แผ่นดินไหวขนาด 4 ที่เชียงใหม่ไม่เกินคาด เหตุรอยเลื่อนทางภาคเหนือยังมีพลังอยู่

(20 ต.ค. 65) กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานยืนยันสถานการณ์แผ่นดินไหวว่า เมื่อเวลา 04:36 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหว 4.1 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายอำเภอของ จ.เชียงใหม่ จ.แพร่ และ จ.ลำพูน โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลาง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันกำแพง อ.แม่ออน และ อ.สันทราย

นายนนทวัฒน์ วรรณา นายกเทศมนตรี ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้สำรวจความเสียหาย พบว่า ระบบน้ำประปาในหมู่บ้านและอาคารสูงในเขตเทศบาล ต.แม่คือ ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า รับรู้แรงสั่นสะเทือนมากกว่าทุกครั้ง และสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำในการปฐมพยาบาลแล้ว

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ นายปฏิญญา พรโสภิณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาแผ่นดินไหวและสึนามิ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดตอนนี้แค่รู้สึกสั่นไหว โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.สันกำแพง อ.เมือง อ.สามัคคี รอบๆ จุดศูนย์กลาง ส่วนในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง 

โดยแผ่นดินไหวในครั้งนี้เป็นขนาด 4.1 รัศมีการรู้สึกสั่นไหวประมาณ 20-30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งครอบคลุม 4-5 อำเภอโดยรอบจากจุดศูนย์กลาง คือ อ.ดอยสะเก็ด, อ.สันทราย, อ.สันกำแพง, อ.เมือง, อ.สามัคคี โดยสาเหตุที่เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้คือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า “แอ่งเชียงใหม่” ซึ่งล้อมรอบไปด้วยกลุ่มของรอยเลื่อนที่มีพลังที่เรียกว่า “รอยเลื่อนแม่ทา” อยู่ฝั่งทางซ้ายของ จ.เชียงใหม่ และฝั่งขวารอบ ๆ แอ่งเชียงใหม่ 

ส่วนสาเหตุที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 04:30 ที่ผ่านมา เกิดจาก รอยเลื่อนแม่ทา อยู่ใกล้ ๆ กับรอยเลื่อนย่อย ดอยสะเก็ด โดยบริเวณนี้เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวเล็ก ๆ อยู่ที่ขนาด 2-3 ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินไหวที่จ.เชียงใหม่นี้ ไม่ได้เกิดผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นลักษณะ Local Earthquake เป็นแผ่นดินไหวท้องถิ่น ทำให้ไม่กระทบออกไปไกล แต่หากเกิดผลกระทบออกไปไกล จะเป็นแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์

นายปฏิญญา กล่าวต่อว่า กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวอยู่รอบ ๆ อ.เมืองเชียงใหม่ สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวได้แบบ Real Time สามารถรู้ได้ทันทีและคำนวณได้ว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ไหน มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง สิ่งที่เราต้องรู้คือ รู้ว่าบริเวณไหนเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว โดย อ.ดอยสะเก็ด, อ.สันกำแพง, อ.สันทราย เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดแผ่นดินไหวอยู่แล้ว เพราะว่ามีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านและมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 

“สิ่งสำคัญเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น อันดับแรก บ้านเก่าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ต้องเสริมกำลัง บ้านที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ ต้องสร้างให้ได้มาตรฐานต้านทานแผ่นดินไหว ซึ่งมีกฎกระทรวงอยู่สำหรับอาคารที่จะสามารถต้านทานแผ่นดินไหว ซึ่งจ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย หากเกิดแผ่นดินไหวเมื่ออยู่ในอาคารให้ระลึกไว้ 3 คำ คือ Drop Cover Hold on คำว่า Drop คือ ก้มลงกับพื้น Cover คือ ป้องกันศีรษะ หรือมุดใต้โต๊ะ และคำว่า Hold On คือ รอจนการสั่นไหวหยุด แล้วค่อยออกจากอาคาร ไม่ตื่นตระหนกตกใจ” นายปฏิญญาแนะ

