จริยธรรมบิดเบี้ยว ยุคขี้เมาลงแดงในอเมริกา คนสุจริตร่ำสุราเท่ากับบาป ส่วนคนบาปหากินกับเหล้าเถื่อน ต่างได้รับการยกย่อง

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งอเมริกาเคยห้ามขายเหล้าเป็นเวลาถึง 13 ปี 

สังคมเมืองลุงแซมในช่วงปี ค.ศ. 1890-1920 เป็นช่วงที่เรียกว่า 'ยุคก้าวหน้า' หรือ Progressive Era ที่กำลังสับสนกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม   

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นกัน ผู้ชายดาหน้าเข้าทำงานในโรงงานต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ใด ๆ หรือแม้แต่ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ชายยุโรปโดยเฉพาะยุโรปตะวันออกอย่างชาวโปแลนด์หรือฮังกาเรียน หลั่งไหลเข้ามาในอเมริกาเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บางคนพาลูกเมียมาด้วยเพื่อลงหลักปักฐานในอเมริกา 

เมื่อเข้ามาเป็นคนงานโรงงาน ด้วยพื้นฐานดั้งเดิมที่รักการดื่มจึงอดไม่ได้ที่จะแวะข้างทางเพื่ออุดหนุนน้ำเมา แต่เรื่องนี้กลับกลายมาเป็นปัญหาครอบครัว  ทำให้เกิดการโทษเหล้าและน้ำเมาต่าง ๆ ว่าสร้างปัญหาสังคมร้ายแรง ประกอบกับช่วงนั้นมีนักเทศน์ร่อนแร่เดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ แล้วโทษสุรายาเมาเสมอ เหล่าภรรยาที่ถูกสามีขี้เมาทุบตีเป็นนิจสินก็เพ่งโทษไปที่เหล้าแต่เพียงอย่างเดียว จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สังคมจัดการเรื่องนี้

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1920 จึงเกิดการปฏิรูปทางจริยธรรมขึ้น โดยหนึ่งในกระบวนการชำระสะสางสังคมทั้งหลายทั้งปวงข้อหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องห้ามผลิตและซื้อขายเหล้าอย่างเด็ดขาด อเมริกันเคร่งศาสนาบางกลุ่มเชื่อว่าการดื่มเหล้าถือเป็น 'บาป' บางคนสรุปเหมารวมว่าการเสพสุราฮะกึ๋นเป็นต้นเหตุปัญหามากมายในสังคม ทั้งการติดเหล้า อาชญากรรม อาการทางจิตประสาท ความยากจน รวมถึงการใช้ความรุนแรงกับเด็กและผู้หญิง

แต่การสนับสนุนแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างโปร่งใสและสะอาดบริสุทธิ์เท่าไหร่นักหรอก เพราะกลุ่มพ่อค้าที่ขายชากาแฟและน้ำอัดลมต่างตีปีกสนับสนุนกันกระหึ่ม เนื่องจากเชื่อว่าธุรกิจตนจะโกยกำไรอื้อซ่าอย่างแน่นอน หากเหล้าเบียร์หมดไปจากท้องตลาด

ไม่ว่าแรงสนับสนุนให้เลิกขายเหล้าเบียร์จะมาจากกลุ่มไหนก็ตาม แต่แรงกดดันมหาศาลทำให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการลงโทษขี้เมาโดยเฉพาะ โดยในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1919 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ครั้งที่ 18 กำหนดห้ามไม่ให้มีการขายผลิตขนส่งหรือจัดจำหน่ายเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทั่วทั้งประเทศอย่างเด็ดขาด 9 เดือน

หลังจากนั้น สภาคองเกรสได้ผ่านร่างกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ Volstead Act ถือเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งการห้ามซื้อขายและผลิตเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1920

ตั้งแต่นั้นมา อเมริกาก็เข้าสู่ 'ยุคมืดของขี้เมา' แบบนี้ก็ตายกันพอดีสิจ๊ะ ของเคยกระดกขวดทุกค่ำเช้า แต่อยู่ ๆ รัฐบาลเอาไม้ไล่หวดขวดเหล้าแตกกระจายก็ย่อมเปรี้ยวปากเป็นธรรมดา ผลคือเกิดมาเฟียค้าเหล้าเถื่อนเพียบ แต่ขาใหญ่สุดเห็นจะเป็น 'อัล คาโปน' ที่หากินในย่านชิคาโกและสร้างตัวเองเป็นเจ้าพ่อมาเฟียที่โลกไม่ลืมมาจนทุกวันนี้  

เพราะผลพวงของการห้ามขายเหล้านี่แหละที่ทำให้อัล คาโปนพบช่องทางทำมาหากินอันโชติช่วง ด้วยการลักลอบนำเข้าและขนส่งเหล้าเถื่อนจนร่ำรวย การลักลอบขายเหล้าเถื่อนกลายเป็นช่องทางที่ทำกำไรมหาศาลให้เหล่าผู้มีบารมีนอกกฎหมาย เลยทำให้จำนวนประชากรมาเฟียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมยังขยายสาขาไปทั่วประเทศ สร้างปัญหาสังคมอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าสาหัสกว่าเดิมไว้เป็นของแถม

ในช่วงเวลาขี้เมาลงแดงที่ว่านี้ นอกเหนือจากเจ้าใหญ่ขายเหล้าเถื่อนอย่างอัล คาโปนจะทำธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว ยังมีแหล่งลักลอบขายเหล้าต้มเหล้าเถื่อนอย่างที่เรียกว่า 'Speakeasy' เกิดขึ้น กระจายไปทั่วประเทศ 

สภาพที่เห็นและเป็นอยู่ในยุคขี้เมาลงแดงนี้ ถือเป็นยุคที่ลักลั่นและย้อนแย้งที่สุดยุคหนึ่งในสังคมอเมริกา ผู้คนเริ่มสับสนกับคุณค่าทางจริยธรรม คนที่ทำมาหากินสุจริตเลี้ยงดูลูกเมียกลับกลายเป็นคนบาปเพราะอยากดื่มเหล้าหลังเลิกงาน ส่วนแก๊งมาเฟียและนักธุรกิจที่หากินกับเหล้าเถื่อนต่างได้รับการยกย่อง 

เมื่อมีกลุ่มมาเฟียมากขึ้น ย่อมมีเรื่องของการขัดผลประโยชน์ตามมา แถมตำรวจยังทำตัวเป็นขาใหญ่ด้วยการหากินกับคนค้าของเถื่อนอีกต่อหนึ่งโดยมีการเรียกเก็บค่าคุ้มครอง แถมท้ายด้วยการคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร ตามร้านขายยามีการขายอุปกรณ์และวัตถุดิบที่สามารถนำไปผลิตเบียร์ได้อย่างยีสต์หรือดอกฮอปส์ แต่มีเอกสารกำกับไว้แก้เขินว่า 'อย่านำไปผลิตเบียร์'

แม้ว่าจะห้ามจำหน่ายเหล้ามาเป็นเวลา 13 ปี แต่สภาพสังคมก็ไม่ได้ดีขึ้นตามที่คาดหวัง ซ้ำยังเสื่อมโทรมหนักกว่าเก่า ดังนั้นยุค Prohibition จึงสิ้นสุดลงด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 21 ในปี ค.ศ. 1933 แต่ยังมีบางเมืองหรือบางเขตที่ยังคงการห้ามขายเหล้ามาจนทุกวันนี้ ซึ่งเขตเหล่านั้น คนอเมริกันเรียกว่า Dry Counties


เรื่อง : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้