‘สุราก้าวหน้า’ กระสุนสั่งลาของ ‘ก้าวไกล’ แค่คนไม่ได้หน้าในฐานะผู้เคาะนโยบาย

หลังจาก พรบ. ภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้าสภาวาระ 2 – 3 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 (เรียกย่อว่า พรบ. สุราก้าวหน้า) ถูกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ออกตัดหน้า พรบ. สุราก้าวหน้า ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

บรรดา ‘หัวก้าวหน้า’ ต่างก็ออกมาร่วมซัด กฎกระทรวงฉบับใหม่ ที่ว่ากันว่า ออกมาแย่งซีนบ้าง กันท่าบ้าง สาระสำคัญยังอวยยศให้นายทุนเหล้าเบียร์อยู่บ้าง แม้จะเป็นการออกมาร่วมกันสำทับแบบกลืนน้ำลายในคอ เพราะรู้ตัวดีว่ากฎกระทรวงใหม่นี้ ก็ไม่ได้มีอะไรที่หลุดจากพรบ.สุราก้าวหน้ามากมายก็ตาม 

ทั้งนี้ หากลองย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายสุราก้าวหน้าในสภา โดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงเปิดตัวร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อธิบายว่าร่างนี้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 153 เพื่อให้มีการ ‘ปลดล็อกการผลิตสุรารายย่อย’ อีกทั้งยังรวมถึงการ ‘ปลดล็อกอนุญาตให้ทำสุราเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน’ (แต่จริงๆ ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ทำให้ตัวเองไม่สามารถทำคราฟต์เบียร์ได้เสรีแล้วก็โวยวายจนกลายเป็นร่างเสนอ) ซึ่งหากมองจากกฎกระทรวงใหม่ ก็มีการ ‘ปลดล็อก’ เงื่อนไขในแบบที่สอดคล้องกับ พรบ.สุราก้าวหน้า ในระดับหนึ่งกันเลยทีเดียว

ว่าแต่ การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ‘ปลดล็อก’ ของกฎกระทรวงใหม่ 2565 มีความต่างจากปี 2560 และสอดคล้องกับ พรบ.สุราก้าวหน้าอย่างไรบ้าง?

1.
กฎกระทรวง 2560 >> บริวผับ (บรรจุขวดขายไม่ได้) ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ห้ามกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ
กฎกระทรวง 2565 >> ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน

2.
กฎกระทรวง 2560>> บริวผับ (บรรจุขวดขายไม่ได้) ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 100,000 ลิตร ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำและการกีดกันอื่นใด
กฎกระทรวง 2565 >> ไม่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และ ***ปฏิบัติตาม กม. สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข***

3.
กฎกระทรวง 2560 >> โรงเบียร์ ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ห้ามกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ
กฎกระทรวง 2565 >> ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ

4.
กฎกระทรวง 2560 >> โรงเบียร์ ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำและการกีดกันอื่นใด
กฎกระทรวง 2565 >> ไม่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ ***แต่ต้องมีสายการผลิตที่ติดตั้งระบบพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษี และผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม***

5.
กฎกระทรวง 2560 >> สุรากลั่นชุมชน มีเครื่องจักรไม่เกิน 5 แรงม้า คนงานน้อยกว่า 7 คน ผลิตได้แต่สุราขาวเท่านั้น
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ห้ามกำหนดแรงม้า จำนวนคนงาน และการกีดกันอื่นใด
กฎกระทรวง 2565 >> สุราชุมชนประเภท 5 แรงม้ายังคงเดิม ***แต่เพิ่มประเภทไม่เกิน 50 แรงม้า โดยมีข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข แต่ยังผลิตได้แต่สุราขาวเท่านั้น***

6.
กฎกระทรวง 2560 >> โรงงานผลิตสุราขาว กำลังผลิตขั้นต่ำ 28 ดีกรี 90,000 ลิตรต่อวัน
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ
กฎกระทรวง 2565 >> โรงงานผลิตสุราขาว ยังคงต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตรต่อวัน

7.
กฎกระทรวง 2560 >> โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี ยิน กำลังผลิตขั้นต่ำ 28 ดีกรี 30,000 ลิตรต่อวัน
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ
กฎกระทรวง 2565 >> โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี ยิน ยังคงต้องมีกำลังผลิต 30,000 ลิตรต่อวัน

8.
กฎกระทรวง 2560 >> ห้ามผลิตสุราเพื่อบริโภคเองในบ้านเรือน
พรบ. สุราก้าวหน้า >> ให้ผู้ประสงค์จะผลิตที่ไม่เป็นการค้าขออนุญาตต่ออธิบดี
ตามปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวง 2565 >> ให้ผู้ประสงค์จะผลิตที่ไม่เป็นการค้าขออนุญาตต่ออธิบดี ***แต่อนุญาตเพียง 200 ลิตรต่อปี
ทั้งสุราแช่และกลั่น***

