ฉายานักการเมืองส่งท้ายปี 65 มาลองตั้งตามธรรมเนียมกันเถอะ

พอถึงใกล้สิ้นปี สื่อมวลชนจะตั้งฉายาให้นักการเมืองอย่างแสบๆ คันๆ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฎิบัติไปแล้ว เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องล้อกันเล่นสนุก ๆ แต่บางปีก็เล่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง ชนิดที่เรียกว่านักการเมืองที่โดนตั้งฉายายิ้มไม่ออกเลยก็มี

นักข่าวกลุ่มแรกที่ตั้งฉายาให้กับแหล่งข่าวคือ นักข่าวสายทำเนียบฯ โดยหากย้อนกลับไปในอดีต นักข่าวทำเนียบฯ มีประเพณีตั้งฉายาให้ผู้นำประเทศ นักการเมือง และคณะรัฐมนตรีติดต่อกันมายาวนานกว่า 30 ปี แถมยังมีการเลือก ‘วาทะแห่งปี’ ซึ่งมาจากวลีเด็ดของนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น ๆ ด้วย

สมัยที่สื่อออนไลน์สื่อโซเชียลยังไม่มี นักข่าวแต่ละสายจะสนิทสนมกันมาก โดยเฉพาะสายทำเนียบ เพราะนั่งออรอข่าวอยู่ในรังนกกระจอก สมัยนั้นสื่อมีไม่กี่ฉบับ แม้บางทีจำชื่อไม่ได้ แต่เห็นหน้าค่าตากันก็ร้องอ๋อทันที โดยระบุอัตลักษณ์จากสื่อที่สังกัด แต่สมัยนี้สื่อมีหลากหลายจนสื่อรุ่นเก่ายืนงง ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ไหน ๆ เล่าเรื่องอดีตแล้ว บอกตรง ๆ ว่านึกดีใจแทนนักข่าวยุคปัจจุบันมาก แค่มือถือเครื่องเดียวทำได้สารพัดประโยชน์ สมัยก่อนนักข่าวต้องไปพร้อมตากล้อง ซึ่งแบกกล้องพร้อมซูมหลากชนิดในกระเป๋ากล้องใบใหญ่ แต่ถ้านักข่าวคนไหนสามารถถ่ายรูปเองได้ก็ฉายเดี่ยวไป ตอนสัมภาษณ์ต้องใช้เครื่องอัดเทปขนาดกลาง น้ำหนักมาก รุ่นที่ฮิตมากคือพานาโซนิค ซึ่งเจ๊งไปแล้ว อัดเทปคาสเซท เขียนข่าวเสร็จ โทรตามพนักงานรับส่งเอกสารมารับขับกลับสำนักข่าว เพราะสมัยก่อนไม่มีอินเตอร์เนต สมัยนี้การทำข่าวสะดวกสบายกว่าเก่ามาก 

รัฐบาลแรกที่ถูกนักข่าวทำเนียบตั้งฉายาก็คือรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี พ.ศ. 2523-2531 ซึ่งครั้งนั้น พลเอกเปรมได้ฉายาว่า ‘เตมีย์ใบ้’ เนื่องจากเป็นนายกฯ ที่มีบุคลิกสุขุม ทำงานหนัก แต่พูดน้อย ด้วยบุคลิกท่านที่มีความเมตตาสูง ทำให้พวกนักข่าวเรียกว่า ‘ป๋าเปรม’ จำได้อย่างแม่นยำว่าปีนั้นวาทะแห่งปีก็คือ ‘กลับบ้านเถอะลูก’ สืบเนื่องมาจากเวลานักข่าวไปดักรอท่านหน้าทำเนียบตอนเย็นๆ ท่านจะบอกว่า “กลับบ้านเถอะลูก” 

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับฉายาว่า ‘รัฐบาลเพลย์บอย’ เพราะบุคลิกของพลเอกชาติชายคือทรงเอเป๊ะๆ ลุคเพลย์บอยชัดเจน ต่อมาได้รับอีกฉายาคือ ‘ปลาไหลใส่สเก็ตซ์’ คงพอนึกออกว่าทำไมถึงได้ฉายานั้น 

ส่วนยุคของนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ได้รับฉายาว่า ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ 

นายกบรรหาร ศิลปอาชา ได้ฉายาว่า ‘หลงจู๊’ เพราะมีลักษณะการทำงานที่ชอบล้วงลูก พอนึกถึงหลงจู๊แล้วต้องนึกถึง ‘ลูกท้อป’ และ ‘ลูกนา’ นักข่าวรุ่นนั้นเวลาไปทำข่าว บางทีก็ไปรอที่บ้านท่านบรรหาร จึงเห็นทั้ง ‘ลูกนา’ และ ‘ลูกท้อป’ เป็นประจำ แม้จนปัจจุบันเวลาเห็นหน้าท่านรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา นักข่าวอาวุโสส่วนมากยังนึกถึงชื่อ ‘ลูกท้อป’ อยู่นั่นเอง ซึ่งลูกท้อปในวันนี้กลายเป็นรัฐมนตรีที่เก่งกาจฉลาดเฉลียว แถมพูดภาษาอังกฤษแบบบริติชคล่องเปรี๊ยะ

สมัยของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ฉายาว่า ‘จิ๋วหวานเจี๊ยบ’ บิ๊กจิ๋วนั้นหวานเสมอ โดยเฉพาะกับนักข่าวสาว ๆ 

รัฐบาลทักษิณ 1 ได้ฉายาว่า ‘เศรษฐีเหลิงลม’ เพราะหลงอำนาจอย่างสุดติ่ง 

ส่วนรัฐบาลทักษิณ 2 ได้รับฉายาว่า ‘พ่อมดมนต์เสื่อม’ เพราะดีแต่พูด แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย 

รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ฉายาว่า ‘รัฐบาลขิงแก่’ เพราะคณะรัฐมนตรีมีแต่ผู้สูงอายุและอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว 

มีบางปีที่สื่อประจำทำเนียบฯ งดตั้งฉายาให้แก่รัฐบาล เช่น ช่วงพฤษภาทมิฬฯ เมื่อปี 2535 ซึ่งเกิดวิกฤตการเมืองรุนแรง หรือปีของรัฐบาลนอมินี อย่างรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชและรัฐบาลของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ถึงสื่อจะไม่ได้ตั้งฉายา ด้านอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ตั้งฉายาให้รัฐบาลแทน โดยรัฐบาลสมัครได้รับฉายาจากนายธีรยุทธว่า ‘รัฐบาลลูกกรอก 1’ เพราะเพียงนอมินีของทักษิณ ชินวัตร 

ส่วนรัฐบาลของนายสมชายนั้นได้รับฉายาสุดฮาว่า ‘รัฐบาลชายกระโปรง’ ซึ่งก็สมตัวสุด ๆ แล้ว 

เราลองมาตั้งฉายาให้นักการเมืองคนโปรดและคนไม่โปรดกันบ้างไหม ถือเป็นการเล่นสนุกส่งท้ายปี จัดไปทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จัดมาให้เต็มคาราเบล เอ้า...เริ่มได้