รู้ทัน 'กฎหมายศาสนา' ในเมียนมา เรื่องอ่อนไหว ที่ไม่ควรล่วงเกิน

จากประเด็นล่าสุดที่เกิดขึ้นในเมียนมา คือมีคนนำตุ๊กตายางที่ชายหนุ่มกลัดมันซื้อมาเป็นเพื่อนคลายเหงามาทำเป็นองค์สักการะนัตสุรัสสตีและนัตสิริเทวีประดิษฐานไว้บริเวณด้านล่างของเจดีย์ชเวดากองทางทิศใต้ ซึ่งหากประดิษฐานไว้ที่อื่น เอย่าเชื่อว่าคงไม่มีประเด็นอะไร แต่เนื่องจากเป็นที่เจดีย์ชเวดากอง ดังนั้นดราม่าจึงเกิดขึ้น

ชาวโซเชียลของเมียนมาเริ่มมีการพูดถึงความไม่เหมาะสมในการนำตุ๊กตายางมาสวมชุดเป็นนัตมากขึ้นจนลามไปถึงเรื่องของเจ้าหน้าที่บริหารสถานที่เจดีย์ชเวดากองว่า ทำไมถึงยอมให้มีการนำหุ่นแบบนี้มาใช้เป็นนัตให้คนสักการะ (นัต: ผีบรรพบุรุษ ลักษณะกึ่งผีกึ่งเทวดาคล้ายเทพารักษ์)

แต่ความจริงเรื่องราวทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นขึ้นถ้าชายหนุ่มผู้บริจาคนัตนี้ให้เป็นองค์สักการะ ไม่โพสต์ใบเสร็จที่ระบุสเป็กของหุ่นว่า ตุ๊กตายางสูง...เซนติเมตร หน้าอกไซส์ใหญ่ 1 และหน้าอกไซส์ธรรมดา 1 ผมสี...ตาสี... ซึ่งแน่นอนเมื่อเขาโพสต์ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์กและเปิดสถานะเป็นสาธารณะแบบนี้ จึงเป็นประเด็นทันที เพราะหากเขาไม่โพสต์ใบเสร็จใบนี้ ชาวเน็ตเมียนมาอาจจะคิดว่าเป็นตุ๊กตาทั่วไปไม่ใช่ตุ๊กตายางสำหรับใช้งานในเรื่องอย่างว่า

สุดท้ายกระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรมของเมียนมา จึงดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นพุทธศาสนาต่อผู้ที่นำตุ๊กตายางแต่งเป็นนัตไปให้ประชาชนกราบไหว้บูชาที่ลานจอดรถพระเจดีย์ชเวดากอง รวมถึงดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยพลการด้วย สรุปงานเข้าไปตาม ๆ กัน

ประเด็นศาสนาเป็นเหตุแบบนี้ นี่ไม่ใช่เคสแรกในเมียนมา หากสืบค้นไปแล้วในเมียนมามีกฎหมายประหลาด ๆ หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่นเมื่อหลายปีก่อนมีชาวแคนาดาและชาวสเปนถูกเนรเทศออกจากเมียนมา เพราะสักรูปพระพุทธรูปบนร่างกาย อีกทั้งยังมีเคสอื่น ๆ อีกเช่น มีชาวต่างชาติตะโกนด่าเนื่องจากชุมชนใกล้โรงแรมมีกิจกรรมเทศนาตอนค่ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีหลังฝน สุดท้ายชาวต่างชาติคนนั้นถูกจับและดำเนินคดี หรืออย่างอีกเคสหนึ่งเป็นไนท์คลับที่เอารูปพระพุทธรูปมาประดับสุดท้ายก็โดนตำรวจจับและปิดไปตามระเบียบ

จะเห็นได้ว่าประเด็นทางศาสนาเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับคนเมียนมาถึงขั้นมีการตราเป็นกฎหมายสรุปคร่าว ๆ ว่า...

“กฎหมายศาสนาระบุห้ามมิให้มีการใช้คำพูดหรือการกระทำที่จงใจและมุ่งร้ายที่มุ่งทำลายความรู้สึกทางศาสนา 'ของชนชั้นใด' โดยการดูหมิ่นหรือทำให้ศาสนาหรือความเชื่อทางศาสนาเสื่อมเสีย กฎหมายยังห้ามการทำร้าย ทำให้มลทิน หรือบุกรุกสถานที่สักการะหรือที่ฝังศพใด ๆ โดยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นศาสนาด้วย”  

อีกทั้งในเมียนมายังมีกฎหมายที่ออกในปี 2558 ด้วย ชื่อกฎหมายคุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งเป็นกฎหมายการสมรสของสตรีเมียนมาชาวพุทธกำหนดข้อกำหนดการแจ้งและการลงทะเบียนสำหรับการแต่งงานระหว่างชายที่ไม่ใช่ชาวพุทธกับหญิงชาวพุทธ ภาระหน้าที่ที่สามีที่ไม่ใช่ชาวพุทธต้องปฏิบัติตาม และบทลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามด้วย

ใด ๆ ก็ตามสิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับชาวเมียนมา คือ ความเชื่อในศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจล่วงเกินได้ 

ดังนั้นชาวไทยในฐานะที่เรามีอิสระเสรีในการนับถือศาสนาและการสักอะไรก็ตามบนร่างกาย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรมานำเสนอหรืออวดใคร โดยเฉพาะรอยสักเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาใด ๆ ก็ตาม รวมถึงไม่ควรไปตำหนิหรืออารมณ์เสียกับกิจกรรมทางศาสนาใด ๆ ที่อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของเรา 

เพราะในเมียนมากิจกรรมทางศาสนายามค่ำคืนไม่ใช่มีแค่พุทธศาสนาเท่านั้น ยังมีในส่วนกิจกรรมของศาสนาฮินดูและมุสลิมเช่นกัน


เรื่อง: AYA IRRAWADEE