โดยสรุปแล้ว ก็คือ การออกใบอนุญาตผลิตสุราฉบับใหม่ ได้มีการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความเหมาะสม รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาต อีกทั้งการออกใบอนุญาตผลิตสุรา เพื่อให้จัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

ยกตัวอย่าง เช่น ‘เบียร์โรงเล็ก’ ต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และไม่จำเป็นต้องมี ‘กำลังการผลิตขั้นต่ำ’ เพียงแต่ตัวสินค้าและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมโรงงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม และระเบียบของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้คือการช่วยคุมคุณภาพของสินค้าและผู้ประกอบที่จะเข้ามาผลิตให้เกิดมาตรฐานอันดีงาม

พูดภาษาคน ก็คือ กฎหมายใหม่นี้ช่วยปลดล็อกทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับรายย่อยได้มากขึ้น ก็ไม่ผิด!!

นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่ใช่การค้า ก็เท่ากับอนุญาตให้กรณีที่ไม่ใช่การค้าสามารถผลิตได้ ทำเอง ทานเอง บริโภคเองภายในครัวเรือนด้วย ซึ่งเหล่านี้สอดคล้องกับ พรบ.สุราก้าวหน้า แบบพบกันครึ่งทาง

ส่วนไอ้เรื่องบางเรื่องที่ยังไม่ปลดล็อกและพร้อมโยงมาถึงการเอื้อนายทุนสุรา เช่น ปริมาณการผลิตเหล้าขาว, วิสกี้, บรั่นดี, ยิน นั้น ก็อยากให้มองแบบนี้ว่า ถ้าในโลกธุรกิจ จะยึดสิ่งที่เรียกว่า Passion แต่ไม่มี Quotation ที่มั่นใจได้ถึงมาตรฐานแบบรัดกุม มันพร้อมจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภควงกว้าง ที่ทำให้ผู้มีอำนาจทางสังคมตามเก็บตามเช็ดอย่างยากลำบาก

อย่างเช่น ถ้าคุณเปิดธุรกิจให้บริการซ่อมแซมรถยนต์แบบบ้าน ๆ ที่เป่าประกาศว่าขอลงทุนด้วยแรง ซ่อมแซมด้วยใจ พอรถลูกค้ามาซ่อมแล้วพัง หรือซ่อมได้ไม่โดนใจ ดีบ้าง ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็โทษกรูไม่ได้ เพราะมาตรฐานของใจมันให้ได้แค่นี้ 

ขณะเดียวกันกับศูนย์ซ่อมแซมแบบมาตรฐานที่เขาลงทุนกันเป็นหลักสิบหลักร้อยล้านบาท ความมั่นใจ ต้องเหนือกว่าทำด้วยใจ ต้องมีการลงทุน และมีสเกลที่สร้างความเชื่อมั่น เพราะต้องรับผิดชอบต่อสังคมวงกว้าง

ฉะนั้นกฎหมายต้องเลือกล็อกเป้าไปที่ความถูกต้อง ซึ่งผู้บริโภคต้องได้รับผลประโยชน์ พร้อมๆ กับความปลอดภัยที่ควบคู่ หรือก็คือ สินค้าที่มีผลกระทบต่อชีวิตเหล่านี้ ไม่ควรมาถูกลิขิตกันด้วย Passion ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่บอกว่าต้อง ‘เปลี่ยน’ ดังจะเห็นได้ว่า พรบ.สุราก้าวหน้าของก้าวไกล เหมือนกำลังบอกว่า “มึงไม่ต้องมีกฎหมายอะไรเลย” จงเลือก “กฎกรูนี่”

เพราะในวันที่เปลี่ยนได้ ‘ตามใจฉัน’ คนที่มีหน้าที่ควบคุมกฎหมายตัวจริง อาจต้องรับผลกรรม (เหล้าเถื่อน ไม่ได้มาตรฐาน สังคมติดเหล้าเพิ่มขึ้น) หากผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มันก่อกระทบมากกว่าผลบวก ส่วนคนเสนอร่าง ได้หน้าและลอยชายไปไหนก็ได้ในสังคม แบบนี้ก็คงไม่ดีเท่านัก 

สาระสำคัญของกฎกระทรวงใหม่ นี่จึงมีเจตจำนง เพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ ‘ต่างกัน’ ระหว่าง ‘ผู้มีหน้าที่กำกับใช้’ กับ ‘ผู้ที่ได้อยากได้แค่หน้า’ อย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง

กลับมาที่กฎหมายใหม่...หากจะว่าไปแล้ว เดิมกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 มันจะถูกปรับหรือขยับไปไหน ก็คงไม่มีใครตาย จนกระทั่งตามที่ ‘เฒ่า’ เป่าประกาศว่า นี่เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่ การเพิ่มนักดื่ม แต่เป็นการเพิ่มผู้ผลิต (ในความจริง นักดื่มเพิ่ม ก็เพราะทางเลือกเพิ่ม เหมือนบุหรี่ไฟฟ้าที่สุดท้าย บอกเป็นตัวช่วยทำให้คนเลิกสูบ แต่กลับเกิดนักสูบหน้าใหม่ๆ ขึ้นมาเพียบ อย่าอ้าง!!)

