'บิ๊กป้อม' ปลื้ม 'วราวุธ' ผู้แทนไทยสร้างภาพลักษณ์โดดเด่น หลังไทยมุ่งมั่นลดก๊าซเรือนกระจก บนเวทีโลก

พล.อ.ประวิตร หนุนตั้ง 'กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ' รับมือสถานการณ์โลก พร้อมชื่นชม 'รมว.ทส.' ผู้แทนไทยสร้างภาพลักษณ์โดดเด่น ไทยมุ่งมั่นลดก๊าซเรือนกระจก บนเวทีโลก

(7 ธ.ค. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ สรุปผลการประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 3-18 พ.ย.65 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค อียิปต์ โดยมีประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล รวม 102 ประเทศ ซึ่งประเทศไทย มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และได้ยืนยันความพยายามของไทยที่ดำเนินการอย่างเต็มที่ร่วมกับประเทศต่างๆ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก หรือลดภาวะโลกร้อน และรับทราบการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายใน ก.ทรัพย์ โดยขอเปลี่ยนชื่อ จาก 'กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม' เป็น 'กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม' และปรับปรุงโครงสร้างภายในให้มีความเหมาะสมต่อไป

จากนั้นที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) รายงานความก้าวหน้าราย 2 ปี ฉบับที่ 4 ให้สำนักงานกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก, การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และข้อจำกัดเกี่ยวกับการเสริมสร้าง ศักยภาพ เทคโนโลยี เป็นต้น และเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำ ที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงฯ จากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) ต่อไป

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ คณะกรรมการฯ และก.ทรัพย์ฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และรายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอบคุณ รมว.ทส.ในการขับเคลื่อนมาตรการภายใต้กรอบของ UN ที่ผ่านมาด้วยดี โดยเฉพาะการนำเสนอถ้อยแถลงที่ได้สร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นของไทยอย่างโดดเด่น ต่อนานาประเทศ บนเวทีโลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