'Born Pink World Tour' ที่สนามศุภชลาศัย ไม่คู่ควรกับ BLACKPINK ขนาดนั้นเชียวหรือ?

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงก่อนการมาถึงของ 'BLACKPINK' เพื่อ 'Born Pink World Tour' ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 - 8 มกราคม พ.ศ. 2566 นี้ โดยประเด็นพูดถึงบนโลกออนไลน์นั้นก็คือสถานที่จัดงาน - สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) ระดับตำนานของประเทศไทย ที่แสดงความคิดเห็นเชิงติเตียนว่าไม่เหมาะสมด้วยข้อความระบายอารมณ์ต่าง ๆ นานา

แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต 'สนามศุภชลาศัย' ได้ถูกใช้เพื่องานกิจกรรมอันหลากหลายทั้งระดับชาติ อาทิ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ งานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (เคานต์ดาวน์) งานระดับนานาชาติ เช่น กีฬาซีเกมส์, มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ฟุตบอลโลก (หญิง) รวมถึงงานระดับศรัทธามหาชนกับพิธีบูชามหามิสซา เนื่องในวโรกาสที่ 'สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส' เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อสี่ปีก่อน

แต่ใช่ว่าสนามศุภฯ จะรับงานจับฉ่ายรายตลาดนัดก็หาไม่ เพราะขนาดร็อกกรุ๊ปทรงเสน่ห์อันดับหนึ่งของโลก 'Bon Jovi' ยังจำใจต้องไปกางเวทีเล่นที่สนามกีฬากองทัพบก หรือแม้แต่อัจฉริยะดนตรีอย่าง 'ฟิล คอลลินส์' ก็ยังอับปัญญาหาทางเข้าสนามศุภชลาศัยไม่เจอ จนต้องระเห็จไปโชว์ที่สนามเดียวกัน ด้วยคำปฏิเสธ "ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่" สั้น ๆ ประโยคเดียว

จะมีก็เพียง 'King of Pop' ผู้ล่วงลับ กับอภิมหาโปรเจกต์ 'MICHAEL JACKSON DANGEROUS WORLD TOUR LIVE IN BANGKOK 1993' เท่านั้น ที่ลอดผ่านซุ้มประตูเข้ามาจัดแสดงดนตรีลือลั่นโลกครั้งนั้นได้ (24 และ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2536)

ขอนอกเรื่องหน่อย เพราะคำว่า "โรคเลื่อน" เกิดขึ้นและได้รับความนิยมก็ช่วงคอนเสิร์ต ไมเคิล แจ็คสัน นี่เอง โดยเดิมกำหนดวันแสดงไว้ 2 รอบ 24 - 25 สิงหาคม แต่พอคอนเสิร์ตรอบแรกจบลง ราชาเพลงป็อป (ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงานที่ไทย) ถูกกล่าวหาจากสำนักงานตำรวจ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ด้วยข้อหากระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก โดยเจ้าหน้าที่ได้บุกตรวจค้นบ้านพักของเขา จึงเป็นที่มาของการเลื่อนโชว์อีกสองครั้งสองคราในช่วงเวลาสองวัน โดยสื่อมวลชนไทยนำท่าเต้น ‘ลูบเป้า’ อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว มาผูกโยงเข้ากับคำ ‘โรคเลื่อน’ แฝงนัยถึงอวัยวะบางชิ้นซึ่งมิได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ควร

อีกคำค่อนแคะจากโลกออนไลน์ซึ่งถูกแชร์อย่างมากก็คือ "สนามศุภชลาศัยให้บรรยากาศราวอยู่ในเกาหลีเหนือ ผสมผสานกลิ่นอายสหภาพโซเวียต" คำกล่าวนี้ดูจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด เพราะสนามศุภฯ เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 อันเป็นยุครุ่งโรจน์ของโลกฝั่งค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งอบอวลไปด้วยกลิ่นเศร้าทะมึนของสงครามเย็น - แต่ ‘บลิ้งค์’ ผู้ประดิษฐ์คำ ๆ นี้ขึ้น คงโตไม่ทันดูแสดงสดของวงร็อกรุ่นใหญ่ ‘Scorpion’ ในมหาวิหารอายุพันปีกลางกรุงอิสตันบูล

คงไม่รู้จักมิวสิควิดีโอเพลง ‘Never Tear Us Apart' ของ ‘INXS’ (1987) ว่าฉากหลังของกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของป็อปบอยแบนด์จนดูมีระดับขึ้นแค่ไหน หรือคงไม่เคยสัมผัสกับความคลาสสิคทว่าหดหู่ ระหว่างซากเมือง ‘ปอมเปอี’ กับวงดนตรีชื่อ ‘Pink Floyd’ (1972) ว่าเกี่ยวกระหวัดสอดรัดได้ดีกันอย่างน่าเหลือเชื่อเพียงใด

สุดท้ายการสรรหาคำหรือแง่มุมด้านติเตียนอย่างไม่ลืมหูลืมตา จะกลับกลายเป็นเรื่องดูถูกสติปัญญาผู้จัดทั้งสองฟากอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 'เทโร' (ไทย) นั้นไร้ประสบการณ์ด้านนี้จริงหรือ? กิตติศัพท์ความ 'เนี้ยบ' บวก 'เขี้ยว' ของ 'วาย จี เอนเตอร์เทนเมนต์ (YG)' ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้จะอ่อนด้อยประสิทธิภาพลง จนไม่สามารถการันตีเครดิตการดำเนินธุรกิจเพื่อ 'ลูกสาวในไส้' ของพวกเขาเองได้หรือ?

กำเนิดของสนามศุภชลาศัยเกิดขึ้นจากสองมือนักการเมืองสามานย์ก็จริง แต่คงเป็นพื้นที่ 123,200 ตารางเมตร (อ่านว่า - หนึ่งแสนสองหมื่นสามพันสองร้อยตารางเมตร) อันเปี่ยมศักดิ์ศรี ซึ่งทาสการเมืองทุกยุค ทุกสมัย เข้ามาทำอะไรยุ่มย่ามแทบไม่ได้ - ต่างจากยุคขับเคลื่อนอุดมการณ์จอมปลอมด้วยปลายนิ้ววันนี้

ก็แค่อยากขอให้เหล่าปวง ‘Blinks’ ผู้มองเห็นความสดใสกาววาวอันน่ารื่นรมย์ ประสบแต่ความสุข ณ เสาร์ - อาทิตย์นี้เถิด


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์