ดังนั้น เมื่อมีเสียงประชาชนบางส่วน เห็นว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิม (2560) มีความตึงเกินไป จึงเกิดการไตร่ตรองและยอมให้บรรลุข้อผ่อนคลายอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ (2565) นี้ จะกลายเป็นการถ่วงดุลระหว่าง ‘ผู้มีบทบาทรับผิดชอบต่อสังคม’ กับ ‘ผู้ที่อยากเปลี่ยนสังคม’ แบบมีกรอบที่ไม่หลุดไปตามอารมณ์ส่วนบุคคล หรือเลอะเลือนแบบโมเดลชูแก้ ม.112 แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

หากย้อนไปเปรียบกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ที่ว่าไว้ข้างต้น ก็จะเหมือนศูนย์ที่ได้มาตรฐาน ภายใต้การใส่ใจและดูแลเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. ดูแลสุขภาพ 2. ดูแลปัญหาป้องกันอุบัติเหตุ 3. การป้องกันสิ่งแวดล้อม ภายใต้การปลดล็อก ที่ทำให้คนพร้อมทำตามกฎ และช่วยปลดความคลางแคลงเรื่องเอื้อต่อนายทุนไปได้ในตัว ซึ่งพูดกันตรงๆ 3 ส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ใต้หัวของ ‘สุราก้าวหน้า’ ฉบับก๊วนก้าวหลังเลยแม้แต่น้อย

แต่ปัญหายังไม่จบ!! (ปัญหาอีกแล้ว) พอกฎหมายเดิมที่ถูกหาว่าตึงเกินไป ถูกทำให้ผ่อนลง ก็ถูกลิเกฉากใหม่ที่เรียกว่า ‘การตัดหน้าของรัฐบาล’ โดยโพนทะนาว่ารัฐออกกฎมาแทนที่ และกฎหมายใหม่นี้มันผิดจากวัตถุประสงค์จริงของ พรบ.สุราก้าวหน้า

ขอย้อนหน่อยนะ ‘เฒ่าและพิธา’ พวกคุณยังคงจำเจตจำนงของตนได้ใช่ไหมว่า ‘ปลดล็อกการผลิตสุรารายย่อย’ และ ‘ปลดล็อกอนุญาตให้ทำสุราเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน’ คือเป้าหมาย

ก็นี่ไงจ๊ะ!! มันเกิดขึ้นในกฎหมายฉบับใหม่นี้แล้ว!!

มันคือการพบกันครึ่งทาง โดยการโอนอ่อนของรัฐ แต่ไม่ปล่อยปละให้หลงระเริงไปกับนัยยะของ พรบ.สุราก้าวหน้า 100% เพราะหากหย่อนเกินไป ในภายภาคหน้าเกิดปัญหาจากร่างของก้าวไกล ‘เฒ่าและพิธา’ หายหัวไป ใครล่ะจะรับผิดชอบ?

ยิ่งไปกว่านั้น อันที่จริงไอ้เรื่องส่งเสริมให้ ‘คนเมามาย’ มันก็ไม่ต้องขยายไปถึงการออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เลยด้วยซ้ำ แค่ให้ออกเป็นกฎกระทรวงมาสนอง Need ก็เรียกว่า ‘ประยุทธ์’ ใจดีขนาดไหนแล้ว!! (ก่อนหน้าไม่เอาท่าเดียว!!) 

อ้อ!! แถมนิด!! ลืมบอกไปว่า กรมสรรพสามิตทำกฎกระทรวงนี้มา 6 เดือนแล้ว ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะเสนอกฎหมายเสียอีก อย่าโวเยอะ!!

ฉะนั้นกล่าวโดยสรุป ไอ้ร่าง พรบ.สุราก้าวหน้า แม้จะไม่ได้ผ่านสภา แต่เจตจำนงมันถูกถ่ายเทหากฎกระทรวงใหม่ 2565 จนใกล้จะเท่าเทียมกันเลยด้วย 

ถ้ามองอะไรเป็นเรื่องการเมือง ทุกเรื่องในประเทศมันก็ตีเป็นการชิงไหวชิงพริบได้หมดทุกเรื่อง

แต่เชื่อเหอะ!! หนนี้ ถอยคนละก้าว ไม่ทำให้ ‘ก้าวไกล’ ก้าวถอยหลังไปกว่านี้หรอกมั้ง

เอ๊!! หรือในช่วง 180 วันอันตราย คิดจะใช้ ‘สุราก้าวหน้า’ มาโกยเรตติงคืนในจังหวะที่รัฐบาลโกยคะแนนช่วยปัญหาชาวบ้านทั่วประเทศแบบไม่ยั้งกันแน่หว่า...ลืมคิดไปเลยแฮะ!!

‘ร้ายกาจนิหว่า ไอ้ตี๋!!


เรื่อง : ทีมข่าวการเมืองThe States Times