‘สุริยะ’ เผยดัชนี MPI 11 เดือน โต 1.55% คาดปี 2566 จะขยายตัวช่วง 2.5 – 3.5%

กระทรวงอุตสาหกรรม เผย MPI เดือน พ.ย. ปี 65 ขยายตัวจากเดือนก่อน 1.55% รับเศรษฐกิจในประเทศฟื้น คาดปีหน้าดัชนีภาคอุตฯ ขยายตัวต่อเนื่องหลังเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวขยายตัว 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน ปี 2565 อยู่ที่ 95.11 ขยายตัวร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.63 สำหรับภาพรวมดัชนี MPI สะสม 11 เดือนของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.68 ขยายตัวร้อยละ 1.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต สะสม 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.02 เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาข้อจำกัดในการผลิตได้คลี่คลายลง อาทิ ค่าระวางเรือมีทิศทางลดลง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าดัชนีอุตสาหกรรมจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2566

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2565 หดตัวร้อยละ 5.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกลับมาผลิตเป็นปกติในเดือนธันวาคม 2565 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน 2565 ยังคงเป็นยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปาล์มจากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หลังจากราคาปาล์มน้ำมันในปีก่อนปรับสูงขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงต้นและลูกปาล์ม ส่งผลให้ปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน และเครื่องปรับอากาศที่กลับมาเร่งผลิตได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2565 คาดว่าดัชนี MPI จะขยายตัวจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลาย ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องสามารถกลับมาเร่ง การผลิตได้อีกครั้ง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ด้วยตลาดส่งออกสำคัญมีแนวโน้มจะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยจากภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงาน

ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนี MPI ปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง การปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนกระทบต่อภาคการส่งออก และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.95 จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง เป็นหลัก จากการเร่งผลิตหลังได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ประกอบกับมีการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้เพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปี

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.47 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนราคาจำหน่ายของปาล์มน้ำมันสูง จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงต้นและลูกปาล์ม ส่งผลให้ปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน 

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.57 จากการส่งออกที่ขยายตัว โดยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และฟิลิปปินส์ รวมถึงการเร่งผลิตและส่งมอบสินค้าหลังจากช่วงก่อนหน้ามีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน 

เบียร์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.95 จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว  สถานบันเทิงและร้านอาหารเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบมากกว่าปีก่อนที่ยังมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.08 จากผลิตภัณฑ์ วงจรรวม และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก ตามความต้องการของตลาดโลกที่ยังคงมีอยู่