ขณะเดียวกันทีมข่าว THE STATES TIMES ยังได้พูดคุยกับ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา ถึงสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวด้วยว่า สาเหตุในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา ซึ่งเป็นกลุ่มรอยเลื่อนหนึ่งที่อยู่ทางภาคเหนือนั้น ยังไม่มีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด 4.1 แรงสั่นสะเทือนมีผลกับรัศมีที่แคบ คือใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ประมาณ 20 กิโลเมตรที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ส่วนพื้นที่ที่ไกลออกไปอาจจะรับรู้ได้เล็กน้อย แต่ไม่ถึงอันตรายใด ๆ แต่มีบ้านเก่าและอาคารเก่ามีฝ้าเพดานร้าว เพราะว่าอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว เนื่องจากบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับชุมชน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับผลกระทบบ้าง แต่สถานการณ์ล่าสุดยังปกติ 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลจะพบว่า กลุ่มรอยเลื่อนทางภาคเหนือมักทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดย่อมบ่อยครั้ง แต่ที่เป็นข่าวในครั้งนี้ เนื่องจากรับรู้แรงสั่นสะเทือนมาก และศูนย์กลางอยู่ใกล้ชุมชน ชาวบ้านรับรู้แรงสั่นสะเทือน ทำให้ออกมาเป็นข่าวทาง Social แต่ปกติแล้วแผ่นดินไหวที่พม่า ทางภาคเหนือ เชียงใหม่ แพร่ จะเกิดขึ้นทุกวัน แต่ขนาดไม่ถึงระดับ 4 อาจจะเกิดที่ 2-3 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะว่ารอยเลื่อนทางภาคเหนือเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ การเกิดแผ่นดินไหวตรงรอยเลื่อนที่มีพลัง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติเดียวที่เกิดขึ้นโดยไม่มีฤดูกาลและเกิดขึ้นทุกวัน 

“แผ่นดินไหวขนาด 4 ขึ้นไปทั่วโลกเกิดขึ้น 25-30 ครั้ง ประเทศไทยก็แผ่นดินไหวทุกวัน ขนาด 2-3 แต่เมื่อไม่มีผลกระทบ คนไม่รู้สึก บ้านไม่เสียหาย ก็ไม่ได้เป็นข่าว สำหรับการตรวจวัดแผ่นดินไหว สามารถตรวจวัดได้ทุกวันที่เกิดแผ่นดินไหว”

ส่วนวิธีรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดร.ไพบูลย์ นวลนิล กล่าวว่า หากเกิดแรงสั่นสะเทือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัย เพราะแผ่นดินไหวไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเมื่อไร แต่หากรับรู้แรงสั่นสะเทือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัย เช่น นอกอาคาร หากเป็นช่วงกลางคืน ฝ้าเพดานอาจหล่นลงได้ ให้อยู่ในบริเวณที่ฝ้าเพดานไม่หล่นลงมา ส่วนที่มีการสอนเด็กให้มุดใต้โต๊ะเพราะแต่ละบ้านโครงสร้างไม่เหมือนกัน บางบ้านอาจไม่มีโต๊ะ ควรอยู่ชิดกับกำแพงบ้าน เพราะว่าฝ้าเพดานบ้านจะได้ไม่ตกลงมาใส่ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติทั่วไป ส่วนแผนรับมือเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนงานดำเนินการเมื่อเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว เช่น การประกาศอพยพผู้คนมาอยู่ในที่ปลอดภัย การเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล มีมาตรฐานการปฏิบัติงาน ขั้นตอนทุกอย่าง มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการบัญชาการในเรื่องการรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะแผ่นดินไหว รวมถึงภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม หรือแม้แต่ดินถล่ม 

“แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย มันไหวมาตั้งแต่ 20-50 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ” ดร.ไพบูลย์ ทิ้งท้าย


เรื่อง: มณฑ์ภัสสร ประสิทธิสิน (แตน) Content editor