'บิ๊กตู่' ชวนขยายระยะเวลา 'โคเซ็น' ปั้นบุคลากรคุณภาพ เพิ่มศักยภาพคนรองรับเทคโนโลยียุคใหม่ และ EEC

การประชุมเอเปค 2022 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยนั้น ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่ทำให้ ไทยนั้นก้าวขึ้นสู่เวทีผู้นำเศรษฐกิจ งานนี้มีผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำประเทศต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมหาอำนาจที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘คิชิดะ ฟูมิโอะ’ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ประเทศแห่งเทคโนโลยี ผู้นำแห่งอุตสาหกรรมล้ำยุค นายกฯ ของญี่ปุ่นนั้น ได้เข้าหารือทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในโอกาสเยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมเอเปค APEC 2022 THAILAND โดยไทยนั้นพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ผ่านข้อเสนอความร่วมมือทางด้านพลังงาน หรือ ‘ไวท์เปเปอร์’ ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย 

และญี่ปุ่นนั้นก็พร้อมที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียน ไทยกับญี่ปุ่นในอนาคตก็จะยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันอย่างรอบด้าน โดยจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน 

นอกจากนี้แล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ยังได้ขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว โดยเชื่อมั่นว่า ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับไทยและญี่ปุ่น 

ประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศแรกที่สถาบันโคเซ็นได้ออกมาก่อตั้งนอกประเทศญี่ปุ่น เหตุผลก็เพราะว่าญี่ปุ่นนั้นจะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สอดรับกับความเป็นจริงที่ว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายๆ บริษัท ได้ขยายสาขา และโรงงานการผลิตมาอยู่ในประเทศไทย สถาบันโคเซ็นนั้น เป็นแหล่ง พัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีความรู้และศักยภาพสูง เพื่อจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต และยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมที่มีความแปลกใหม่และสร้างสรรค์ นอกจากการเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพในกลุ่มวิศวกรนักปฏิบัติ (Practical Engineers) และช่างเทคนิควิศวกรรม (Engineering Technician) ให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังสามารถดึงดูดให้บริษัทต่างชาติ เช่น บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นได้อีกด้วย

โครงการสถาบันไทยโคเซ็น ที่ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกันนั้น จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะขยายผลให้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งก็จะส่งผลดีอย่างมากต่อประเทศไทย ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำสมัยจากญี่ปุ่น และนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตของไทย เพื่อต่อยอดให้เพิ่มมูลค่า ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อให้เรากลายเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งภูมิภาค


เรื่อง : กันย์ ฉันทภิญญา Content Manager