ภาษิตของคนทำจริง “กริยา เจ กริยาเถนัง จะทำสิ่งไร ควรทำจริง” สิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญจาก ‘เสด็จเตี่ย’ 

ก่อนอื่นผมขอแสดงความเสียใจกับลูกเรือ เรือหลวงสุโขทัย ทหารเรือผู้เดินทางไปร่วมกับเรือ และผู้สูญเสียทุก ๆ ท่านนะครับ โดยส่วนตัวผมค่อนข้างมีความผูกพันกับทหารเรืออยู่มาก เพราะผมมีเพื่อนที่เป็นทหารเรือและเพื่อนที่มีภูมิลำเนาอยู่ ณ ถิ่นทหารเรืออย่างสัตหีบอยู่มากโข จึงค่อนข้างเศร้าที่ได้ฟังข่าวการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย และรำลึกถึงเพื่อน ๆ ทหารเรือที่ได้จากไป และอยากจะขอทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้ว่าอย่าได้ปรามาสทหารเรือไทยเลยครับ เพราะพวกเขาปกป้องอธิปไตยเพื่อพวกเราคนไทยทุกคน และพวกเขาก็ทุกข์กับการสูญเสียเพื่อนทหารอันเป็นที่รักเช่นเดียวกัน 

เรื่องนี้ผมเขียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งปกติจะมีวันที่ 19 ที่มีความสำคัญกับลูกประดู่และผมอยู่ 2 วัน วันแรกคือ วันที่ 19 พฤษภาคม ‘วันอาภากร’ วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ และอีกวันคือวันที่ 19 ธันวาคม ‘วันอาภากรรำลึก’ คือวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ แน่นอนที่ผมยกวันสำคัญ 2 วันนี้มา เพราะผมอยากจะเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ พลเรือเอก พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’ 

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด สายสกุลบุนนาค เป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในทวีปยุโรป โดยเสด็จฯ ไปคราวเดียวกับ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ’ (รัชกาลที่ 6 ในกาลต่อมา) ทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ และเสด็จฯ กลับสยามเมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงมีความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการพัฒนากองทัพเรือสยามให้สามารถเกรียงไกรเทียบเท่าอารยประเทศ โดยปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ในทุก ๆ ด้าน เน้นหนักวิทยาการสมัยใหม่ และการฝึกเพื่อการเป็นนายทหารเรือที่เก่งกาจไม่แพ้ใครในโลก 

ถึงตรงนี้บอกก่อนผมไม่ได้จะมาเล่าเรื่องราวของพระองค์เป็นหลักนะครับ เพราะพระประวัติของพระองค์นั้นมีคนเล่าสู่กันฟังอยู่มากมายแล้ว อ้าว!!! เกริ่นมาอย่างยาวแล้วจะไปเล่าเรื่องอะไรล่ะ? ก็จะมาเล่าถึง ‘ภาษิต’ และการ ‘ทำจริง’ ของพระองค์ เพราะทั้ง 2 วันสำคัญที่ผมเกริ่นมาข้างต้น จะยกเอา ‘ภาษิต’ และการ ‘ทำจริง’ มา ‘รำลึก’ ถึงพระองค์ท่าน

“กริยา เจ กริยาเถนัง จะทำสิ่งไร ควรทำจริง” คือ ‘ภาษิต’ นั้น โดยปรากฏอยู่บนตราประจำพระองค์ ซึ่งเป็นตราประจำราชสกุล ‘อาภากร’ คือ ตราสุริยมณฑล มีสุริยเทพบุตร อยู่บนราชรถเทียมสิงห์ แล้วคุณเชื่อไหม? ตราประจำองค์นี้ได้มาเมื่อพระองค์ถูกปลดจากราชการทหารเรือ!!!! และผู้ที่พระราชทานตราประจำพระองค์นี่ก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ปลดพระองค์จากทหารเรือนั่นเอง!!! ด้วยสาเหตุคือทรง “ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้าน…” แต่ในท้ายที่สุดมูลเหตุที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยในคราวนั้น พบคำตอบที่ชัดเจนใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2” ว่า... 

“เพราะไม่เสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือ ทั้งยังทรงเป็นต้นแบบให้นายทหารเรือรุ่นหนุ่มคิดกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา” เนื่องจาก ‘เสด็จเตี่ย’ อยากต่อรองสวัสดิการต่าง ๆ ให้ทหารเรือ แต่เมื่อท้ายที่สุดในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยความว่า “ใน พ.ศ. 2454 นั้นเอง, กรมชุมพรได้ขอเข้ารับราชการในกองทัพเรือตามเดิมบังเกิดความรู้สึกกระดากขึ้นในใจว่าอาจจะได้ประพฤติต่อกรมชุมพรข้อนข้างแรงเกินไปสักหน่อย เมื่อคำนึงดูว่าทั้งผู้ที่เปนโจทก์ ทั้งผู้ที่ได้เปนที่ปรึกษาในเมื่อวินิจฉัยคดีนั้นเปนผู้ที่ไม่ชอบกับกรมชุมพรส่วนตัวอยู่ แต่กรมชุมพรก็มีความผิดจริงอยู่ด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วซึ่งจะละเลยเสียทีเดียวนั้นก็หาได้ไม่” ซึ่งด้วยความ ‘ทำจริง’ ของทั้งในหลวงรัชกาลที่ 6 และ ‘เสด็จในกรม’ ทำให้เกิดตราประจำองค์ในระหว่างถูกปลดจากการเป็นทหารเรือขึ้นนั่นเอง 

