'แคนาดา' อ้าแขนรับต่างชาติ 1.5 ล้านคน ภายใน 3 ปีข้างหน้า เสริมตลาดแรงงาน หลังเด็กเกิดใหม่ต่ำ สังคมกำลังเข้าสู่ยุคสูงวัย

รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจฝากอนาคตเศรษฐกิจ ไว้กับแรงงานต่างชาติ เมื่อประเทศกำลังเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลน และกลุ่มชาว Baby Boomer ถึงเวลาต้องเกษียณ ด้วยการประกาศรับชาวต่างชาติย้ายถิ่นฐานถึง 5 แสนคนต่อปีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025 เท่ากับว่า แคนาดาตั้งเป้าที่จะรับชาวต่างชาติเข้าประเทศถึง 1.5 ล้านคนภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าอัตราการให้สิทธิ์วีซ่าพำนักถาวรของอังกฤษต่อปีถึง 8 เท่า และยังมากกว่าของสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า

แม้จะเป็นการเปิดโอกาสในการรับแรงงานต่างชาติที่ขาดแคลนเข้าประเทศ แต่จะผลสำรวจความเห็นของชาวแคนาดา ก็ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อยในนโยบายนี้ของรัฐบาล

แคนาดา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พยายามจูงใจชาวต่างชาติที่มีทักษะ เข้ามาพำนักถาวรในประเทศมานานหลายปี จนล่าสุดในปีที่ผ่านมาได้รับชาวต่างด้าวสูงกว่า 4 แสนคน มากที่สุดเท่าที่เปิดรับมา และวันนี้รัฐบาลแคนาดาตั้งเป้าหมายใหม่ในการรับแรงงานต่างชาติให้สูงกว่านั้นอีก

สาเหตุที่แคนาดาเร่งรับชาวต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ เข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากแคนาดามีอัตราเด็กเกิดใหม่น้อย และ ย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงมีสูงมาก อีกทั้งแคนาดามีประชากรเพียง 38 ล้านคน น้อยกว่าประชากรของอังกฤษเป็นเท่าตัว แต่มีพื้นที่กว้างขวางกว่ามาก จึงทำให้แคนาดามีข้อได้เปรียบในการรับชาวต่างชาติย้ายถิ่น 

และทำให้วันนี้แคนาดากลายเป็นประเทศที่รับชาวต่างชาติมากที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 25% ของประชากรแคนาดาเป็นชาวต่างชาติ เป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่หล่อรวมคนหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุด ยังมีอัตราส่วนชาวต่างชาติต่อประชากรในประเทศเพียง 14% 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ แมดเดอไลน์ ซัมพ์ตัน ผู้อำนวยการสำนักสังเกตการณ์การย้ายถิ่นแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มองว่า แม้ประเทศแคนาดาจะมีศักยภาพรองรับประชากรเข้าใหม่มากแค่ไหนก็ตาม แต่อัตราการรับคนต่างด้าวเข้าประเทศในตอนนี้ถือว่ามากเกินไปจนผิดปกติ 

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ เจฟฟรีย์ คาเมรอน นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ มองว่า ถึงแคนาดาจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่การรับชาวต่างชาติเข้าเมืองในจำนวนขนาดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนด้วย  

และต้องยอมรับว่าในแต่ละรัฐของแคนาดามีความพร้อมที่จะรับชาวต่างด้าวไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐควิเบก ต้องการรับชาวต่างด้าวได้ไม่เกิน 10% ด้วยเหตุผลว่ารัฐนี้ อนุรักษ์การใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และเกรงว่าการรับชาวต่างชาติมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่ออัตตาลักษณ์การใช้ภาษาของรัฐนี้ได้ 

นอกจากนี้ เมืองใหญ่อย่างแวนคูเวอร์ และ โตรอนโต ก็ต้องการรับชาวต่างชาติเข้าเมืองไม่เกินปีละ 10% เช่นกัน เพราะปัญหาราคาที่พักอาศัยที่พุ่งขึ้นสูง จนแม้แต่ชาวเมืองในพื้นที่หลายคนยังไม่สามารถหาซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้

จากผลสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวแคนาดา จากสำนัก Leger and Assosiation of Cananian Studies  พบว่า 3 ใน 4 ตอบว่ามีความกังวลในแผนการรับชาวต่างชาติเข้าเมืองของรัฐบาล เพราะอาจมีปัญหาด้านที่อยู่และสวัสดิการสังคม เกือบครึ่งมองว่าเป้าหมายการรับชาวต่างชาติสูงเกินไป 

แต่ทั้งนี้ เป้าหมายของการรับผู้ย้ายถิ่นต่างชาติของรัฐบาล มุ่งเน้นไปที่แรงงานวัยหนุ่มสาว ที่มีทักษะ เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน มากกว่าการย้ายถิ่นตามครอบครัว ซึ่งแคนาดาคาดหวังจะได้แรงงานต่างชาติทักษะสูงอย่างน้อย 60% ของจำนวนเป้าหมายในแต่ละปี 

และมีการใช้การประเมินทักษะแบบ Point-based system เพื่อประกอบการพิจารณาวีซ่าถาวร ที่เป็นระบบเดียวกับที่ อังกฤษ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ใช้ 

ดังนั้นการประกาศเปิดโครงการรับชาวต่างชาติย้ายถิ่น 1.5 ล้านคนภายใน 3 ปี ของแคนาดา ที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก ที่นอกจากจะสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นการประกาศสงครามในการแย่งชิงบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ กับประเทศชั้นนำในเศรษฐกิจอื่นๆ หรือแม้แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องหันมาขบคิดว่าจะหาวิธีรักษาทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพให้อยู่ในประเทศของตนอย่างไร 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: BBC