‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะ ประชุมแผนจัดการน้ำ พร้อมหนุน 5 โครงการ แก้ปัญหาท่วม-แล้ง

วันนี้ (15 ธ.ค. 65) เวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำต่อเนื่องกันไป ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ หลังจากเดินทางลงตรวจราชการขับเคลื่อนแก้ปัญหาน้ำในภูมิภาคหลายพื้นที่

โดยที่ประชุมรับทราบ สรุปผลการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ปี 65 และการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ( 61-65 ) รวมทั้งความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงทุ่งหิน จ.สมุทรสงคราม 

พร้อมทั้งได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตั้งแต่ อยุธยา - สมุทรปราการ และฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ อยุธยา - สมุทรสาคร เพื่อระบายน้ำ เหนือ - ใต้ ออกสู่ทะเลทั้งสองฝั่ง โดยปรับปรุงโครงข่ายชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำนำไปใช้ประโยชน์ และสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยลดพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. โดยมีการปรับปรุงสถานนีสูบน้ำพระโขนง การก่อสร้างเขื่อนคลองหนองบอน เขื่อนคลองมะขามเทศ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ 

พร้อมทั้ง เห็นชอบการขยายระยะเวลาและกรอบวงเงิน โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล - บางไทร และโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขา พังงา - ภูเก็ต เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบประปา รองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง

ต่อจากนั้น ได้ร่วมพิจารณาและเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปี 67 จำนวน 63,589 รายการ วงเงิน 337,736 ล้านบาท โดยให้ความเร่งด่วน 26,421 โครงการ วงเงิน 184,530 ล้านบาท ในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ และด้านบริหารจัดการ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 6.23 ล้านไร่ ประชาชนได้ประโยชน์ 5.64 ล้านครอบครัว และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.37 ล้านไร่ 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร กำชับ ขอให้กรมชลประทานและหน่วยเกี่ยวข้อง เพิ่มน้ำหนักในการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของโครงการให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อมิให้มีปัญหาการขยายระยะเวลาและกรอบวงเงิน พร้อมทั้งขอให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณากลั่นกรองโครงการอย่างรอบคอบ โดยหลายโครงการมีความสำคัญต่อการลดปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่บ้าง จึงขอให้พิจารณาดำเนินการให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้ย้ำ จากการลงตรวจติดตามในหลายพื้นที่ พบหลายโครงการยังมีความล่าช้ากว่ากำหนด จึงขอให้หน่วยงานหลัก เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด และให้ สทนช.ลงกำกับการดำเนินการตามแผน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่