ตะกอนสองสีในหัวใจ เหยียดผิวในถิ่นมะกัน ความเกลียดชังจากคนขาว ที่ซ่อนไว้ใต้คำสวยหรูอย่าง 'สิทธิอันเท่าเทียม'

เรื่องของการเหยียดสีผิวนั้นเป็นเรื่องสาหัสมากในประเทศสหรัฐอเมริกายุคก่อน และถึงแม้ในปัจจุบันจะดูเหมือนว่าการเหยียดผิวนั้นเบาบางลง แต่บอกได้เลยว่าการเหยียดผิวระหว่างคนขาวและคนดำยังคงดำรงอยู่ในอเมริกา เพียงแต่ซ่อนไว้ภายใต้หน้าฉากอันสวยหรูของคำว่า 'สิทธิอันเท่าเทียม'

องค์กรลับที่ตั้งขึ้นเพื่อทำลายล้างคนผิวดำและผิวสีอื่นที่ไม่ใช่คนขาวคือ องค์กร 'คู คลักซ์ แคลน’ อำนาจของคู คลักซ์ แคลนแข็งแกร่งช่วงระหว่างปี คศ.1865-1870 มีกองกำลังอันเกรียงไกร สามารถกำราบคนดำในรัฐนอร์ทแคโรไลน่า, เทนเนสซี และจอร์เจียอยู่หมัด   

สมัยประธานธิบดี ยูลิซิส เอส. แกรนต์ มีการประกาศว่า คู คลักซ์ แคลน เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายนอกกฎหมาย ถือเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครอง จึงมีการกวาดล้างกลุ่มเอียงขวาจัดอย่างจริงจังช่วงปี ค.ศ. 1868-1870 จนทําให้กลุ่มสลายตัวชั่วระยะหนึ่ง

ปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มมีคนผิวสีอย่างเม็กซิกันและเอเซียอพยพเข้ามาอาศัยในอเมริกามากขึ้น จึงทำให้องค์กรนี้กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่คนผิวดำแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่คราวนี้เหมารวมเอาคนยิว คนเม็กซิกัน คนเอเซียและฝรั่งผิวขาวด้วยกันเองแต่นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคด้วย

ปีค.ศ. 1915 ที่แอตแลนต้า บาทหลวงของศาสนาคริสต์ วิลเลียม เจ. ซิมมอนส์ อ้างว่าได้ยินเสียงพระเจ้าในความฝันให้ฟื้นฟู คู คลักซ์ แคลน ขึ้นอีกครั้ง ซิมมอนส์ซึ่งเดิมมีแนวคิดนิยมคนผิวขาวอยู่แล้วจึงรวบรวมคน 34 คนประกาศการก่อตั้ง คู คลักซ์ แคลน ขึ้นใหม่ 

อยากจะเรียกการกลับมาขององค์กรนี้ว่ารุ่นพิมพ์นิยม เพราะคู คลักซ์ แคลน ที่ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่นี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนผิวขาวอย่างถึงขนาดจนประกาศอย่างหน้าชื่นตาบานว่า การเป็นชาวแคลนนั้นถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวชาวอเมริกันเลยทีเดียว สมาชิกก็ไม่ใช่กระจอกงอกง่อยเป็นคนขาวจนๆ คลั่งชาติอย่างพวกระดับล่าง แต่ประกอบด้วยนักธุรกิจผู้ร่ำรวย และมีนักกฎหมายระดับสูงอีกมากมาย

ในปี คศ.1922 เฉพาะที่เท็กซัสก็มีคดีทำร้ายร่างกายกว่า 100 คดีที่เกี่ยวข้องกับ คู คลักซ์ แคลน และในปี คศ.1923 เกิดคดีรุมทำร้ายที่โอกลาโฮม่าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนี้ 

ความกร่างของคู คลักซ์ แคลน ดูได้จากการส่งจดหมายขู่และไล่ที่ไปยังบ้านของคนผิวดำและคนผิวขาวซึ่งสนับสนุนคนผิวดำ เมื่อไม่ได้รับการปฏิบัติตามก็จะเข้ารุมทำร้าย 