ตราประจำพระองค์นี้ ‘เสด็จในกรม’ ได้มาหลังจากทรงถูกปลด 3 เดือน โดยการที่ได้มานั้น พระองค์ได้ทรงสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองเสือป่า ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงใฝ่พระราชหฤทัย ที่จะได้ฝึกฝนข้าราชการพลเรือนให้มีความรู้วิชาทหาร และมีวินัย จนกระทั่งได้รับพระราชทานธงประจำพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริและทรงออกแบบธงประจำตัวนายเสือป่าชั้นสัญญาบัตรพระราชทานให้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งธงประจำพระองค์ของ ‘เสด็จในกรม’ มีพื้นธงสีแดงชาดตามวันประสูติ คือวันอาทิตย์ ลายในธงเป็นรูปสุริยมณฑล คือรูปพระอาทิตย์ ซึ่งงานช่างอย่างไทยเขียนเป็นรูปราชรถเทียมสิงห์อยู่ภายในวงกลม

ทำไม? ต้องเป็น ‘รูปสุริยมณฑล’ สันนิษฐานได้จากพระนาม ‘อาภากร’ อันมีความหมายว่า ‘พระอาทิตย์’ และมีนัยถึงการที่ทรงสืบสายสกุลจากราชนิกุลบุนนาคในสมเด็จพระเจ้ายาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งถือตราประจำตัวเป็นตราสุริยมณฑลเช่นกัน และจากพระนามของพระองค์ ‘อาภากรเกียรติวงศ์’ ซึ่งแปลว่า ‘ผู้เกิดในวงศ์ตะวันอันมีเกียรติ’ ซึ่งในช่วงชีวิตของพระองค์ พระองค์ก็เปรียบดังดวงตะวันของเหล่าทหารเรือ 

ส่วน ‘กยิรา เจ กยิราเถนํ’ ออกเสียงอ่านว่า ‘กะ ยิ รา เจ กะ ยิ รา เถ นัง’ เป็นวรรคหนึ่งของคาถาภาษาบาลีซึ่งมีเต็ม ๆ 4 วรรค (1 บาท) ข้อความเต็มทั้ง 4 บาท มีดังนี้

กยิรา เจ กยิราเถนํ           ทฬฺหเมนํ ปรกฺกเม
สิถิโล หิ ปริ พ พฺ าโช      สว ภิยฺโย อากิรเต รชํ

คาถานี้เป็นพระพุทธพจน์มีปรากฏในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ถ้อยคำที่ใครคนหนึ่งแต่งขึ้นในภายหลังข้อความนี้ เป็นถ้อยคำที่หยิบยกมาจากพระไตรปิฎก ภาษาบาลีนิยมเขียนแยกเป็นคำ ๆ คาถาประจำพระองค์ จึงต้องแยกเป็นคำ ๆ คือต้องเขียนว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ แต่คาถาประจำพระองค์เท่าที่ปรากฏมักเขียนต่าง ๆ กัน อาทิ เขียนติดกันไปหมดเป็น กยิราเจกยิราเถนํ / แยกเป็น 2 วรรค คือเป็น กยิราเจ กยิราเถนํ มีบางแห่งแยกเป็น 3 วรรคเหมือนกัน แต่เป็น กยิราเจ กยิรา เถนํ ซึ่งไม่ถูกหลักการเขียนภาษาบาลี ซึ่งคาถา / ภาษิตนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงยกมาประกอบตราสุริยมณฑล โดยทรงคำนึงถึงพระบุคลิกของ ‘พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากร’ เป็นสำคัญ

นอกจากภาษิตประกอบตราประจำพระองค์แล้วนั้น ‘เสด็จเตี่ย’ ยังได้ทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนสอนใจ กยิราเจ กยิราเถนํ

“จะทำสิ่งไร ควรทำให้จริง” ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้…

ทำงานทำจริงเจ้า               จงทำ                Work While you Work
ระหว่างเล่นควรจำ                  เล่นแท้              Play While you Play
หนทางเช่นนี้นำ                     เป็นสุข              That is the Way 
ก่อให้เกิดรื่นเริงแม้                  นับถือทวีคูณ        To be cheerful and gay 
ทุกสิ่งทำเช่นนั้น               ควรตรอง           All that you do 
โดยแน่สุดทำนอง                  ที่รู้                      Do With  your might 
สิ่งใดทำเป็นลอง                   ครึ่งครึ่ง               Things done by half 
สิ่งนั้นไม่ควรกู้                     ก่อให้เป็นจริง      Are never done right

