Monday, 17 June 2024
สนามศุภชลาศัย

วันนี้เมื่อ 85 ปีที่แล้ว เป็นวันก่อตั้งสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามศุภชลาศัย 

สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ แต่เดิมมีชื่อว่า กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) กรีฑาสถานแห่งชาติมีต้นกำเนิดจากการแข่งขันกรีฑานักเรียน ซึ่งจัดขึ้นในสนามกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ได้มีดำริในการจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา, โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง (คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และสโมสรสถานลูกเสือ (ที่ทำการคณะลูกเสือแห่งชาติ) จึงได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน

ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะเดียวกันก็ให้ย้ายการแข่งขันกรีฑานักเรียนไปจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงเป็นการชั่วคราว โดยในปีต่อมา กรมพลศึกษาจึงย้ายที่ทำการเข้ามาอยู่ภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งการใช้สนามกรีฑาสถานเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเปลี่ยนสถานที่จัดมาจากท้องสนามหลวง

'Born Pink World Tour' ที่สนามศุภชลาศัย ไม่คู่ควรกับ BLACKPINK ขนาดนั้นเชียวหรือ?

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงก่อนการมาถึงของ 'BLACKPINK' เพื่อ 'Born Pink World Tour' ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 - 8 มกราคม พ.ศ. 2566 นี้ โดยประเด็นพูดถึงบนโลกออนไลน์นั้นก็คือสถานที่จัดงาน - สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) ระดับตำนานของประเทศไทย ที่แสดงความคิดเห็นเชิงติเตียนว่าไม่เหมาะสมด้วยข้อความระบายอารมณ์ต่าง ๆ นานา

แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต 'สนามศุภชลาศัย' ได้ถูกใช้เพื่องานกิจกรรมอันหลากหลายทั้งระดับชาติ อาทิ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ งานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (เคานต์ดาวน์) งานระดับนานาชาติ เช่น กีฬาซีเกมส์, มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ฟุตบอลโลก (หญิง) รวมถึงงานระดับศรัทธามหาชนกับพิธีบูชามหามิสซา เนื่องในวโรกาสที่ 'สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส' เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อสี่ปีก่อน

แต่ใช่ว่าสนามศุภฯ จะรับงานจับฉ่ายรายตลาดนัดก็หาไม่ เพราะขนาดร็อกกรุ๊ปทรงเสน่ห์อันดับหนึ่งของโลก 'Bon Jovi' ยังจำใจต้องไปกางเวทีเล่นที่สนามกีฬากองทัพบก หรือแม้แต่อัจฉริยะดนตรีอย่าง 'ฟิล คอลลินส์' ก็ยังอับปัญญาหาทางเข้าสนามศุภชลาศัยไม่เจอ จนต้องระเห็จไปโชว์ที่สนามเดียวกัน ด้วยคำปฏิเสธ "ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่" สั้น ๆ ประโยคเดียว

จะมีก็เพียง 'King of Pop' ผู้ล่วงลับ กับอภิมหาโปรเจกต์ 'MICHAEL JACKSON DANGEROUS WORLD TOUR LIVE IN BANGKOK 1993' เท่านั้น ที่ลอดผ่านซุ้มประตูเข้ามาจัดแสดงดนตรีลือลั่นโลกครั้งนั้นได้ (24 และ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2536)

ขอนอกเรื่องหน่อย เพราะคำว่า "โรคเลื่อน" เกิดขึ้นและได้รับความนิยมก็ช่วงคอนเสิร์ต ไมเคิล แจ็คสัน นี่เอง โดยเดิมกำหนดวันแสดงไว้ 2 รอบ 24 - 25 สิงหาคม แต่พอคอนเสิร์ตรอบแรกจบลง ราชาเพลงป็อป (ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงานที่ไทย) ถูกกล่าวหาจากสำนักงานตำรวจ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ด้วยข้อหากระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก โดยเจ้าหน้าที่ได้บุกตรวจค้นบ้านพักของเขา จึงเป็นที่มาของการเลื่อนโชว์อีกสองครั้งสองคราในช่วงเวลาสองวัน โดยสื่อมวลชนไทยนำท่าเต้น ‘ลูบเป้า’ อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว มาผูกโยงเข้ากับคำ ‘โรคเลื่อน’ แฝงนัยถึงอวัยวะบางชิ้นซึ่งมิได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ควร

สนามกีฬาแห่งชนชาติสยามที่คุ้นกันในชื่อ... 'สนามศุภชลาศัย'

พุทธศักราช 2478 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ต้องการจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง และสโมสรสถานลูกเสือ กระทั่งได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลหอวัง บริเวณวังวินด์เซอร์เดิม เป็นระยะเวลา 29 ปี

โดยเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จึงมีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์ (วางศิลาฤกษ์) จากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มลงมือก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงเป็น 'กรีฑาสถานแห่งชาติ' (The National Stadium of Thailand) สนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทยจวบทุกวันนี้

การใช้งานกรีฑาสถานแห่งชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481

สนามศุภชลาศัย (ชื่อลำลอง - จากผู้ดำริสร้าง 'หลวงศุภชลาศัย') มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ 'อาร์ตเดโค' หรือ 'อลังการศิลป์' ที่เน้นการออกแบบเล่นกับเส้นสายแนวตั้งที่ชัดเจน กันสาดแผ่นบาง ๆ หน้าต่างเข้ามุมอาคาร หรือการออกแบบแนวเสาอิงให้แสดงออกถึงเส้นแนวตั้ง มีซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ มีอาคารรูปทรงเรขาคณิตหนักแน่นเป็นมวลทึบ

สนามกีฬาแห่งชาตินี้เคยถูกใช้เพื่อการกีฬาทุกระดับ อาทิ กีฬาเอเชียนเกมส์ 3 ครั้ง (พ.ศ. 2509, 2513 และ 2521) กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2502 กับ ซีเกมส์ ครั้งที่ 13  พ.ศ. 2528 หรือฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพและควีนสคัพ รวมถึงฟุตบอลโลกหญิง รอบคัดเลือกโซนเอเชีย / ฟุตบอลในกีฬามหาวิทยาลัยโลก (2550) และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ กับฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งจัดประจำทุกปี เช่นเดียวกับพิธีทบทวนคำปฏิญาณตนและสวนสนาม ของลูกเสือและเนตรนารี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ (1 กรกฎาคม)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top