‘กาตาร์’ ประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ของอ่าวเปอร์เซีย มีพื้นที่ทั้งหมดแค่เพียง 11,586 ตารางกิโลเมตรได้สร้างความน่าทึ่งกับทั่วโลกในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022

โดยอดีตกาตาร์ที่ผ่านมาเคยเป็นประเทศที่มีแต่ความแห้งแล้ง มีผลทำให้บรรดาประชากรลำบากยากจน แถมยังล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ซาอุดิอาระเบีย

เมืองหลวงของประเทศกาตาร์ก็คือ ‘กรุงโดฮา’ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 2.3 ล้านคน ทั้งนี้กาตาร์ได้รับการประกาศปลดแอกเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปีค.ศ. 1971

โดยห้าสิบปีก่อนหน้านี้ ประเทศกาตาร์ได้มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มีผลทำให้กาตาร์กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดอีกประเทศหนึ่งในโลก และการที่มีจำนวนประชากรแค่เพียงสามล้านกว่าคน ก็มีผลที่ทำให้รายได้ของประชากรกาตาร์แต่ละคนตกอยู่ที่คนละราว ๆ 62,000 ดอลลาร์ต่อปี !!!

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากาตาร์มีความใฝ่ฝันต้องการที่จะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันฟุตบอลโลก แต่กลับต้องพบกับความผิดหวังหลายครั้งหลายครา เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคหลักๆนั่นก็คือ กาตาร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเกินไป แถมในอดีตที่ผ่านมากาตาร์ไม่เคยมีทีมฟุตบอลเป็นของชาติตนเอง และยังขาดโครงสร้างขั้นพื้นฐานอาทิเช่น ขาดสนามกีฬาที่ใช้รองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลก โดยฟีฟ่าเล็งเห็นว่า หากกาตาร์ทำไม่สำเร็จก็จะนำความเสียหายมาให้มิใช่น้อย

ฉะนั้นการตัดสินใจที่จะเลือกกาตาร์เข้าไปเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกทางฟีฟ่าก็มีปัญหาโต้แย้งกันอย่างมากมาย สืบเนื่องจากกาตาร์มีข่าวด้านการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไม่ค่อยสวยงามเท่าใดนัก เรื่อยไปจนถึงเรื่องของสภาพภูมิอากาศก็ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ

ดังนั้นการมีเงินมหาศาลและมีความทะเยอทะยานก็มิได้เป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้กาตาร์สมหวัง แต่อย่างไรก็ตามกาตาร์ก็ยังไม่ยอมแพ้ แถมยังพร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเองว่า ‘กาตาร์สามารถรับต่อการท้าทาย และยังมีความพร้อมที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลและยังจะต้องมีคนงานมากกว่า 26,000 คนได้อย่างสบายๆ’                                                         

กว่าที่กาตาร์จะสามารถพิสูจน์ให้กรรมการทีมผู้บริหารจำนวน 32 คนของสมาคมฟีฟ่าได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 ได้นั้น จะต้องใช้เวลานานกว่าสิบสามปีนับตั้งแต่ปีค.ศ.2009

อนึ่งปีค.ศ. 2022 ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลโดยทีมชาติของผู้ชาย ซึ่งเป็นสมาชิกในสมาคมของฟีฟ่าทั้งหมด!!!

ท้ายที่สุดก็ประสบผลสำเร็จสมดั่งใจหมาย โดยกาตาร์ถือเป็นประเทศอาหรับชาติแรกที่ได้รับเกียรติให้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ทุ่มเงินกว่า 250 พันล้านเหรียญดอลลาร์ ในการเตรียมความพร้อม และได้สร้างสนามกีฬากลางแจ้ง 7 แห่งพร้อมด้วยระบบระบายความร้อน ที่คัดเลือกคนงานมาจากประเทศต่างๆหลายแสนคน

และถือว่ากาตาร์เป็นประเทศที่มีความโชคดีสองต่อ เพราะต่อที่หนึ่งกาตาร์เป็นประเทศที่มีความร่ำรวยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แถมต่อที่สองกาตาร์ก็ยังมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่เล็งเห็นถึงคุณค่าเรื่องการศึกษาต้องการที่จะให้ประชากรชาวกาตาร์กว่าสามล้านคนได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด จึงได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ‘มูลนิธิกาตาร์’ และได้สร้าง ‘นครแห่งการศึกษา’ หรือที่เรียกว่า ‘Education City’ ขึ้นมาในพื้นที่ 12 ตร.กม.

