‘ความฝันอเมริกัน’ ฝันหวานอันว่างเปล่า ในยุคเศรษฐกิจเลื่อนลอย

สมัยก่อนเคยได้ยินคำว่า ‘อเมริกันดรีม’ อยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้นักถึงความหมาย เพิ่งจะมาเข้าใจก็ตอนที่อาศัยอเมริกาเป็นบ้านแห่งที่สองนี่เอง

ที่มาของคำว่า ‘อเมริกันดรีม’ หรือ ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ นั้น น่าสนใจไม่ใช่น้อย

หลายคนเชื่อว่าแนวคิดอเมริกันดรีมนั้นมาจากรากฐานของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ที่มีหลักการว่าทุกคนได้รับสิทธิในการดำเนินชีวิต เสรีภาพและการแสวงหาความสุขโดยเท่าเทียมกัน หากว่ายังไม่ค่อยชัดเจนกับแนวคิดนี้ คงต้องไปอ่านงานเขียน เรื่อง ‘มหากาพย์แห่งอเมริกา’ หรือ The Epic of America ของเจมส์ ทรัสโลว์ อดัมส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วที่กล่าวถึงอเมริกันดรีมไว้อย่างชัดเจนว่า...

“อเมริกันดรีม คือ ความฝันถึงแผ่นดินที่ทุกคนจะมีชีวิตดีขึ้น เติมเต็มยิ่งขึ้น และร่ำรวยยิ่งขึ้น โอกาสมาพร้อมความสามารถ สิ่งที่พูดถึงนี้มิใช่ความฝันง่ายๆอย่างอยากมีรถหลายคันหรือมีเงินเดือนสูง แต่เป็นความฝันเรื่องระเบียบสังคมที่ทั้งหญิงและชายจะได้รับการยอมรับตัวตน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีชาติกำเนิดเช่นไร”

ความหมายดั้งเดิมของอเมริกันดรีมหรือความฝันแบบอเมริกันในยุคแรก ๆ ซึ่งอาจนิยามได้ว่าเป็นความเท่าเทียมทางโอกาสและเสรีภาพที่เอื้อให้ทุกคนบรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตด้วยการทำงานหนักและด้วยความมุ่งมั่น แต่ในปัจจุบันคนทั่วไปมองว่าอเมริกันดรีมคือการแสวงหาความมั่งคั่ง จากความสามารถและการทำงานหนักเท่านั้น

ใคร ๆ ก็รู้ว่าอเมริกานั้นมีวัฒนธรรมที่ 'พันทาง' มาก เพราะวัฒนธรรมจับฉ่ายติดมากับผู้อพยพที่เข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองแต่ละยุคสมัย...บางคนอาจหมายถึงโอกาสที่จะกลายเป็นคนร่ำรวยมั่งคั่งกว่ารายรับที่เคยได้ในประเทศเดิม...บางคนอาจหมายถึงโอกาสที่ลูกหลานจะเจริญเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าได้รับการศึกษาที่สูงกว่าในประเทศเดิม...และบางคนอาจเป็นการได้รับโอกาสเป็นปัจเจกชน ที่ปราศจากการกีดกันด้วยชนชั้นทางสังคม จากวรรณะ เชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ อย่างในกรณีสตรีมุสลิมที่มีการเลือกปฎิบัติหรือไม่อนุญาตให้ทำงานหรืออินเดียที่มีเรื่องวรรณะเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงาน

จริง ๆ แล้วแนวคิดเรื่องอเมริกันดรีมมีประวัติย้อนหลังไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช่วงเวลานั้นมีการส่งเสริมชาวอังกฤษให้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา โดยมีการโฆษณาแผ่นดินใหม่ว่าชาวอาณานิคมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าชีวิตในประเทศอังกฤษ ทั้งนี้เพราะอเมริกากว้างใหญ่ไพศาลและมีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือ การเดินทางมาสู่อเมริกาจึงเหมือนการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้ชีวิต

