FATF ขึ้นบัญชีดำทางการเงินต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ฤานี่จะเป็นสงครามตัดท่อน้ำเลี้ยงของประเทศตะวันตก
มีข่าวดัง เมื่อคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินสากล หรือ Financial Action Task Force: FATF ออกประกาศขึ้นบัญชีดำทางการเงินต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งประกาศดังกล่าวเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่กระทบกับผู้ประกอบการในเมียนมาอย่างจัง เพราะเกิดการกระทบกับระบบค่าเงินของเมียนมาในทันที
โดยอัตราแลกเปลี่ยนในวันหลังประกาศของ FATF ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนดิ่งจาก 75 จ๊าดต่อบาท เป็น 93-95 จ๊าดต่อบาท ก่อนที่อัตราแลกเปลี่ยนจะคืนกลับมาอยู่ที่ประมาณ 90 จ๊าดต่อบาทในช่วงค่ำ ซึ่งถือว่าการกระทบครั้งนี้เป็นการกระทบทางการเงินไม่ต่างกับช่วงก่อนที่มีเรื่องดอลลาร์ในเมียนมาขาดตลาดจนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งไปเป็น 100 จ๊าดต่อบาทมาแล้ว
แต่ก่อนอื่นรู้กันไหมว่า คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินสากล หรือ Financial Action Task Force: FATF เป็นใคร?
FATF เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล จัดตั้งขึ้นโดยที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7 ปัจจุบันมีสมาชิก 39 ราย มีเครือข่ายความร่วมมือ 9 แห่ง ในทุกภูมิภาคของโลก โดยปัจจุบันมีประเทศที่เป็นสมาชิก FATF 37 ประเทศ ได้แก่...
อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, บราซิล, แคนนาดา, จีน, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีช, ซาอุดีอาระเบีย, ฮ่องกง, ไอซ์แลนด์, อินเดีย, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ลักแซมเบิร์ก, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, โปรตุเกส, รัสเซีย, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, สเปน, สวีเดน, สวิสเซอร์แลนด์, ตุรเคีย, สหราชอาณาจักรอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศร่วมสังเกตการณ์ ส่วนไทยเรานั้นเพิ่งได้รับมติ ครม. เห็นชอบให้สมัครเข้าร่วม FATF เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา
ตามรายงานของ FATF ล่าสุดประกาศเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เมียนมาเป็นประเทศที่ติดอันดับประเทศที่ FATF เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกและประเทศอื่นๆ ใช้มาตรการตอบโต้ เช่นเดียวกันกับ เกาหลีเหนือ และ อิหร่าน ในขณะที่ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ติดระดับ 3 คือเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงอย่างใกล้ชิดโดย FATF
ในช่วงเวลาใกล้กันก่อนการประกาศของ FATF กองทหาร KNU/KNLA ร่วมกับ PDF ยกพลถล่มค่ายทหารเมียนมาบริเวณก๊อกกาเร็ก ซึ่งส่งผลให้การค้าชายแดนเงียบสงัด ซึ่งถ้าเรามองว่าเหตุการณ์การโจมตีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ FATF ประกาศก็พอจะมองได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาก็มีการทดสอบอาวุธของพวก PDF หลายที่ไม่ว่าจะในรัฐสะกายหรือที่ตรงเชิงเขาของพระธาตุอินทร์แขวนที่ทำให้ผู้แสวงบุญเสียชีวิตไปหลายคน
แต่ในขณะเดียวกันที่การค้าชายแดนกำลังจะดีขึ้นการรบและการประกาศของ FATF ก็คือตัวที่ทำการค้าชายแดนให้หยุดชะงักไปอย่างทันที จากจุดนี้จึงมองว่าเป็นการวางแผนจากประเทศตะวันตกในการจะทำลายเศรษฐกิจของเมียนมาที่กำลังจะฟื้นตัวหรือไม่
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าผู้อ่านจะชอบฝ่ายไหนก็ดี แต่สำหรับข่าวนี้ไม่ได้เป็นข่าวดีต่อคนเมียนมาและต่อผู้ค้าขายชายแดนทุกคน
ก็ต้องขึ้นกับคนเมียนมาและรวมถึงคนกะเหรี่ยงด้วยว่า จะหยุดได้หรือยัง เพราะคนรับกรรมก่อนใครไม่ใช่รัฐบาลทหารเมียนมา แต่เป็นคนกะเหรี่ยงและคนเมียนมา รวมถึงชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในเมียนมา ที่ต่างได้รับผลกระทบจากข้าวยากหมากแพงทั่วกันไปหมด ไม่ต่างกัน
เรื่อง: AYA IRRAWADEE