ชัยวุฒิ ย้ำ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุค 4.0 เป็นสิ่งที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ีความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ทวีความสำคัญมากขึ้น การดูแลสังคม ดูแลประชาชนทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม เป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการเศรษฐกิจดิจิทัล ในหัวข้อ “Visionary Innovation 2023” พร้อมกล่าวว่า ตนตระหนักดีถึงความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทั้งจากสถานการณ์ภายนอก และภายในประเทศ ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงผลิตผลทางการเกษตร โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั่วโลก การผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศไทย 4.0 เป็นวิสัยทัศน์ของกระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีความเท่าเทียมในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ใช้อย่างมีคุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางบวก ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศ สอดคล้องกับแนวนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (2560-2580) โดยได้เร่งดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในมิติต่าง ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ หากพูดถึงสถานการณ์ด้านดิจิทัลในประเทศไทยในปัจจุบัน จะเห็นว่าอัตราส่วนการใช้งานด้านดิจิทัลของประชาชนมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากกว่า 56 ล้านคน ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมีมากกว่า 62 ล้านคน และประมาณร้อยละ 90 ของครัวเรือนในประเทศไทย มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าภาคประชาชนของประเทศไทย มีความพร้อม และความตื่นตัวด้านดิจิทัลเป็นอย่างมาก 

ขณะที่มูลค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2021 ใน 4 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ ราว 1.6 ล้านล้านบาท และในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอันเป็นผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล อยู่ที่ประมาณ 13% หรือ ประมาณ 2 ล้านล้านบาทและจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในปี 2022 ของ IMD World Competitiveness Center ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 63 อันดับ โดยได้รับคะแนนอยู่ที่ 68.19 อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกับอิตาลีและชิลี (อันดับตกลงมา จากอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 64 อันดับ ในปี 2021 แต่มีคะแนนเพิ่มขึ้น โดยปี 2021 ได้รับคะแนนอยู่ที่ 63.159) สามประเทศที่ได้อันดับสูงสุดคือ Denmark, USA และ Sweden ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่อยู่ก่อนหน้าไทย คือ สิงคโปร์ในลำดับ 4 และ มาเลเซีย ลำดับ 31

ส่วนเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญของประเทศไทยมีอยู่ 7 เทคโนโลยี ได้แก่ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูล โทรคมนาคมยุคใหม่ เช่น 5G 6G เป็นต้น Distributed ledger technology (DLT) เช่น Blockchain และสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ต่อมาคือ Quantum Computing และระบบอัตโนมัติ (Automation)

อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยจะสามารถเดินไปถึง Digital Thailand อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจ โดยใช้แนวคิดการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน (Digital Competitive Advantage) ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่

1.    Digital Access: การเข้าถึงเทคโนโลยี content และ Data เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี cloud computing การเก็บข้อมูล Nano chip การส่งข้อมูลผ่าน IoT

2.    Digital Connectivity: การเชื่อมโยง เทคโนโลยี คน ธุรกิจ สังคม ให้ถึงกัน มีเรื่อง New Wave Digital Content หรือ Metaverse AR VR ทำให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกันในโลกกึ่งเสมือนและโลกเสมือน หรือสองโลกทำงานร่วมกัน

3.    Digital Data: การที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างสะดวก ต้องมีการเก็บข้อมูลและการประมวลผลข้อมูล 

4.    Digital automation: ทั้ง 3 มิติที่กล่าวมา จะก่อให้เกิด Automatic World ซึ่งอุตสาหกรรม/ภาคการผลิต/การค้าและบริการ และการอยู่อาศัยของภาคประชาชน กำลังเข้าสู่ยุคอัตโนมัติ มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้องคือ robotics/simulation/Integrated system สิ่งเหล่านี้ที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติทั้งสิ้น การเข้าสู่โลกอัตโนมัติจำเป็นต้องเตรียม Digital data สำหรับประเทศ เพื่อไม่ขาดดุลชำระเงินทางเทคโนโลยี และความมั่นคงด้านข้อมูล

รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล ให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและหลากหลาย มาเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ การดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ในเวทีโลก และความมั่นคงทางสังคมของประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ คือ “ปฏิรูปประเทศไทยสู่ ดิจิทัลไทยแลนด์”

นอกจากนี้ กระทรวงฯ มีแผนช่วยส่งเสริมทุกหน่วยงานของกระทรวงจัดทำ Big Data เพื่อเป็นข้อมูลเปิดให้เกิดการต่อยอดการใช้ประโยชน์ เช่นการรวบรวมข้อมูลอุตุนิยมที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ และเครื่องวัดลม ในรูปแบบของ Big Data ที่มีข้อมูล real-time ด้านการพยากรณ์อากาศ สถิติภูมิอากาศ การพยากรณ์ระยะนานลักษณะอากาศประจำถิ่น รายงานอากาศ และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรเป็นอย่างมาก ช่วยให้เกิดการทำการเกษตรแบบแม่นยำมากขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิตจากการเพาะปลูก เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG 

อีกทั้ง ยังสนับสนุนการเอาข้อมูลภาครัฐมาวิเคราะห์ในรูปแบบของ Data Platform ต่างๆ โดยมีโครงการร่วมกับกระทรวงอื่นๆเช่นระบบ Co-Link เชื่อมข้อมูลผู้ป่วยโควิด Travel Link เชื่อมข้อมูลเรื่องพฤติกรรมการท่องเที่ยว Youth Link เชื่อมข้อมูลปฐมวัย เป็นต้น

ส่วนอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญคือ โครงการ Health Link ที่รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากโรงพยาบาล และทำการเชื่อมข้อมูลเพื่อที่โรงพยาบาลสามารถเข้าถึงประวัติคนไข้ได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถรับการรักษาผ่าน Telemedicine ได้ หรือเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตนเองได้ และช่วยลดความเสี่ยงในกรณีรักษาฉุกเฉินเพราะแพทย์สามารถเข้าถึงประวัติเบื้องต้นของคนไข้ได้ทันที

นอกจากนั้น กระทรวงเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมือง โดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในทั้งระบบจึงได้ออกแบบกลไก “From START to SMART: a way forward to Digital Thailand” โดยดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเริ่มตั้งแต่การพัฒนาคน การร่วมมือกับสตาร์ทอัพ การ Transform การสร้างระบบนิเวศ เพื่อใช้เป็นกระบวนการเดินหน้าประเทศไทย สู่การเป็น Digital Thailand ซึ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศในทั้งระบบ ในปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการรับรองเมืองอัจฉริยะอยู่ทั้งสิ้น 30 เมืองอัจฉริยะ เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 36 เขตส่งเสริม และข้อเสนอแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะจำนวน 66 ข้อเสนอ

สำหรับ Thailand Digital Valley เป็นโครงการที่จะทำให้ประเทศเกิดเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน โดยเฉพาะในยุคของ Digital Disruption ที่ถูกเร่งกระบวนการให้เร็วยิ่งขึ้น หัวใจสำคัญของโครงการ Thailand Digital Valley คือการสร้าง Ecosystem ที่พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย คือเรื่องของกำลังคน ประเทศไทยไม่สามารถผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจได้ ด้วยอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยกำลังเติบโตทำให้ความต้องการกำลังคนดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประมาณการความต้องการกำลังคนในอุตสาหกรรมดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 36,000 คน/ปี ในขณะที่ผู้จบการศึกษาในสาขาด้านดิจิทัลของประเทศไทยมีเพียง 24,000 คน/ปี ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

นายชัยวุฒิ ย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุค 4.0 เป็นสิ่งที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกเราถอยกลับไม่ได้ ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ทวีความสำคัญมากขึ้น การดูแลสังคม ดูแลประชาชนทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม เป็นประเด็นที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญไม่แพ้ประเด็นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทย สังคมไทยเติบโตอย่างเท่าเทียม