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการในการเกิด 'อเมริกันดรีม' คือในศตวรรษที่ 19 เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ยากไร้ที่ถีบตัวขึ้นไปเป็นมหาเศรษฐี เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและกลายเป็นดวงดาวแห่งความหวังให้อเมริกันทุกคน โดยเรื่องราวของแอนดรูว์ คาร์เนกี้ และจอห์น ดี. รอกกี้เฟลเลอร์ รวมทั้งนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงเช่น ฮอเรโช อัลเจอร์ สร้างบรรทัดฐานในสังคมว่า ความสามารถและการทำงานหนักสามารถนำไปสู่ความมั่งคั่งได้  ทำให้อเมริกันทุกคนมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนจะมีโอกาสเช่นนี้บ้าง

แต่หากจะถามคนอเมริกันทั่วไปแบบไม่ต้องอิงประวัติศาสตร์ให้วุ่นวายแล้ว คงได้คำตอบว่าอเมริกันดรีม คือ บ้านหลังใหญ่ สนามกว้างหลังบ้าน รถยนต์อย่างน้อยสองคัน ลูกสามคน หน้าที่การงานและเงินเดือนสูงๆ โดยที่สามารถจ่ายบิลและยังมีเหลือเก็บแบบที่ภรรยาไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน นั่นเป็นคำตอบง่ายๆ ในใจคนอเมริกัน ดังนั้นการมีบ้านและรถจึงเป็นความฝันหลักในหมวดอเมริกันดรีมนั่นเอง คนอเมริกันถึงมักอวดบ้านตนเองอย่างภาคภูมิใจกันแทบทุกครัวเรือน

'ความฝันอเมริกัน' จึงเป็นความเชื่อของชาวอเมริกันว่า หากมุ่งมั่นทำงานหนัก โดยไม่คำนึงถึงชนชั้นทางสังคม ย่อมสามารถบรรลุสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้เสมอ ซึ่งชาวอเมริกันยึดถือคตินิยมนี้สืบมาหลายชั่วคน แต่เริ่มแพร่หลายมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะมีแนวคิดนี้มาตั้งแต่ครั้งอาณานิคมแล้วก็ตาม 

สำหรับแนวคิดแบบอเมริกันดรีมนี้ มักแทรกอยู่ในวรรณกรรมและภาพยนตร์มาตลอด ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ก็สะท้อนแนวคิดนี้ทั้งนั้น แนวคิดหลักในเรื่องนี้คือ ตัวเอกจะเริ่มต้นชีวิตจากศูนย์แต่ด้วยการทำงานหนักและมุ่งมั่น ตัวเอกกลายเป็นผู้ชนะที่ทุกคนยกย่องในสังคมอเมริกันในที่สุด เรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือภาพยนตร์เรื่อง Rocky อันเป็นเรื่องราวของ 'ร็อคกี้ บัลบัว' นักมวยไร้อันดับผู้อาศัยอยู่ในย่านซอมซ่อแห่งหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย แต่สามารถชกชนะนักมวยรุ่นใหญ่นำเงินและชื่อเสียงมาสู่ตนจนกลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งในวงการมวย

นอกจากนี้ยังปรากฎอยู่ในวรรณกรรมเรื่องเอกของอเมริกาอย่าง The Great Gatsby รวมทั้งแง่ลบของการไล่ล่าความฝันอเมริกันดรีมในวรรณกรรมเรื่อง 'อวสานเซลล์แมน' หรือ Death of a Salesman ของอาเธอร์ มิลเลอร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม อเมริกันดรีม ก็ยังคงอยู่ในใจของอเมริกันทุกคนที่มุ่งมั่นจะไปสู่ดวงดาวนั้นให้ได้ แต่สภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ อเมริกันดรีมจึงเป็นเพียงความฝันอันว่างเปล่าและเลื่อนลอยสำหรับอเมริกันส่วนมากในประเทศ


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้