“ตอกตะปูลงตรง นะเจ้าเด็ก        เสียงเป๊กตีตรง ลงที่หัว
เมื่อเจ้าตีเหล็กนะ เจ้าอย่ากลัว        ตีเมื่อตัวเหล็กยังแดง เป็นแสงไฟ
เมื่องานมีที่ต้องทำ นะเจ้าเด็ก        เป็นข้อเอกทำจริง ไม่ทิ้งไถล
ที่เขาขึ้นยอดได้ สบายใจ        ก็เพราะได้ปีนเดิน ขึ้นเนินมา
ถ้าเด็กใดยืนแช อยู่แต่ล่าง        แหงนคว้างมองแล สู่เวหา
จะขึ้นได้อย่างไร นะลูกยา        ทำแต่ท่าแต่ไม่ลอง ทำนองปีน
ถึงหกล้มหกลุก นะลูกแก้ว        อย่างทำแซ่วเสียใจ ไม่ถวิล
ลองเถิดลองอีกนะ อย่าราคิน        ที่สุดสิ้นเจ้าคงสม อารมณ์เอย." 

ตัวอย่างการ ‘ทำจริง’ ที่ยกตัวอย่างได้ถนัด ก็เช่นครั้งที่พระองค์ถูกปลดจากทหารเรือประจำการแล้วทรงมาเป็น ‘หมอพร’ ครั้งนั้นก็ทรงจริงจังกับการเป็นหมอพร ด้วยการทรงศึกษาวิชาแพทย์ทั้งของไทยและฝรั่ง ทรงนำความรู้ทั้ง 2 แบบมาผสมผสานและทดลอง ทำจริงจนเขียนตำรับยา ตำรับการรักษาได้ ทรงรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไปได้จริง โดยไม่คิดเงิน รักษาอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยการ ‘ทำจริง’ ทำให้ผู้คนที่ พาลนึกไปว่าพระองค์เปรียบเหมือน ‘เทวดา’ ที่ลงมาโปรดมนุษย์ในโลกมากกว่าจะเป็นเจ้านาย จึงพร้อมใจขานนามพระองค์ว่า ‘หมอพรเทวดา’

การ ‘ทำจริง’ แสดงผ่านพระจริยวัตรของพระองค์แบบที่เรียกได้ว่า ‘ไม่ถือพระองค์’ ทรงนับนักเรียนนายเรือเป็น ‘ลูก-ศิษย์’ มากกว่าเป็น ‘เจ้า-นาย’ เรื่องนักเรียนนายเรือเรียกพระองค์ว่า ‘เสด็จเตี่ย’ เพราะพระองค์ ‘ทำจริง’ จนเป็นที่ประทับใจในหมู่ศิษย์ 

ซึ่งในเวลานั้นทหารเรือมีขนาดเล็ก บุคลากรจำกัด การถ่ายทอดความรู้และความสัมพันธ์กัน ก็ย่อมทำให้เกิดความผูกพัน ตัวอย่างเช่น เมื่อนายทหารเรือบางคนพบเห็นว่า นักเรียนนายเรือแสดงท่าทีขยะแขยงไม่กล้าล้วงส้วมตัน ‘เสด็จในกรม’ ยังทรงปฏิบัติให้ดูด้วยพระหัตถ์ หรืออย่างตอนที่มีนักเรียนนายเรือใหม่ ๆ ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีป ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า “อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้” แม้ว่าอีกส่วนหนึ่งจะจดจำพระองค์ว่าทรง ‘ดุ’ มากด้วยก็ตาม 

ถึงตรงนี้ จึงไม่แปลกใจที่ลูกประดู่ทั้งหลายเมื่อลงมือทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ ทั้งนี้ก็รวมไปถึงผู้ที่นับถือพระองค์ท่านด้วย ไม่ว่าจะในทางอิทธิปาฏิหาริย์หรือในทางที่ท่านทรงเป็นตัวอย่างอันควรเคารพในในฐานะ ‘ปูชนียบุคคล’ และการทำจริงนี้ พระองค์ได้ทรงสะท้อนออกมาทางบุคลิกภาพ จึงทำให้สามารถคบหาสมาคมได้กับทุกชนชั้น อย่างไม่ถือพระองค์ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ว่า “ไม่ว่าใครที่บรรดากรมหลวงชุมพรฯ ได้คบหาสมาคม จะเป็นพระก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม เจ้าก็ตาม ไพร่ก็ตาม คงมีใจรักใคร่ไม่เลือกหน้า…”

ในบั้นปลายพระชนมชีพ ‘เสด็จเตี่ย’ ได้ทรงลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมมีชื่อว่า ‘มณฑลชุมพร’ อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 แต่การทำจริงของพระองค์นั้นยังคงอยู่คู่สยามมาจนถึงทุกวันนี้…


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager