‘รบ.ทหารเมียนมา’ กำราบ ‘อิรวดี’ สื่อร่างทรงปชต. ส่วนไทยปล่อยให้จรรยาบรรณจอมปลอมลอยนวล
กระทรวงสารสนเทศของเผด็จการทหารพม่าประกาศผ่านทางสื่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเผด็จการได้ทำการเพิกถอนใบอนุญาตสื่อสิ่งพิมพ์ของอิรวดี ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2565 และกล่าวหาว่าสื่ออิรวดี สร้างความเสียหายต่อ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ และ ‘ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง’
เมื่อเอย่าเห็นข่าวนี้ เอย่าก็รีบเปิดเว็บไซต์ดูทันที ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ ก็หลังจากการรายงานข่าวนี้มาร่วมอาทิตย์ แต่เว็บไซต์ของสำนักข่าวอิรวดี (Irrawaddy) ก็ยังปกติดี ไม่ได้ต่างอะไรกับสำนักข่าวอื่น ๆ ที่เคยโดนไปอย่าง Mizzima หรือ Myanmar Now ที่ทางรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสื่อได้ และทำให้สื่อหลายสื่อกลายเป็นเครื่องมือในการโค่นล้มผู้มีอำนาจในรัฐบาลโดยการล้างสมองประชาชน
ก่อนอื่นเราควรมารู้จักสื่ออิรวดีให้ดีก่อนว่าเป็นมาอย่างไร...
สื่ออิรวดี ก่อตั้งขึ้นในไทยเมื่อปี 2536 เป็นสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบเผด็จการทหารในพม่าจากการที่พวกเขารายงานข่าวเชิงส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ และสิทธิมนุษยชนในพม่า เมื่อมีการเปิดประเทศ อิรวดีจึงย้ายสำนักงานใหญ่เข้าไปในพม่าเมื่อปี 2555 เพื่อรายงานข่าวสถานการณ์ในพม่า จนถึงการทำรัฐประหารปี 2564
เมื่อมีนาคม 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาเคยดำเนินคดีอิรวดี ด้วยกฎหมายมาตรา 505 (a) โดยอ้างว่า ‘เพิกเฉยต่อ’ กองทัพพม่าในการรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนั้น แม้ต่อมาจะมีการจับกุม ‘อูต่องวิน’ ผู้ตีพิมพ์เผยแพร่สื่ออิรวดี แต่ก็ไม่สามารถทำให้สำนักข่าวอิรวดีหยุดเผยแพร่ได้
และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่มีการดำเนินการกับสื่ออย่างอิรวดี แต่ด้วยความที่สื่อมีสำนักงานที่ไทย ทำให้น่าจะลำบากต่อจัดการของรัฐบาลเมียนมาอยู่พอตัว
ถามว่าทำไมสื่ออย่างอิรวดี มีอิทธิพลนัก...
หากค้นข้อมูลลึก ๆ จะเห็นว่าสำนักข่าวอิรวดี เคยรับทุนจากองค์กร National Endowment for Democracy (NED) ของอเมริกา ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าอเมริกาชักใยหลาย ๆ ประเทศผ่านการจ่ายเงินผ่านกองทุนนี้ โดยสำนักข่าวอิรวดีเคยได้รับทุนจาก NED จำนวน 150,000 ดอลลาร์ในปี 2016 และนั่นคงไม่ต้องถามว่าสื่ออิรวดีจะเป็นสื่อที่มีความเป็นกลางได้จริงหรือไม่? หรือเป็นเพียง ‘สื่อร่างทรง’ ให้แก่ประเทศผู้แจกทุนที่พยายามจะหาทางเข้ามาในภูมิภาคนี้
ในเมียนมารัฐบาลทหารไม่ทนนิ่งเฉยกับการที่สื่อทำตัวเป็นปรปักษ์กับรัฐ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของการสื่อสารมวลชนควบคุมอยู่ ซึ่งเอย่าไม่ขอเอ่ยถึง เพราะสิ่งที่กฎหมายกำหนดเป็นสิ่งที่ดี แต่เพียงผู้คนบางคนบางกลุ่มเลือกใช้ช่องว่างของกฎหมาย อาทิเช่น ข้อ 3. ป้องกันไม่ให้รัฐเข้าไปอุดหนุนสื่อมวลชนภาคเอกชน แต่เอกชนรายอื่นสามารถให้เงินสื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองได้ หรือข้อ 6. สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะแต่คนบางคนกลับเลือกจะสร้าง Fake News หรือเลือกจะนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวด้วยจุดประสงค์เพื่อใส่ร้ายหรือดิสเครดิตทางอ้อมก็มีให้เห็นอยู่
จนบางทีเอย่า ก็อดคิดไม่ได้ว่าประเทศไทย ควรจะแก้ไขรับธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพของการสื่อสารมวลชนให้มันรัดกุมกว่านี้ไหม
เพราะคำว่าจรรยาบรรณ มันคงใช้ไม่ได้แล้วกับสื่อมวลชนไทยบางคนในสมัยนี้
ที่มา: AYA IRRAWADDEE