ข้อคิดจากวิกฤติเงินเฟ้อ ‘อาร์เจนติน่า’ ผลพวงจากนโยบายประชานิยมสุดโต่ง

ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความยินดีกับทีมฟุตบอลอาร์เจนติน่าที่เพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาสดๆ ร้อนๆ สร้างความดีอกดีใจให้ชาวอาร์เจนติน่าถึงกับออกมาฉลองกันทั่วประเทศอย่างมืดฟ้ามัวดิน และคาดว่าคงฉลองกันอีกนานยันหลานบวช  ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับชาวอาร์เจนติน่าที่ผูกพันกับฟุตบอลมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเรื่องราวประเทศนี้ จริง ๆ แล้วหากย้อนประวัติศาสตร์อาร์เจนติน่าจะเห็นว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจมากประเทศหนึ่ง เพราะเคยเป็นประเทศเกษตรที่รวยที่สุด พรีเมี่ยมที่สุด เนื่องจากปลูกหญ้าที่ดีที่สุดได้ เลยทำให้มีเนื้อวัวชั้นดี เป็นแผ่นดินเหมือนเทพประทาน รวยขนาดเมื่อ 100 ปีก่อน มี GDP ที่ 7 ของโลก แถมพร้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ถือเป็นประเทศแถบละตินอเมริกา ที่มีคนยุโรปอยู่เยอะเป็นอันดับต้น ๆ แถมน่าจะมีทรัพยากรล้ำค่าเยอะมาก ดูจากชื่อประเทศ Argentina มาจากคำว่า 'Argentum' ในภาษาลาติน แปลว่า เงิน หรือแร่เงิน แต่คำถามที่ตามมาคือ ทำไมปัจจุบันถึงกลายเป็นประเทศที่เงินเฟ้อ 100% และมีวิกฤติเศรษฐกิจตลอดเวลา

สาเหตุของความตกต่ำล่มสลายคือนโยบายประชานิยมตั้งแต่ยุคเปรอง จนมีศัพท์ว่า peronismo outlast perong คือระบบเปรองนั้นมีชีวิตยาวนานกว่าเปรอง ท้าวความถึงเปรองแล้วคงต้องเขียนถึงภรรยาตัวจี๊ดของเปรองด้วย หลายคนจดจำละครบรอดเวย์เรื่องเอวิต้าได้จากบทเพลงแสนเศร้าคือ Don’t cry for me Argentina เพลงนี้ไม่ใช่แค่เพลง แต่คือโฆษณาชวนเชื่อยุคนั้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือเรื่องทางการเมืองในอาร์เจนติน่า

ภาพพจน์ของอวิต้ายังเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะก้ำกึ่งระหว่างนางฟ้าผู้อุทิศตนเพื่อคนยากกับหญิงทะเยอทะยานกระหายอำนาจ เอวิต้านั้นถูกมองว่าเป็นทั้งนักบุญและนางบาป แล้วแต่ฝ่ายไหนจะมองจากแว่นสีใด แม้ร่างจะดับสูญไป แต่ยังทิ้งคำถามคาใจชาวโลกว่า แท้จริงแล้วเธอและสามีนำพาอาร์เจนตินาไปสู่ความรุ่งโรจน์หรือหายนะกันแน่

เอวิต้าเกิดในครอบครัวยากจน แต่ทะเยอทะยาน จึงเดินทางมาสู่เมืองหลวงและใช้เต้าไต่เพื่อหาโอกาส 'เกิด' จนกลายเป็นนางแบบและนักแสดง ในปี ค.ศ. 1944 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่เมืองซานฮวน

ฮวน เปรอง รองประธานาธิบดีและหัวหน้ากรมแรงงานสวัสดิการสังคม จัดงานระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเชิญดารานักร้องคนดังมาร่วมงาน คืนนั้นทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรก และกลายเป็นคนรักใหม่ของฮวน เปรอง

ฮวน เปรองตั้งระบบประกันสังคมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในอาร์เจนตินา เอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นล่าง เป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดารากหญ้าจนได้ฐานคะแนนเสียงจากคนเหล่านี้ รัฐบาลทหารมองว่าเปรองมีอำนาจมากเกินไปจึงสั่งจับ แต่พวกกลุ่ม 'เดสกามิซาโดส' Descamisados หรือกรรมกรและคนยากจนในเมืองรวมตัวประท้วงให้ปล่อยตัว จากนั้นฮวน เปรองก็แต่งงานกับเอวิต้า เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจกับชนชั้นสูงและทหารในกองทัพอย่างหนัก

