นโยบายศก.ล้มเหลว ชนวนเหตุนายกฯ อังกฤษลาออก บทเรียนราคาแพง ที่ไทยต้อง 'เรียนรู้-เฝ้าระวัง'

3 วันก่อน ผมได้แสดงความเห็นว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษท่าจะอยู่ยาก เพราะหนีความรับผิดชอบความผิดพลาดในนโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศออกไปไม่ได้ 

วันนี้นายกฯ อังกฤษได้ประกาศลาออกแล้ว! ไม่สามารถทนต่อกระแสความไม่พอใจทั้งในพรรค และในสังคมได้ หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งเพียง 45 วัน 

มองในมุมหนึ่งคือ ความเละเทะต่อเนื่องในการเมือง และเศรษฐกิจอังกฤษ นับแต่การลงคะแนน Brexit เมื่อ 6 ปีก่อน

แต่มองอีกมุมหนึ่ง อังกฤษยังมีวัฒนธรรมการเมืองที่ยืดหยุ่น และพร้อมปรับตัวต่อกระแสความรู้สึกของประชาชน

ประเทศไทยเรา ก็เคยมีการตัดสินใจลักษณะนี้เช่นกัน ตอน นายกฯ ชวลิต ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นกรณีเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ถือได้ว่าการเสียสละโดยผู้มีอำนาจ คือการให้โอกาสบ้านเมือง

มีคนขอให้อธิบายสั้น ๆ ว่า...นโยบายอะไรที่ Liz Truss ประกาศออกมาที่ทำให้ต้องลาออกหลังเป็นนายกฯ เพียง 45 วัน?

คำตอบคือ เธอได้ประกาศใช้เงินกู้ก้อนใหญ่ (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท) ในการชดเชยค่าพลังงานให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจของอังกฤษ เพื่อลดภาระจากค่าก๊าซที่แพงขึ้นจากสงครามยูเครน แต่ไม่เพียงเท่านั้น เธอได้ประกาศลดภาษีหลายชนิด (รวมถึงภาษีรายได้กลุ่มคนรวยที่สุดในประเทศ) ทำให้รายได้รัฐบาลลดลงถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี

เท่านั้นแหละครับ…เงินปอนด์ทรุดทันที และนักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างแรง ส่งผลกระทบทันทีต่อประชาชนที่มีหนี้สิน ซึ่งสำหรับอังกฤษนั้นกลุ่มที่อ่อนไหวที่สุด คือ ผู้กู้ยืมหนี้มาซื้อบ้าน ซึ่งภาระดอกเบี้ยของเขาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าทันที

ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนถึงขั้นวิกฤติจนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซงซื้อพันธบัตรรัฐบาลตัวเอง เพื่อป้องกันมิให้เหล่ากองทุนบริหารบำเหน็จบำนาญที่ถือพันธบัตรรัฐบาลต้องล้มละลาย

Liz Truss จึงโดน ส.ส.พรรคตนเองกดดันให้แสดงความรับผิดชอบ เพราะกระแสสังคมปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลอย่างแรง

เศรษฐกิจโลกเปราะบางมาก ทุกรัฐบาลต้องระมัดระวัง อังกฤษลืมตัวนึกว่ายังเป็นประเทศมหาอำนาจที่ออกนโยบายอะไรก็ได้ บทเรียนนี้ราคาแพง


เรื่อง: กรณ์ จาติกวณิช