สำหรับวิสัยทัศน์ของ ‘มูลนิธิกาตาร์’ หรือ ‘Qatar Foundation’ ก็เพื่อต้องการกระตุ้นให้เด็กตั้งแต่วัยแรกเริ่มการเรียนรู้เรื่อยไปจนถึงคนรุ่นหนุ่มสาวระดับบัณฑิตในรั้วมหาวิทยาลัย ได้กลายเป็นนักคิดค้นด้านนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนของกาตาร์ทุกๆคนมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่น และ มีความคิดสร้างสรรค์

ก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งศูนย์การศึกษาในปีค.ศ.1995 ได้มีการก่อตั้งสถานการศึกษาเล็กๆแห่งหนึ่งขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า ‘Qatar Academy’ ที่มีความเข้มงวดและเน้นทักษะด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์

ต่อมาในปีค.ศ. 2003 ได้มีการก่อตั้งศูนย์การศึกษากาตาร์ ขึ้น ณ เมืองอัล เรย์ยาน และยังมีศูนย์ประชุมแห่งชาติที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งถัดจากเมืองหลวงโดฮาอีกด้วย!!!

ส่วนการสร้างพันธมิตรทางด้านวิชาการของศูนย์การศึกษากาตาร์ต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกานั้น นับเป็นหัวใจหลักด้านการส่งเสริมเพิ่มเติมองค์ความรู้ให้แก่กาตาร์มิใช่น้อยเลยทีเดียว

โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัยจากสหรัฐฯถึง 6 แห่งที่เข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งสถาบันการศึกษาอยู่ในประเทศกาตาร์ อันได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคอมมอนเวลธ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1998 เปิดสอนในหลักสูตรปริญญาตรี สาขา การออกแบบแฟชั่น การออกแบบกราฟิก การออกแบบภายใน การวาดภาพ การพิมพ์ ศิลปศาสตร์บัฯฑิตสาขาประวัติศาสตร์ศิลป์ และปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์ในการออกแบบ ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาทั้งหมด 680 คน

2. มหาวิทยาลัย Cornell Medicine โดยความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิกาตาร์ กับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ หลักสูตรหกปี และขณะนี้มีนักศึกษาทั้งหมด 335 คน

3. มหาวิทยาลัย Texas A&M ร่วมก่อตั้งในปี ค.ศ.2003 เปิดสอนในหลักสูตร วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมปิโตรเลียม ขณะนี้มีนักศึกษามากกว่าหนึ่งพันคน

4. มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon University เปิดสอนและก่อตั้งในปีค.ศ. 2004 มีหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ด้านสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ บริหารธุรกิจ ชีววิทยาคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษากว่า 800 คน

5. มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์จากวอชิงตัน ดี.ซี.ก่อตั้งเปิดให้มีการเรียนการสอนในปีค.ศ. 2005 กอปรด้วย 4 สาขาวิชา อันได้แก่เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ วัฒนธรรมและการเมือง และสาขาวิชาประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาทั้งหมด 441 คน

6.มหาวิทยาลัย Northwestern จากรัฐอิลลินอยส์ เปิดสอนเมื่อปีค.ศ. 2008 โดยเปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ วารสารศาสตร์ และการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ขณะนี้มีนักศึกษา 343 คน

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นดูเหมือนว่าฟุตบอลโลกทำให้กาตาร์ได้เมคโอเวอร์ปรับปรุงโฉมหน้ารวมไปถึงบทบาทของประเทศเล็กๆอย่างกาตาร์ให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยจะเห็นได้ว่ากาตาร์ยอมควักกระเป๋าลงทุนเพื่อชื่อเสียงของประเทศชาติไปกว่า 250 พันล้านเหรียญดอลลาร์ ที่สามารถแข่งขันเอาชนะการประมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุน และออสเตรเลีย มาได้ แถมกาตาร์ยังมองการณ์ไกลเร่งรุดวางตัวเป็นแม่แบบด้านการศึกษาให้แก่ประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถจะหยิบเอาไปเป็นแบบอย่างได้อย่างยอดเยี่ยม เท่ากับว่าขณะนี้กาตาร์สามารถยกระดับตนเองและเป็นศักดิ์ศรีให้แก่กลุ่มประเทศอาหรับ เหมาะสมกับสมญานามว่า ‘ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย’

ที่มา https://siamrath.co.th/n/407477