ต่อมาเปรองสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคแรงงาน และได้รับเลือกอย่างถล่มทลาย เอวิต้าจึงกลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสามสิบ เอวิต้าสร้างภาพพจน์ให้ตนเป็นแม่พระคนยากทำให้ชนะใจชนชั้นแรงงาน ส่วนเปรองชูนโยบายเอื้อต่อกลุ่มชนชั้นล่างเพื่อสร้างความนิยมอย่างเต็มรูปแบบภายใต้ชื่อ 'อาร์เจนตินาใหม่' สรุปง่าย ๆ คือประชานิยมเราดี ๆ นี่แหละที่ใช้ผูกใจรากหญ้าให้รักใคร่ใหลหลง

เปรองส่งเอวิต้าไปเดินสายทั่วยุโรปในนาม 'เส้นทางสายรุ้ง'  เมื่อกลับมาก็ก่อตั้ง 'พรรคสตรีเปรองนิยม' ฟังดูเหมือนจะดีงามที่ให้สิทธิแก่สตรี แต่แท้จริงแล้วต้องการดึงผู้หญิงมาเป็นฐานเสียงให้เปรองนั่นเอง เมื่อเปรองได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง เอวิต้าใช้เงินโปรยหว่านเพื่อผูกใจชนชั้นแรงงานผ่านโฆษณาชวนเชื่อ แม้กระทั่งในตำราเรียน ที่เน้นสอนให้รักเอวิต้าและเปรองเหมือนพ่อแม่ตน พูดง่าย ๆ คือตั้งระบบเปรองนิยมนั่นเอง

รากหญ้าชาวอาร์เจนติน่าลุ่มหลงสองผัวเมียราวเทวดานางฟ้ามาเกิด จนถึงขั้นรบเร้าให้เอวิต้าเป็นรองประธานาธิบดีกันเลย สุดท้ายเอวิต้าก็ไม่ได้ตอบตกลง เพราะป่วยเป็นมะเร็งกำลังจะตาย ปิดฉากชีวิตในวัยเพียงแค่ 33 ปีเท่านั้น แต่เปรองยังไม่ทันได้เป็นประธานาธิบดีครบสมัยที่สอง คณะทหาร 'การปฏิวัติกู้อิสรภาพ' รัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1955  เปรองจึงหนีภัยไปประเทศปารากวัย โดยไม่ได้จัดการศพของเอวิต้า แต่เมื่อไปอยู่ที่นั่นก็ได้เมียนักระบำชื่อ 'อิซาเบล มาร์ติเนซ' ต่อมานางเมียหมายเลขสามกลายเป็นรองประธานาธิบดี เพราะเปรองได้กลับมาอาร์เจนติน่าและได้รับชัยชนะ แต่เสียชีวิต เมียคนที่สามเลยต้องเป็นประธานาธิบดีจนถูกรัฐประหารในเวลาต่อมา นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของลัทธิประชานิยมที่นำชาติบ้านเมืองสู่หายนะ

ลัทธิเปรอง (Peronism) เป็นแนวความคิดที่นำชาตินิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม มารวมกัน รัฐบาลเปรองได้ใช้นโยบายมนุษย์นิยมเอาใจรากหญ้า ทั้งในเรื่องค่าจ้าง การสร้างบ้านคนยากจน การศึกษาที่ไม่ต้องจ่ายเงินในทุกระดับจึงกลายเป็นความคลั่งไคล้ เกิดเป็นขบวนการเปรอง (Peronism)

ตอนนี้บางพรรคกำลังชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เลยทำให้เรื่องประชานิยมแบบฮวน เปรองผุดขึ้นมาในความทรงจำอีกครั้ง ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้เมืองไทยต้องเป็นอย่างอาร์เจนติน่าเลย เพราะทุกวันนี้อาร์เจนติน่ายังเป็นประเทศที่เงินเฟ้อ 100% เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตลอดเวลา และเป็นแบบนี้มา 50-70 ปี ตั้งแต่ประชานิยมแบบลัทธิเปรองนั่นเอง