นอกจากนี้ยังมีการเผาบ้าน บ้างก็ตัดแขนขา บ้างก็เอายางรถยนต์ห้อยคอผู้เคราะห์ร้ายแล้วจุดไฟ บ้างก็จับมัดไปวางให้รถไฟทับ บ้างก็จับแขวนคอ บางครั้งสมาชิก คู คลักซ์ แคลน จะมีการเผาไม้กางเขนบริเวณเชิงเขาหรือบริเวณใกล้บ้านของเหยื่อ ที่เรียกว่า Cross Burning เพื่อเป็นการเเสดงอํานาจและการข่มขู่เหยื่อ สรุปเลยคือพวกนี้สรรหาสารพัดวิธีในการทารุณกรรมนั่นเอง

ประมาณปี 1950 เด็กผิวขาวและเด็กผิวดำที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน เวลานั่งรถโรงเรียน เด็กผิวดำจะต้องสละที่นั่งด้านหน้าให้เด็กผิวขาวนั่งก่อน ส่วนเด็กผิวดำจะต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น บนรถเมล์ คนผิวดำจะต้องลุกให้คนผิวขาวนั่งก่อน ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย หรือในร้านอาหารก็จะมีการแยกที่นั่ง หรือบางร้านไม่ต้อนรับคนผิวดำ ในโรงภาพยนตร์แยกไม่ให้คนสองสีผิวปะปนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการใช้ห้องน้ำสาธารณะ การดื่มน้ำจากก๊อกน้ำสาธารณะไปจนถึงมหาวิทยาลัย    

ปี ค.ศ. 1957 ทางการอนุญาตให้นักศึกษาผิวดำ 3 คน เข้าเรียนร่วมกับนักศึกษาผิวขาวที่เมืองลิตเติลร็อก รัฐอาร์คันซอ วันนั้นรัฐบาลต้องส่งกำลังทหารหลายพันนายมาอารักขา เพราะเรื่องนี้ทำให้คนผิวขาวขุ่นเคืองใจอย่างถึงขนาด ก่อนหน้านั้นคนผิวดำต้องไปเรียนในโรงเรียนเฉพาะสำหรับคนผิวดำ ห้ามมาเรียนปะปนกับนักเรียนผิวขาว หลังจากนั้นก็เกิดการลักพาตัว มีการวางระเบิดเผาโบสถ์  และฆ่าคนผิวดำตามมาเป็นการประท้วงและท้าทาย 

ในเวลาต่อมา ปีค.ศ. 1961 กลุ่ม คู คลักซ์ แคลน รุ่น 3 ถือกำเนิด ภายใต้การสนับสนุนประธานแคลนแห่งอเมริกาซึ่งก็คือ โรเบิร์ต เซลตัน และดำรงดำแหน่งเป็นผู้ว่าแห่งรัฐมิซซิสซิปปี้ ในเมืองเนโชบา เด็กผิวดำ 3 คนถูกจับกุมข้อหาขับรถเร็ว และเมื่อปล่อยตัวออกจากคุก ทั้งสามกลับหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย 6 สัปดาห์ต่อมา พบร่างเด็กทั้งสามถูกฝังริมเขื่อนลึกลงไปถึง 16 ฟุต ทำให้สมาชิกแคลน 21 คนถูกจับในฐานะผู้ต้องสงสัย นายอำเภอและผู้ช่วยนายอำเภอถูกจับข้อหาร่วมกันฆ่าเด็กทั้งสาม 

เรื่องนี้ทำให้ประชาชนทั่วประเทศถึงกับตะลึงที่พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิดเสียเอง แต่เกิดโอละพ่อเพราะจำเลย 21 คน ได้รับการประกันตัวทันที เพราะคณะลูกขุนและผู้พิพากษาเป็นคนผิวขาว    

ปัจจุบันยังมีคดีฆาตกรรมคนผิวดำเกิดขึ้นมากมาย และตำรวจไม่สามารถจับผู้ทำผิดได้ หรือไม่ก็ตำรวจนั่นแหละที่จัดการคนผิวดำเสียเอง ความเกลียดชังระหว่างสีผิวยังไม่เจือจางลงตามกาลเวลา หากแต่ตกตะกอนเพื่อรอเวลาที่จะกลับมาประทุอีกครั้ง


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้