รถติดหลายกิโลเมตร ข้ามถนนโดยไม่มีทางม้าลายซึ่งอันตรายมาก  

"ปัญหารถติด ผมคิดออกเลยว่าชั่วโมงเร่งด่วนจะสาหัสขนาดไหน คือ 100 หมู่บ้านในพื้นที่ ต้องมีรถในหมู่บ้านออกมาทำงานในเวลาพร้อม ๆ กัน 100 คัน เห็นภาพเลย ปัญหาปทุมธานีใหญ่มาก ดังนั้น เราอาจต้องมองนโยบายสาธารณะที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ เพราะการทำงานแบบตัวใครตัวมันแบบเป็นจังหวัด ๆ อย่างที่คนมหาดไทยมองตรงนี้เป็นตัวปัญหา เพราะการโตของกรุงเทพฯ นั้น แบ่งออกไปในเมืองบริวารทั้งหมด แทบจะกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกัน แต่สิ่งที่ไม่ถูกออกแบบมาด้วยคือ บริการสาธารณะ การระบายน้ำ การจราจร อย่างเส้นเสมาฟ้าครามที่ไปดูมา รู้สึกเลยว่าชีวิตคนปทุมธานีมีความเสี่ยงอุบัติเหตุทุกวัน ต้องได้รับการแก้ไข" ประกิต กล่าว